วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

CSR กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ


พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า
ณ วันนี้ ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผล ทั่วโลก การลดลงของมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ด้านเกษตร สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิชาการ นักการเงิน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ต่างพูดว่าพายุทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจถดถอย กำลังจะเข้า จะแรงเท่า หรือแรงกว่า คลื่นสึนามิ หรือสตอร์มเซิร์จหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน

สถานการณ์นี้ทำให้ผมคิดถึงตอนวิกฤตการณ์เมื่อปี 2540 ที่ได้รับสมญาว่า วิกฤตการณ์ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งเริ่มจากประเทศไทยนี้เอง ผลกระทบของวิกฤตการณ์ครั้งนั้นรุนแรงมาก เราได้เห็นเจ้าของกิจการหลายคนที่เผชิญวิกฤตชีวิตต้องเปลี่ยนอาชีพ เริ่มต้นใหม่ในธุรกิจพื้นฐาน บางคนทนต่อความกดดันไม่ได้ ตัดสินใจทำลายชีวิตตัวเอง แต่ผลกระทบที่เรามองเห็นไม่ชัดนักแต่มีความรุนแรงไม่แพ้นักธุรกิจ คือผลต่อภาคประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

คำถามที่สำคัญคือ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจจะส่งผลอย่างไร ต่อความพยายามของบริษัทต่างๆ ในการทำให้เกิด CSR ?

ตรง นี้หากพิจารณาคำว่า CSR ที่ตรงกับชื่อเต็มภาษาอักฤษ ว่า corporate social responsibility หรือ "ความรับผิดชอบ" ต่อสังคม ต้องพิจารณาว่า ความรับผิดชอบนั้น มิได้หายไปในช่วงที่มีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และความรับผิดชอบนั้นอาจจะ ยิ่งสูงกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำไป

ความรับผิดชอบนั้นยังต้องคงมีอยู่ต่อ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคมโดยกว้าง

ซึ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจดี การตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholder กลุ่มต่างๆ อาศัยยุทธศาสตร์ และความสามาถของทั้งฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีความยากลำบากอะไร เพราะบริษัทมีรายได้สม่ำเสมอ มีผลกำไรที่พอเพียงต่อการให้ความสนใจในการพัฒนาคุณภาพภายใน และทำงานเพื่อสังคมภายนอก

แต่ในยามที่เกิดวิกฤตเศษฐกิจ ความสามารถด้านการเงินของบริษัทอาจจะลดลง ผลกระทบต้องทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่าย และตัดกิจกรรมพิเศษออกไป ดังนั้น CSR จะถูกตัดไปด้วยไหม

หากเราพิจารณาคำว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ตามคำพูดที่ใช้ "ความรับผิดชอบ" ไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ความรับผิดชอบย่อมจะต้องติดตัว มีอยู่ต่อทุกสถานการณ์ ความรับผิดชอบหลายอย่างจะเหมือนเดิมไม่ว่าจะมีวิกฤตการณ์อย่างไรก็ต้องรักษา ไว้ซึ่งความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคม

หากเรา ลดมาตรฐานคุณภาพสินค้า บริการ หรือ พยายามหาทางลัดต่างๆ ในการลดต้นทุน ในที่สุดผลการกระทำนั้น จะทำให้ธุรกิจเสื่อมโทรมและไปไม่รอด ดังนั้นมาตรฐานควรต้องรักษา หรือลดสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้าจริง

ประเด็นที่ควรพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่บริษัทยังสามารถช่วยเหลือสังคมภายนอก งานช่วยเหลือสังคมนั้นน่าจะทำในเรื่องอะไรบ้าง

ใน ด้านของการช่วยเหลือสังคมช่วงวิกฤต ระดับการช่วยเหลือสังคมของแต่ละบริษัทอาจจะลดลง แต่ไม่ควรหายไป ในทางกลับกันจำนวนบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือสังคมจำต้องมากขึ้น แสดงพลังความร่วมมือของภาคธรุกิจ ต่อความจำเป็นเพื่อช่วยกันฟื้นฟูสังคม หากสังคมเปราะบางจากผลวิกฤตการณ์ คนว่างงานจำนวนมาก ก็จะส่งผลต่อภาคธุรกิจให้ยิ่งทรุดหนักไปอีก

ในช่วงวิกฤตการณ์น่าจะ เป็นการเลือกประเด็นที่นำส่งผลรายได้ และพยุงสังคมรากหญ้า การช่วยเหลือสังคมในช่วงนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การ ส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มการจ้างงานในภาคชนบท การส่งเสริมเยาวชนที่กำลังจบการศึกษาท่ามกลางวิกฤตให้มีทางเลือกด้านอาชีพใน ท้องถิ่นตนเอง การทำงานส่งเสริมอาชีพอาจจะทำในรูปแบบการช่วยเหลือ หรือกองทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุนนี้บริษัทแต่ละบริษัทอาจจะไม่ต้องช่วยเหลือด้วยเงินใหญ่โตอะไรมาก นัก แต่หากหลายๆ บริษัทช่วยกันในทิศทางยุทธศาสตร์เดียวกัน ผลที่เกิดก็สามารถที่จะช่วยครอบครัวได้จำนวนมากมาย และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจพื้นฐานให้รักษาตัวเองได้

มูลนิธิรักษ์ไทย ยินดีให้คำปรึกษาหารือ แก่บริษัทที่มีความสนใจในเรื่องนี้
ที่ โทร.0-2265-6888 หรือ promboon@raksthai.org

ทีมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03171151&day=2008-11-17&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: