วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ผ่ามุมคิด "บรรยง พงษ์พานิช"

ผ่ามุมคิด "บรรยง พงษ์พานิช" CSR ฉบับทุนนิยม "เราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเ_ ี้ย"

แม้ ใครหลายคนในสังคมโลกจะ วิพากษ์การเกิดขึ้นของนานาวิกฤตในปัจจุบัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่าเกิดขึ้นจากการเดินทางตามเส้นทาง "ทุนนิยม" แบบสุดขั้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของแนวคิดที่เป็นกระแสหลักใน วันนี้

แต่สำหรับ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารในธุรกิจที่เขาเองก็ยอมรับว่าเป็นกลไกทุนนิยมแบบเต็มตัวนั้น กลับมองว่านี่ไม่ใช่อวสานของทุนนิยม

"อุดมการณ์ของทุนนิยมที่ดีก็มี เราต้องแยกให้ออก แต่สิ่งที่เราเจอคือคนเอาอุดมการณ์อันนี้มาบิดเบือน ทำให้เห็นแต่ภาพที่ชั่วร้ายของมัน แต่เราไปเหมารวมเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกก็เป็นกระบวนการที่จะแก้ไขปรับปรุงความหลงผิดและทุน นิยมจะเดินต่อ"

หนึ่งในกระบวนการของการแก้ไขความผิดพลาดที่ว่านั้น คือ แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

แม้ จะออกตัวว่าไม่เคยอ่านทฤษฎีและตำรา CSR ของทั้ง ฟิลิป คอตเลอร์ และไมเคิล อี. พอตเตอร์ มาก่อน แต่มุมมองที่มีต่อ CSR ของเขาน่าสนใจยิ่ง

"ผมมาจากธุรกิจที่ทำเพื่อกำไร อยากจะแปลซีเอสอาร์ตรงตัวมากกว่า คือการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม"

" ผมทำทุกอย่างเพื่อกำไร สาบานได้ ไม่โกหกตอแหล แต่ผมมั่นใจว่าผมจะทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม และคติที่ผมใช้ที่บริษัทและใช้งานได้ดีคือ พวกเราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเ_ ี้ย"

"ความรับผิดชอบจึงต้องเริ่มจากการทำธุรกิจ แต่ให้แน่ใจว่าวิถีที่เราทำไม่เป็นภัยต่อสังคม และจะดีกว่านั้นถ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม"

" ไม่จำเป็นว่าคนหากำไรต้องชั่วร้ายเสมอไป จริงๆ แล้วกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ถ้ามองให้ดีองค์ประกอบโดยรวมของมันเป็นการหากำไรเข้าตนเอง แต่ถ้าทำตามกฎกติกามารยาทที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อันนี้คือแก่นของการทำ CSR"

"ผมประกอบธุรกิจหลักๆ เกี่ยวกับเงินทอง บางคนบอกว่าเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว เอาแต่ประโยชน์ เกิดวิกฤตก็ไม่รับผลกระทบอะไร อย่างการเล่นหุ้นในตลาด หลักทรัพย์ฯ คนก็บอกว่าเป็นเรื่องของคนรวย ไม่เห็นทำประโยชน์ให้กับใคร ไม่รู้จักแบ่งปัน แต่ถ้าดูจริงๆ จะเห็นว่าตลาดทุนมันมีหน้าที่ ทุนคือการรวบรวม จัดสรร ทรัพยากรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้งานทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ฉะนั้นตลาดทุนที่ดีก็จะทำให้ประเทศเกิดประโยชน์ มีทรัพยากรมาลงทุนได้ จัดสรรทรัพยากรให้กับคนที่มีคุณภาพมาใช้ เมื่อมีการลงทุนก็เกิดการว่าจ้างแรงงาน มีการแข่งขันของผู้บริโภคมีประโยชน์ต่อคนทั่วไป ไม่มีการโกงยักยอกโกหก นั่นคือตลาดทุน ถามว่าตลาดทุนไทยดีอย่างนั้นหรือยัง ยัง แต่ก็ส่วนที่ดีอยู่ไม่น้อย ฉะนั้นเวลาผมทำธุรกิจ ผมเลือกทำธุรกิจในส่วนที่คิดว่าดี"

"ผมทำธุรกิจให้บริการสถาบัน ให้กับองค์กรใหญ่ๆ ลูกค้าธรรมดาของผมต้องมีเงินเกิน 50 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นกับลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี หรือรายย่อย แต่อันนี้อยู่ในวิสัยที่เราทำได้และถนัด ส่วนอื่นๆ ก็ให้คนอื่นทำ ผมไม่มีกำลังที่จะทำได้ทุกอย่างหรือเปลี่ยนโลกได้ แต่นำเงินของคนที่มี 50 ล้านบาทที่นั่งทับอยู่ไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือหน้าที่"

ส่วนพระรองของ CSR คือ การคืนกำไรให้สังคม

" มีการถกเถียงว่าองค์กรควรบริจาคหรือไม่ ทฤษฎีที่ขวาสุดบอกว่าไม่ควร เพราะคุณมีหน้าที่ทำตามความถนัดและความสามารถของคุณ ได้เท่าไหร่ก็จ่าย ผู้ถือหุ้นไปทำเอง ทำไมต้องทำเพราะความถนัดคุณไม่ใช่การบริจาค ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อชื่อเสียงแต่เป็นเงินบริษัท ทฤษฎีนี้ก็มีเหตุผล อย่างมูลนิธิบิลล์ แอนด์เมลินดา เกตส์ ไม่มีเงินจากไมโครซอฟท์เลย คอนเซ็ปต์นี้ก็คือใครถนัดอะไร ทำอย่างนั้น"

"ทฤษฎีที่สอง บอกว่าการบริจาคองค์กรให้สังคมมีเหตุผล 2 ข้อ เหตุผลที่ 1 การที่เรารวบรวมเงินไปทำมันเห็นผลมากกว่าผู้ถือหุ้นต่างคนต่างทำ อย่างที่ 2 ทำแล้วหักภาษีได้ เพราะส่วนที่ให้รัฐบาลถ้าไม่ไปบริจาค เราก็ต้องให้กับรัฐบาล ให้ไปแล้วก็โกง เราก็รู้อยู่ เราบริจาคให้กับเอ็นจีโอไปเลย เพราะเขาไม่โกง โดย 2 เหตุผลนี้ก็ควรบริจาคเท่าที่รัฐบาลยอมให้เราหักภาษี"

"ทฤษฎีที่ 3 บอกว่าการบริจาคไม่ใช่เพื่อสังคมอย่างเดียว แต่เพื่อตัวเราเองด้วย แต่ต้องระวังแยกให้ออกระหว่างชื่อเสียงของคนกับชื่อเสียงของแบรนด์ ผมเคยต้องนั่งเถียงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทกลั่นน้ำมัน แห่งหนึ่งที่เอาเงินทั้งหมดไปให้กับสังคม ซึ่งมากเกินไป แทนที่จะเอาเงินไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น คุณทำเพื่อตัวคุณ เพื่อวิถีทางการเมืองหรือเปล่า" บรรยงตั้งคำถามและยกตัวอย่างสิ่งที่เขาทำว่า

"ที่บริษัทผมแต่ละปี เราบริจาคใช้ในโครงการเพื่อสังคมปีละ 10 ล้านบาท และ ปีใดที่มีกำไรมากก็จะเพิ่มเป็น 20-30 ล้านบาท ผมทำงานกับผู้ถือหุ้นจะเอาเงินมาใช้มากไม่ได้ ต้องมีเหตุผล เอาฐานมาจากไหนไม่รู้ แค่เห็นว่าเหมาะสม แต่เราจะทำโดยไม่มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ ให้การศึกษา ช่วยเด็กชายของ พาเด็กโรงเรียน ต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ พามาดูวัด พระแก้ว พระบรมมหาราชวัง มิวเซียมสยาม เราช่วยคนพิการออกไปตั้งห้องสมุดทั้งหมด 20 กว่าแห่ง และมีการตั้ง แชริตี้คอมมิตตี (charity committee) ขึ้นมา มีพนักงานเป็นประธาน มีหน้าที่บริหารงบฯ 10 ล้านบาทต่อปี มีการวัดผล ข้อดีก็คือพนักงานได้มีส่วนร่วม"

"ในโลกความจริงไม่มีอะไรที่ชั่ว หรือดีสุดโต่ง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ก็ไม่ได้ทำร้ายสังคม" เขากล่าวในที่สุด และนี่เป็นบางบทตอนของคำตอบที่ในฐานะของคนที่ยังเชื่อมั่นในทุนนิยมกระแส หลัก ต่อคำถามที่ว่า CSR จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร !!

ส่วนหนึ่งจาก งานเสวนาใน หัวข้อ Beyond CSR towards Sustainability "บริจาค...กิจกรรมเพื่อสังคม CSR : เครื่องมือพัฒนาที่ยั่งยืน ฤๅไฉน" ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายเดอะเน็ตเวิร์กเมื่อไม่นานมานี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: