วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เปลี่ยนผ่านกลาง "วิกฤต"

เปลี่ยนผ่านกลาง "วิกฤต" จับตาทิศทางใหม่ CSR ในเวอร์ชั่น 2.0


ชื่อ ของ "ดร.เวย์น วิสเซอร์" อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก เมื่อเทียบกับชื่อชั้น กูรูด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility) หลายต่อหลายคน แต่สำหรับในฝั่งยุโรปแล้วเขาถือเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่อง CSR มากที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงเขาจะเป็นคนแรกที่จบปริญญาเอกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบันยังเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และพ่วงตำแหน่ง "ซีอีโอ" ของสถาบัน "CSR International"

เขา ยังเป็นคนแรกที่พยายามรวบรวมความหมายของ CSR ผ่านพ็อกเกตบุ๊ก CSR ที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "The A to Z of Corporate Social Responsibility"

7 พฤษจิกายนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ ดร.เวย์นเดินทางมาบรรยายพิเศษในไทย บนเวที "Best Practice Forum ของ KTC" และนี่คือบางบทตอนของการบรรยาย และให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึง "ทิศทางและแนวโน้ม CSR ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก"

เขาเริ่มต้น โดยการฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง "วิกฤตการณ์ทางการเงิน" กับ "แนวคิด CSR" ว่า "ขนาดของวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ใหญ่กว่าในอดีต และมากกว่าเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่เคยเกิดในปี 1930 ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งในครั้งนี้เชื่อว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวที่ไม่แตก ต่างกันมากนัก"

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตนั้น เกิดขึ้นจากการดำเนินการของตลาดทุนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ปล่อยให้มีการเกิดระบบเศรษฐกิจแบบกาสิโน ซึ่งจอห์น เมนาร์ด เคน เคยเตือนไว้ตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีก่อน ขณะเดียวกันเกิดจากความไม่รับผิดชอบของบริษัท รวมไปถึงความ ไม่รับผิดชอบของผู้บริหาร"

ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม ที่เอื้อและเปิดช่องทางให้คนเข้าไปแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่ได้คำนึงถึงความ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเลย

วิกฤตจะทำให้ CSR แข็งแกร่งขึ้น

เมื่อ สาเหตุของวิกฤตครั้งนี้มาจากความไม่รับผิดชอบ จึงไม่แปลกที่เขาจะเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้ CSR ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะหากดูผลสำรวจเครือข่าย CSR ทางออนไลน์ของ CSR International Blog Poll เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กว่า 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า "วิกฤตครั้งนี้จะยิ่งทำให้ CSR แข็งแกร่งมากขึ้น" (อ่าน รายละเอียดเพิ่มเติมในล้อมกรอบ)

แม้ในส่วน หนึ่งของผลสำรวจอาจจะมีข้อจำกัดบ้างในแง่ของอคติ เนื่องจากผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นคนในแวดวง CSR ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้บวกกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญหน้า ล้วนแล้วแต่จะทำให้ CSR เปลี่ยนแปลงไป !!

เป็นการเปลี่ยนแปลงสู่ ทิศทางใหม่ของ CSR ซึ่งปรับเปลี่ยนจาก CSR 1.0 ที่ย่อมาจาก corporate social responsibility ที่เรารู้จักมักคุ้นกันดีมาสู่เวอร์ชั่นใหม่ CSR 2.0 ที่ย่อมาจาก corporate sustainability and responsibility

"วิ สเซอร์" ได้ให้คำจำกัดความของ CSR 2.0 ไว้ว่า ถือเป็นวิวัฒนาการของ CSR 1.0 (CSR แบบเดิม อาทิ เน้นเพียงการบริจาค) มาเป็นการรวบความคิดในการดำเนินธุรกิจโดยบูรณาการเรื่องความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านความรับผิดชอบด้านการเงิน แรงงาน ชุมชนและจริยธรรม

7 ทิศทางที่เปลี่ยนไป

เขา เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหยิบยกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในรายประเด็น จาก CSR 1.0 ไปสู่ CSR 2.0 ว่าเริ่มต้นจาก 1.จะเกิดการปรับเปลี่ยนแนวความคิดของการให้ จากที่บริษัทส่วนใหญ่มักจะมองในเรื่องของการให้ ในรูปแบบของการบริจาคและการให้เปล่า มาสู่การทำงานร่วมกันในลักษณะพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างองค์กร 2.การปรับเปลี่ยนจากการทำ CSR เพื่อป้องกันความเสี่ยงในธุรกิจ ไปเป็นการทำ CSR ในมิติใหม่ที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กรของตัวเอง 3.การเปลี่ยนจากการทำ CSR ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ไปสู่การทำ CSR เพื่อสร้างผลงานมากขึ้น 4.การปรับเปลี่ยนจากการกำหนดเป็นแผนกและฝ่ายที่ดูแลเรื่อง CSR โดยเฉพาะมาเป็นการทำให้ CSR บูรณาการอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจของทั้งองค์กร 5.การปรับเปลี่ยนในภาพใหญ่ขึ้นจากการที่ CSR กำลังกลายเป็นมาตรฐานสากลระดับนานาชาติไปสู่การที่แต่ละประเทศมีวิธีปฏิบัติ และมีแนวทางเป็นของตัวเองที่จะเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ มากที่สุด 6.การเปลี่ยนแปลงของ CSR จากที่เคยอยู่ในกลุ่มเล็กๆ มาเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เช่น การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ของ "ทาทา มอเตอร์" ที่ผลิตรถยนต์ได้ในราคาที่ถูกมากเพียง 6-8 หมื่นบาท ซึ่งการค้นพบเล็กๆ กลับสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก และสุดท้ายในทิศทางที่ 7 CSR จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดของฝั่งตะวันตก มาสู่การเป็นแนวคิดของโลกซึ่งมีความแตกต่างกันในระดับประเทศ

"สาเหตุ ที่ผมเชื่อว่า CSR จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ภายใน 5-10 ปี และตอนนี้ก็ค่อยๆ มีการเริ่มต้นเปลี่ยน ดังที่เราได้เห็นวิวัฒนาการของทั้ง 2 สิ่งที่ผ่านมาคือ วิวัฒนาการของความรับผิดชอบที่เติบโตมาควบคู่กับวิวัฒนาการของความยั่งยืน และคิดว่าทั้ง 2 นี้เกี่ยวเนื่องกัน เวลาคนพูดถึง CSR เราจึงไม่ได้หมายความแค่ความรับผิดชอบต่อสังคมที่คนมักคิดถึงการทำความดี แต่หมายถึงความยั่งยืนด้วย"

"คนทั่วไปอาจจะมองว่าความยั่งยืนเป็น เพียงองค์ประกอบหนึ่งของ CSR แต่ถ้าคุณมองในโมเดล CSR 2.0 จะเห็นได้ว่า CSR ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม มนุษย์ การเงิน และสังคม ผมว่าเราอาจจะไม่ต้องสนใจว่าจะเรียกว่าอย่างไร แต่ควรจะสนใจว่า CSR ที่ทำอยู่มีองค์ประกอบเหล่านี้หรือไม่" วิสเซอร์กล่าว

CSR แบบประเทศกำลังพัฒนา

อย่าง ไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ CSR ในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงไทย หากดูถึงความแตกต่างกับภูมิภาคต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างที่ห่างกันมาก โดยเฉพาะในยุโรปกับประเทศกำลังพัฒนายังมีค่าเฉลี่ยในการทำ CSR ซึ่งถ้าวัดจากผลสำรวจตลาดเกิดใหม่เมื่อ 2 ปีก่อนในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม คุณธรรมและจริยธรรม การบริหารบุคคลและสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่ายุโรปนั้นมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับ 6.3 ขณะที่ตลาดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนามีคะแนนรวมอยู่ที่เพียง 3.8 โดยส่วนที่มีคะแนนสูงจะอยู่ที่กิจกรรมเพื่อสังคมและการบริจาค โดยให้ความสำคัญน้อยในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และสิ่งแวดล้อม

ฉะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนถึงฐานคิดที่แตกต่างกัน โดยถ้าดูจากโมเดล ฐานสามเหลี่ยม CSR จะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญจากมากไปน้อยในเรื่องเศรษฐกิจ การปฏิบัติตามกฎหมาย แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม ตามมาด้วยการบริจาค ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการบริจาค ก่อนที่จะมองในเรื่องจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎหมายเป็น เรื่องสุดท้าย

"จะเห็นได้ว่าสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็น CSR ในระดับบูรณาการไปกับองค์กรมากกว่า จะเห็นพนักงานด้าน CSR น้อยมาก ส่วนใหญ่อาจจะมีที่ปรึกษาในระดับนโยบาย แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์จริง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกร้อน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนมากกว่า แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ยังเพิ่งมีการหาผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR การตั้งแผนก และมีที่ปรึกษาด้านนี้ของบริษัท เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังพยายามตามกระแสให้ทัน และคิดว่าคงยังต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างน้อยอีก 2-3 ปี"

แนะทางรอดผ่านวิกฤต

เขา ยังให้คำแนะนำกับองค์กรที่ทำ CSR ว่า "การสร้าง CSR แบบบูรณาการต้องเริ่มจากระบบการบริหารคน โครงสร้างของบริษัท โดยจะต้องมีการประเมินว่าพนักงานในส่วนต่างๆ ในองค์กรมีส่วนต่อ CSR หรือไม่ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดก็ต้องประเมินถึงผลกระทบของแผนการตลาดที่มีต่อสิ่ง แวดล้อมและชุมชน"

อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น SMEs ในประเทศกำลังพัฒนา น่าจะได้รับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากการหันมาให้ความสำคัญ CSR ของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องลงลึกถึงซัพพลายเชนทั้งหมด

เขาจึงเตือน ว่า "ในสถานการณ์วิกฤต คงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าบริษัทจะทำเพียงกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ควรทำอย่างมีกลยุทธ์ โดยต้องบูรณาการเข้าไปในทุกส่วนของธุรกิจ"

เพราะความรับผิดชอบเช่น ที่ว่านี้จะช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต พร้อมๆ ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายนอก และควรให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับการสร้างความโปร่งใสและการสร้างความน่า เชื่อถือ การดำเนินการด้าน CSR เช่นนี้จึงจะช่วยให้บริษัทก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ในที่สุด !!

ทีีมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01171151&day=2008-11-17&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: