วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

ติดปีกความฝัน

ติดปีกความฝัน "ฮอนด้า" จาก "อาซิโม" ถึง "องค์กรของสังคม"


โดย วิไล อักขระสมชีพ


ถ้า ไม่ได้เป็นเพราะเชื่อในเรื่อง "การท้าทายตัวเอง" "โซอิชิโร ฮอนด้า" ผู้ก่อตั้ง "ฮอนด้า" คงไม่สามารถนำพาร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เล็กๆ ของเขา ให้ก้าวมาไกลในการเป็น แบรนด์ที่คนทั่วโลกยอมรับ ที่ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไปในกว่า 160 ประเทศ ทั่วโลก

และถ้า ไม่ได้เป็นเพราะวัฒนธรรมขององค์กร ที่ผูกติดอยู่กับ "การท้าทายตัวเอง" "ฮอนด้า" คงไม่ได้ก้าวพ้นการคิดแต่เพียงการเป็นเจ้าแห่งความเร็ว การเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี มาสู่วิสัยทัศน์ของ "ฮอนด้า" ในวันนี้ ในการเป็นองค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ เพราะเชื่อว่าการที่องค์กรจะก้าวเดินไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคตต้องได้รับการ ยอมรับจากสังคม

แม้ "อดิศักดิ์ โรหิตศุน" รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด จะบอกไว้ว่า "การดำรงอยู่ที่สำคัญคือเราต้องไม่ทำให้ตัวเองเป็นภาระของสังคม โดยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า การคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ"

ซึ่งถือเป็นแก่นของแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR)

เริ่มต้นด้วยการท้าทายตัวเอง

แต่ ความน่าสนใจอีกส่วนหนึ่งของ "ฮอนด้า" ยังอยู่ที่ความสามารถในการ เชื่อมโยง วัฒนธรรม "การท้าทายตัวเอง" ให้เข้ากับ เป้าหมาย "การเป็นองค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่" ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ประการ 1.การสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมสินค้าบริการให้กับสังคมทั้งที่เป็นลูกค้า และไม่ได้เป็นลูกค้า 2.รับรู้ถึงความแตกต่างในสังคมและพยายามแบ่งปันส่วนที่ดีของฮอนด้า นำไปร่วมกับสิ่งที่มีอยู่ในสังคมนั้น 3.สิ่งที่ทำต้องเป็นการแบ่งปันความสุขไปถึงคนรุ่นหลัง

ในการทำงานของโครงการ "ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์" การจัดประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทาง วิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา

ที่ หากดูเผินๆ ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินกิจกรรมเดินอยู่บนความเชื่อและความท้าทายที่ฝังอยู่ในองค์กร

ด้วย การนำ "อาซิโม" หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก ที่เวอร์ชั่นล่าสุดสามารถปฏิบัติตามคำสั่งมนุษย์ด้วยการเสิร์ฟกาแฟ ส่งเอกสาร เตะฟุตบอล ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่เกิดจากการท้าทาย ตัวเองของฮอนด้า มาแบ่งปันสู่สังคมในการเป็นทูตแห่งความฝันที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในระดับประถมศึกษา ผ่านโครงการ "ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์"

เยี่ยมบ้านอาซิโม

ระหว่าง การนำคณะสื่อมวลชนและผู้ได้รับรางวัลจากโครงการ "ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ ปีที่ 4" ไปเยือนบ้านเกิดอาซิโม ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อไม่นานมานี้ "อดิศักดิ์" เล่าวิธีคิดเบื้องหลังโครงการให้ฟังว่า "โครงการนี้จัดขึ้นทุกปีเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม CSR ของฮอนด้า ที่เปลี่ยนมุมมองของเด็กเยาวชนให้เห็นว่า เรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถมนุษย์ไปได้ โดยโครงการนี้จะดึงครูและเยาวชนจากโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สนใจเข้ามา อบรม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมครูและพ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดึงจินตนาการของเด็กๆ ที่มีอยู่สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ประยุกต์เข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งมาจะต้องสามารถเคลื่อนไหวและมีประโยชน์ต่อการดำเนิน ชีวิต เพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ ในอนาคตด้วย"

"โครงการนี้ เริ่มจากเด็กไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่พอฮอนด้านำ อาซิโมมาโชว์ที่เมืองไทย ทำให้เด็กๆ สนใจกันมากขึ้น และจุดประกายให้เด็กๆ รู้ว่า วิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็นของยาก แต่ไม่เกินความสามารถของมนุษย์ไปได้ อาซิโมจะดึงจินตนาการและความสามารถที่ซ่อนเร้นของเด็กๆ ออกมา และกล้าคิดกล้าแสดงออก"

และถ้าจะวัดความก้าวหน้าของโครงการ ในการจัดประกวดครั้งล่าสุด ได้รับความสนใจจากโรงเรียนและนักเรียนมากขึ้นกว่า 60% จาก 10,000 กว่าคนในปีแรก มาเป็น 50,000 กว่าคนในปี 2551 โดยเปิดวงกว้างออกไปสู่โรงเรียนในต่างจังหวัดมากขึ้น

ในเชิงคุณภาพ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเด็กๆ ที่ส่งเข้าประกวดนั้นมีคุณค่าและจินตนาการเกินกว่าจะเชื่อว่านี่เป็นเพียง ผลงานของเด็กชั้นประถม อาทิ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 "เรือดำน้ำขนส่งมวลชน" ของ ด.ช. รัชตะ ชาตบุตร (ภีม) ที่มีแรงบันดาลใจจากรถติดและเกิดอุบัติเหตุบ่อย ราคาน้ำมันแพง จึงเสนอเรือดำน้ำเป็นทางเลือกของประชาชนผ่านเส้นทางคลองต่างๆ โดยใช้พลังงาน ชีวมวลที่เรียกว่า "ไบโอแมส" ที่สามารถบำบัดน้ำเสียให้สะอาดไปด้วย

หรือผลงาน "บ้าน UFO ป้องกันภัยธรรมชาติ" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของ ด.ช.จิรัฏฐ์ บุญจูง (เจมส์) ที่เกิดจากแรงบันดาลใจจากเห็นภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย ทั้งสึนามิ พายุนาร์กีส น้ำท่วม ฯลฯ จึงคิดค้นบ้าน UFO ที่มีหลังคาเป็นระบบไฮดรอลิกสามารถหุบตัวอัตโนมัติ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น

จาก "โลคอล" ถึง "โกลบอล"

ใน การเดินทางครั้งนี้ เด็กๆ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ฮอนด้า มอเตอร์ โดยมี มร.โทชิยา โคบายาชิ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ให้การต้อนรับ และให้สัมภาษณ์ยืนยันถึงการเดินหน้าสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมว่า ยิ่งเศรษฐกิจถดถอยเวลานี้กระทบต่อภาคธุรกิจ แต่ฮอนด้าก็ไม่หยุดยั้งการทำ CSR กลับยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

เขา กล่าวด้วยว่า กลยุทธ์ CSR ของ "ฮอนด้า" จะคำนึงถึง 3 ส่วน คือ 1.เอาใจใส่สิ่งแวดล้อม 2.การดูแลองค์กรให้มีสถานะด้านการเงินที่ดี เพราะเป็นบริษัทมหาชน หากมีฐานะการเงินดีจะทำให้มี ผู้สนใจมาลงทุน จึงต้องคำนึงถึงทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนสังคม 3.การดูแลสังคม ไม่ใช่เพียงเอาเงินไปช่วยเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการ

ทรีตสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย หรือผู้หญิง ผู้ชาย จะต้องเคารพความเป็นมนุษย์

ขณะ ที่ "อดิศักดิ์" กล่าวเสริมว่า "สิ่งที่เราจะต้องรับผิดชอบหรือรักษาให้ได้ คือ ต้องคิดถึงเด็กหรือคนรุ่นหลัง สิ่งที่ฮอนด้าทำจะต้องไม่กระทบต่อเด็กหรือเยาวชนที่จะเติบโตในอนาคต รวมไปถึงต้องทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีอนาคตสดใสด้วย ฮอนด้าจึงใช้เครือข่ายทั่วโลกทำโครงการ "อาซิโม สไมล์ คอนเทสต์" ขึ้น สนับสนุนให้เด็กๆ มีเวทีคิดค้นหุ่นยนต์ หรืออย่างการส่งเสริมโรงเรียนให้มีความรู้ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้และทำต่อเนื่อง แม้บางอย่างช่วยธุรกิจดีหรือไม่ดี ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เสมอต้นเสมอปลายได้ แม้ฮอนด้าจะมีเครือข่ายเยอะ กิจกรรมแต่ละประเทศจะต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือมีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะเป้าหมายสร้างอนาคตเยาวชนซึ่งเป็นรากฐานของสังคมให้สดใส"

เพราะเมื่อสังคมดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ย่อมหมายถึงการดำรงอยู่ของ "ฮอนด้า" เช่นเดียวกัน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26/1/2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01260152&day=2009-01-26&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: