วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

CSR กับการลดคนงานเพื่อความอยู่รอด



โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ อดีตกรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานฯ

ใน ปัจจุบันสื่อวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ลงข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลด อัตราจ้างคนงานใน พ.ศ. 2552 และปัญหาการว่างงานของ นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 จากรายงานของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 พนักงานตามโรงงานถูกปลดออกจากงาน 70,000 คน และคาดว่าจะมีพนักงานที่ต้องถูกปลดออกอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า คนงานว่างงานในเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 เท่ากับ 450,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 520,000 คน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551

ประเทศ ไทยเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อ พ.ศ.2540 เมื่อเกิด "วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง" ที่เริ่มจากสถาบันการเงินของไทย พนักงานธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถูกลอยแพเป็นจำนวนมาก วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความโลภของผู้บริหารธุรกิจและ ของสถาบันการเงิน รวมทั้งองค์กรของรัฐที่ดำเนินกิจการอย่างไม่โปร่งใสหรือวางแผนและบริหาร กิจการไม่ดี แต่ผู้ที่ต้องรับกรรมคือพนักงานชั้นผู้น้อยขององค์กรที่ต้องถูกลดเงินเดือน หรือปลดออก เหตุผลที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นให้ในการปลดพนักงานออกก็คือ "เพื่อความอยู่รอดขององค์กร"

ในระยะนั้นมีองค์กรเป็นจำนวนมากที่ไม่ ได้ประสบปัญหาวิกฤตเลย เพราะเป็น องค์กรที่ไม่มีคู่แข่งและมีกำไร เพราะสถานะพิเศษของเขาไม่ใช่เพราะผู้บริหารเก่ง แต่เขาใช้โอกาสนั้นปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก "เพื่อความอยู่รอดขององค์กร" ทั้งๆ ที่ได้มีคนพยายามห้ามปรามไว้โดยแนะนำว่าระยะวิกฤตขณะนั้นไม่ใช่เวลาที่เหมาะ สม เพราะคนที่ถูกปลดออกไปก็จะหางานทำยากเนื่องจากคนว่างงานมากมายเหลือเกิน แถมคนที่จะถูกปลดออกเป็นคนที่มีอายุซึ่งหางานในระยะนั้นลำบากมาก เขายังได้รับความอับอายที่ถูกเลือกให้เป็นคนที่จะถูกปลดออก และยังสร้างภาระให้สังคมมากขึ้น สุดท้ายก็คือเขาเป็นคนที่มีความสามารถและเป็นผู้ที่ช่วยสร้างองค์กรนั้นให้ เติบโตขึ้นมา

ผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ corporate social responsibility (CSR) ควรที่จะคิดถึงประเด็นต่างๆ ที่ผมได้กล่าวถึง แต่น่าเสียดายว่าผู้บริหารไม่ได้เชื่อหรือเข้าใจว่า CSR คืออะไร ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่เห็นด้วยกับการปลดพนักงานออกในทุกๆ กรณี ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกแล้ว หรืออาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำจริงๆ แต่ผู้บริหารควรหาทางออกอื่นก่อน เช่น ลดโบนัสพนักงาน ลดเงินเดือน หรือลดโบนัสผู้บริหารระดับสูง ลดสินค้าคงคลัง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ผู้บริหารไม่ควรหลงอำนาจตัวเองจนเกินไป และมีความสุขกับการใช้อำนาจนั้น

ผม ขอเล่าถึงเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ชื่อ จิมมี่ เขาเป็นเศรษฐีและเป็น ผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อตอนที่เขาฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจ เขากลุ้มใจมากที่บริษัทของเขาขาดทุนมาก แต่เขาให้นโยบายแก่ ผู้บริหารของเขาไว้ชัดเจนว่า

1.ทางบริษัทจะไม่ยอมผิดนัดในการ ใช้หนี้และจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร เพราะเขาไม่ต้องการให้ชื่อเสียงบริษัทเขาเสีย

2.บริษัทจะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ปลด พนักงาน เพราะพวกเขาได้ช่วยสร้างบริษัทมาจนเป็นบริษัทที่รู้จักกันทั่วสิงคโปร์

เขาอาจมีนโยบายอื่นๆ แต่ผมต้องการเน้นเพียงสองข้อนี้

ผู้ บริหารของเขาทำทุกอย่างตั้งแต่การตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางระหว่าง ประเทศ เขาลดสินค้าคงคลังจนแทบไม่เหลือ ลดการลงทุนทุกประเภท เขาขอให้พนักงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา (บางคนมีสามีหรือภรรยาทำงานที่มีรายได้สูง) ในที่สุดผู้บริหารทั้งหมดนัดประชุมกับจิมมี่ ซึ่งทำให้จิมมี่คิดว่าหมดหนทางแล้ว คงจะต้องปิดบริษัทแน่ๆ พนักงานทุกคนก็ตกใจจึงมารอกันอยู่ที่หน้าประตูห้องประชุม

ในที่ ประชุมเพื่อนผมที่ชื่อ จอนนี่ (จิมมี่ จอนนี่ และผมเรียนปริญญาตรีด้วยกัน) เสนอรายงานว่าคณะกรรมการที่จิมมี่ตั้งขึ้นมามีความเห็นพ้องกันว่า วิธีเดียวที่บริษัทจะไปรอดโดยไม่ต้องปลดพนักงาน ก็คือการตัดเงินเดือนผู้บริหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ เนื่องจากจิมมี่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุด จิมมี่จะต้องถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด ในตอนนี้ พนักงานที่รออยู่นอกห้องประชุมไม่ได้ยินเสียงใดในที่ประชุมนอกจากเสียง หัวเราะ ดังลั่นของจิมมี่

เป็นอันว่าจิมมี่ตกลงกับข้อเสนอของคณะ กรรมการและเศรษฐกิจสิงคโปร์ก็ดีขึ้นตามลำดับจนบริษัทของจิมมี่ก็ดีวันดีคืน และเขาสามารถพาบริษัทของเขาฟันผ่าอุปสรรคมาได้โดยไม่ได้ละเมิดกฎ 2 ข้อที่เขาตั้งไว้

ผู้บริหารควรหาทางที่จะแก้ปัญหาของบริษัทโดยอย่า ใช้สูตรสำเร็จว่า "กำไรลด ให้ปลดพนักงาน" เพียงเพราะความไม่พร้อมที่จะเสียสละความสุขของตนแต่ ผู้เดียว เป็นเรื่องแปลกที่ท่านผู้บริหาร เหล่านั้นไม่คิดว่าการลดค่าใช้จ่ายโดยการลดเงินเดือน การลด

โบนัสอันมหาศาลของเขา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเขาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรเช่นเดียวกับเงินเดือนของพนักงานชั้นผู้น้อย

นี่แหละครับคือ corporate social responsibility ที่ผู้บริหารทุกคนควรจะมี

ผม ขอเสนอความคิดอีกอย่างหนึ่งว่าปัญหาคนตกงานจะแก้ได้ง่ายๆ นั้นไม่เป็นความจริง นายบารัก โอบามา นำเงินหลายแสนล้านเหรียญอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอเมริกาซึ่งชาวอเมริกัน ยังคาดว่ากว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะพ้นปัญหาได้ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจไทยถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาและจะแก้ปัญหาอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ภายใน 2-3 เดือน ที่หลายคนคาดหวัง การแก้ไขปัญหานี้จะต้องใช้เวลาเป็นปีเช่นเดียวกัน


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02190152&day=2009-01-19&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: