วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

"ต้นแบบชุมชนยั่งยืน"

3 ประโยชน์ "เจ้าสัวธนินท์" 30 ปี "ต้นแบบชุมชนยั่งยืน"


ถ้าพูด ถึง "แบรนด์ไทย" หรือ "องค์กรธุรกิจ" ไทยที่ก้าวไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ "ซี.พี." ธุรกิจเกษตรครบวงจร ที่มี "ธนินท์ เจียรวนนท์" เป็นผู้กุมบังเหียน

ถ้าได้ฟังปาฐกถาของเขา บ่อยครั้งที่จะได้ยินปรัชญาเบื้องหลังการทำธุรกิจของเครือ ซี.พี. ที่ว่าด้วยหลัก 3 ประโยชน์

เขา ย้ำเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อกล่าวปาฐกถา ในงาน "ฉลองครบรอบ 30 ปี หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร" ระหว่างลงพื้นที่ จ.กำแพงเพชร เมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา

"ซี.พี.มีคำพูดอยู่สามคำ คือ ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประโยชน์ และ ซี.พี.ได้ประโยชน์"

ปรัชญา นี้ไม่เพียงถูกถ่ายทอดลงมาสู่ทุกส่วนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือ กระทั่งวิธีคิดใน "การให้" กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม ก็เป็นเช่นนั้น

กว่า 30 ปีในการดำเนินโครงการ "หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร" ซึ่ง ซี.พี.เข้าไปร่วมมือกับส่วนราชการ อ.เมืองกำแพงเพชร ธนาคารกรุงเทพ สาขากำแพงเพชร โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักใน การสร้างชีวิตให้เกษตรกร ในการให้การช่วยเหลือประชาชนให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และมีโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยจัดสรรที่ดินเปล่ากว่า 6,000 ไร่ ใน ต.คณฑี และ ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ให้กับเกษตรกรกว่า 64 ครัวเรือนมาตั้งแต่ปี 2522 ในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกร

และการให้เงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและการเพาะปลูก ให้ความรู้เทคนิคและวิชาการสมัยใหม่ และให้การช่วยเหลือด้านการตลาด

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหัวใจหลัก ที่เจ้าสัวซี.พี.มองว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดได้จากการทำอาชีพเกษตร

อย่างที่เขาบอกว่า "ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส เกษตรกรไทยไม่ได้น้อยหน้ากว่าใครเลยหากแต่ขาดอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องความรู้เทคโนโลยีเรื่องการเพาะปลูก 2.ขาดทุนไม่มีเงินทุนพอที่จะก้าวไปสู่ชั้นวิชาการสูงแต่ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรเรียนรู้ไม่ได้ และสุดท้ายที่สำคัญคือขาดตลาด ถ้าเกษตรกรมีทุกอย่างพร้อมแต่ไม่มีตลาดรองรับก็จะมีความสำเร็จยาก ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะขายสินค้าให้ใครต้องมีจำนวนสม่ำเสมอไม่ใช่วันนี้มี พรุ่งนี้ไม่มีแล้ว ให้ผู้รับซื้อเที่ยวหาซื้อ ดังนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็จัดให้คนขายมาเจอกับผู้ซื้อ เรามารับความเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะเรามีทุนพอที่จะรับความเสี่ยงแต่เกษตรกรไม่มีทุนพอที่จะเสี่ยงเรา เหมือนเป็นคู่ชีวิต ต้องช่วยกันให้ก่อนได้ทีหลัง ตามหลักศาสนาพุทธแล้ววันหลังคุณค่อยเอามาคืน วันนี้เราต้องให้ก่อน ไปเอาก่อนไม่ได้"

โครงการนี้ยังเป็นการทดสอบแนวคิดการทำเกษตรแบบ ผสมผสาน เพื่อเพิ่ม รายได้ให้กับเกษตรกร โดยไม่ต้องเพิ่มราคาสินค้า ในแต่ละบ้านจะได้รับการจัดสรรที่ดิน 25 ไร่ โดยทำที่พักอาศัย โรงเรือน แม่พันธุ์สุกร 30 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว อุปกรณ์การเลี้ยง อาหารสัตว์ ยาป้องกันรักษาโรค และบ่อปลาอีก 1บ่อ โดยรายได้ หลักของสมาชิกจะมาจากการจ้างเลี้ยง โดยมีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาทต่อเดือน และรายได้เสริมจาการเลี้ยงปลา ปลูกผัก ฯลฯ อีกราว 60,000-70,000 บาทต่อปี

โครงการนี้ยังเป็นการทดสอบแนวคิดว่า เกษตรกรจะต้องมีการจัดรูปแบบองค์กรแบบเดียวกับองค์กรธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงในด้านราคาผลผลิตและรายได้ ด้วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความแน่นอนในการคืนเงินกู้ให้ กับสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาไม่เพียงจะเข้าไปให้ความรู้ด้านการเกษตรและการบริหารงานที่ครบวงจร ซี.พี.ยังเป็นผู้ค้ำประกันให้กับเกษตรกร ซึ่งกู้เงินมาทำโรงเรือนเลี้ยงสุกรจากธนาคารกรุงเทพ โดยหลังจากระยะเวลา 10 ปีหลังจากู้เงินและชำระเงินกู้คืนทั้งหมด เกษตรกรในโครงการจะได้รับกรรมสิทธิ์ ทั้งบ้านที่ดิน โรงเรือนและบ่อปลา

ทั้งยังเป็นการทดสอบแนวคิดที่ว่าเกษตรกรจำเป็นต้องมีความสามัคคี รวมตัวกันเพื่อลดต้นทุนการผลิตและต่อรอง

"ง้วง ศรีจันทร์" ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เล่าว่า

" เรามีทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมแต่จะมีการจัดสรรกันว่าใครจะทำตอนไหน เพราะทำพร้อมกันไม่ได้ไม่อย่างนั้นสินค้าจะล้นตลาด เราประสานงานเรื่องประสิทธิภาพโต้แย้งไม่ให้เหลื่อมล้ำอะไรกัน ดำเนินการตามกติกาที่วางไว้ ลูกบ้านทุกคนรู้หน้าที่ว่าต้องแข่งกับตัวเอง คอยให้มีความสามัคคี ความร่วมมือ ที่นี่ไม่มีทั้งอาชญากรรมและยาเสพย์ติด"

นี่จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ของการช่วยเหลือสังคมอย่างมีประสิทธิผล ที่มีเวลา ความทุ่มเท และความต่อเนื่อง เป็นคำตอบ !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 มกราคม 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03050152&day=2009-01-05&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: