วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

SRI จับตา !!

SRI จับตา !! การมาถึงของการลงทุนที่รับผิดชอบในไทย


" ถ้ากระแสการตอบรับจากผู้บริโภคมีผลต่อการผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องดำเนิน ธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม นักลงทุน ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริม CSR ให้เกิดขึ้นได้จริงในภาพใหญ่ และเป็นการส่งเสริมให้บริษัทที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในการดำเนินธุรกิจ" ผศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี นักวิชาการ CSR จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อปัจจัยบวกต่อการขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR : corporate social responsibility) หากการลงทุนที่มีความ รับผิดชอบต่อสังคม (social reponsible investment) เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

จาก ความพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังของหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฯลฯ ในขณะนี้

ถ้า ดูแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกในวันนี้จะเห็นว่า กองทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (SRI fund) ที่คำนึงถึงการลงทุนในธุรกิจที่ใส่ใจต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ESG ของธุรกิจ ประกอบกับผลตอบแทนทางการเงินและความเสี่ยง กำลังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมาทัดเทียมกับการลงทุนในกระแสหลัก (mainstream) ที่คำนึงเพียงผลตอบแทนที่สูงที่สุด

SRI ทางเลือกการลงทุน

เฉพาะ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนใน SRI ที่ใหญ่ที่สุดนั้น ในระยะเวลาเพียง 10 ปี มีจำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นจาก 600 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ปี 2538 มาเป็น 2,300 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548

ศ. ดร.อัญญา ขันธวิทย์ ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาการเงินการธนาคาร จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพถึงการเติบโตของ SRI ไว้ระหว่างงานสัมมนา "ลงทุนดี มีสุขใจ ได้มูลค่า" ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "อัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่ลงทุนในสหรัฐอเมริกาถือเป็นการเติบโตที่เร็ว มาก แม้ว่าสมัยก่อนจะยังทำด้วยความสมัครใจและไม่มีรัฐบาลหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าใดนัก ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับทั้งทาง ตรงและทางอ้อมให้การลงทุนต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวด ล้อม ในเอเชียก็เริ่มมีประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ในไทยเองยังมีไม่มากนัก แต่ก็หวังว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน"



สำหรับ การเติบโตของกองทุนเหล่านี้ ไม่เพียงเกิดขึ้นเพราะนักลงทุนส่วนหนึ่งพึงพอใจต่อคุณค่าที่ได้รับจากการลง ทุนในธุรกิจที่จะสร้างผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ลงทุนที่เชื่อว่า การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมยัง ส่งผลถึงอัตราผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย

ลบข้อกังขาผลตอบแทนต่ำ

" จากการศึกษาของประเทศอื่นพบว่า การลงทุนใน SRI ไม่ได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในกระแสหลัก อย่างมีนัยสำคัญและบางครั้งผลตอบแทนนั้นเหนือกว่าด้วยซ้ำ เพราะ SRI ก็คือการลงทุนที่พิจารณาผลตอบแทนทางการเงินและความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลง ทุนตามปกติ แต่ใช้ปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงินในด้าน ESG พิจารณาประกอบ" ศ.ดร.อัญญากล่าว

และชี้ให้เห็นว่าจากการศึกษาเชิง ประจักษ์ของไทย ผ่านกรณีศึกษาจากการลงทุนของกองทุนรวมภายใต้หลักศาสนาอิสลาม หรือ "อิสลามิก ฟันด์" ซึ่งถือเป็น SRI รูปแบบหนึ่งที่มีความเข้มข้นมากกว่า SRI ปกติ เพราะยึดหลักศาสนาอิสลามมาเป็นข้อจำกัดในการไม่ลงทุนในกิจการบางประเภทเพิ่ม เติมด้วย เช่น ธุรกิจที่มีผลตอบแทนจากดอกเบี้ย ธุรกิจที่สร้าง ผลตอบแทนในระยะสั้นในลักษณะการเก็งกำไร ฯลฯ โดยศึกษาอัตราผลตอบแทน รายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544-พฤศจิกายน 2550 พบว่า "การลงทุนที่ใช้หลักการทำดีและยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของศาสนาอิสลาม ก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างจากการลงทุนในกระแสหลัก อย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากปรับค่าความเสี่ยงแล้ว กองทุนนี้ให้อัตราผลตอบแทนเกินกว่าค่าปกติประมาณ 1% ต่อเดือน หรือ 12% ต่อปี ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงข้อกังขาที่นักลงทุนหลายคนจะกังวลว่า การลงทุนในลักษณะนี้จะให้ผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนในแบบปกติ" ศ.ดร.อัญญากล่าวในที่สุด



ว่าด้วยหลักสากล UN PRI

ปัจจุบัน หลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบยังได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่สหประชาชาติ (United Nation) ได้เสนอหลักการการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (principles for responsible investment) ให้นักลงทุนสถาบันไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติด้วยความสมัครใจ

อาทิ การนำประเด็น ESG เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา วิเคราะห์ และตัดสินใจลงทุน

" สฤณี อาชวานันทกุล" นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า "ประเด็นสำคัญของ SRI fund ไม่เพียงแต่จะใช้ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวคัดกรองในการตัดสิน ใจลงทุน (investment criteria) เท่านั้น แต่ยังมีอีกหน้าที่สำคัญในการเคลื่อนไหวในฐานะผู้ถือหุ้น (shareholder activism) หากบริษัทที่ไปถือหุ้นอยู่ไม่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น เปิดโรงงานใหม่โดยไม่มีมาตรการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากและจะเป็นของจริงในการผลักดันให้บริษัท ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม"

ความท้าทายก้าวแรก SRI ไทย

สำหรับ ความเคลื่อนไหวในการผลักดันให้เกิด SRI fund ในไทยนั้น แม้ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นที่นักวิชาการอย่าง "สฤณี" และ "ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์" เห็นตรงกันก็คือ การจัดทำ SR index หรือเกณฑ์ในการกำหนดว่าบริษัทใดเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ต้องระมัดระวัง

เรื่องนี้ "ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์" กล่าวว่า "จุดที่อ่อนไหวมากก็คือวันนี้ เรามองว่า CSR หมายถึงอะไร ถ้าเรามองว่าบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเพียงการกำหนดสัดส่วนของ การบริจาค ก็จะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณาต้องอิงมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้แต่ละมาตรฐานมีจุดร่วมที่เหมือนกันในการดูแลความรับผิดชอบให้ครบ ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น OECD ISO 26000 ที่ดูตั้งแต่สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อลูกค้า เป็นต้น ถ้าไม่ระมัดระวังตรงจุดนี้ การผลักดันให้ SRI ก็จะไม่เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อน CSR"

ขณะที่ "สฤณี" เชื่อว่า "แนวทางในการสร้างเกณฑ์ของกองทุนที่มีความรับผิดชอบนั้นมี 2 แนวทาง 1.การสร้างโดยหน่วยงานที่กำกับดูแล SR index ซึ่งแนวทางนี้จะใช้ระยะเวลานาน และถ้าเราดูหน่วยงานอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต. ก็ยังไม่มีความเข้าใจ CSR ที่ชัดเจน ถ้าความรู้ของทางการไม่ดีพอ การกำหนดเกณฑ์เพื่อให้เกิด SRI ก็อาจจะไม่เกิดผล ที่สำคัญใช้ระยะเวลานาน 2.การให้กองทุนสร้างดัชนีกันเอง แต่ในขณะนี้ยังติดเกณฑ์ของทาง ก.ล.ต.ที่ทำให้กองทุนรวมไม่สามารถอ้างอิงกับดัชนีของตัวเอง นอกจากดัชนีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯรับรอง โดยหลักการสากล ก.ล.ต.ไม่ควรจำกัดขอบเขตของดัชนีของกองทุน แต่ควรมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุน เช่น สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำดัชนี แก้ไขเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ฯลฯ"

เส้น ทางของ SRI ในไทยจึงยังเต็มไปด้วยประเด็นที่ท้าทาย ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับฟัง เพราะไม่เช่นนั้น SRI ก็จะเป็นเพียงพลุที่ถูกจุดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นกลไกที่นำไปสู่การสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนของ CSR ในทิศทางอันจะเกิดประโยชน์กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้จริง !!


ทีี่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01190152&day=2009-01-19&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: