วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Survive !!! อยู่รอดให้ได้ในภาวะวิกฤต



แม้ ตอนนี้จะหันหน้าไปทางไหนในแวดวง ขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) ความกังวลของคนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น คือ การตัดลดงบประมาณด้าน CSR

แต่ในมุมของผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงนี้มายาว นาน อย่าง "อเล็กซ์ มาโวร"ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท โซเชียล อิมแพ็ค เวนเจอร์ เอเชีย จำกัด บริษัทที่ปรึกษา CSR รายแรกในไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน กลับมองว่า ยิ่งลดงบประมาณ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี สำหรับองค์กรและผู้ที่มีส่วน ขับเคลื่อน CSR ภายในองค์กร

ความที่เขาเคยเป็นอดีตเจ้าของธุรกิจมากว่า 30 ปี ก่อนที่จะวางมือและหันมาเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติอย่าง "ทีเอ็นที" การมีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ในไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปคลุกวงในกับบริษัทที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษากว่า 20 องค์กร ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดเล็ก บริษัทข้ามชาติ และบริษัทสัญชาติไทยแท้ๆ ในฐานะที่ปรึกษา CSR จนปัจจุบัน

ประสบการณ์และสิ่งที่เขาพบเจอจึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่านี้

และนี่คือเหตุผล !!

เขา อธิบายว่า "มีคนบอกว่าแย่แล้ว สถานการณ์วันนี้บริษัทจะต้องตัดงบฯโครงการ CSR ผมบอกเลยว่าดี ถ้าตัดได้ก็ควรตัด เพราะ CSR เป็นสิ่งที่อยู่ในเส้นเลือด อยู่ในดีเอ็นเอองค์กร ตัดออกไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ตัดได้นั่นคือสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่ใช่ อะไรตัดได้ก็ตัดไป แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมานั่งคิดใหม่ว่า วิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ของบริษัทอยู่ตรงไหน และใครคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakholders) และหารือกันว่าจะปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อความอยู่รอดขององค์กร"

วิกฤต ในวันนี้จึงเป็น โอกาสทอง ที่เป็นการบังคับให้บริษัทต้อง "ปรับตัว" และเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น เพราะในภาวะวิกฤตบริษัทจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อการอยู่รอด ต้องปรับปรุงการดำเนินงานภายในองค์กรใหม่ ฉะนั้นอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เขาก็เชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้จะได้เห็นการจัดระบบ CSR ภายในองค์กร

"ในเวลาที่ไม่ เกิดเหตุการณ์วิกฤต บริษัทก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ จะไม่พยายามศึกษาและปรับปรุงภายใน แต่เวลาแบบนี้เขาจึงต้องกลับมาคิดใหม่ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเดินมาถูกทิศทางหรือไม่ สิ่งที่เราจะเห็นจากนี้ก็คือบริษัทอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังได้จัดระบบ CSR ภายในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะออกนโยบาย CSR โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะออกนโยบาย CSR เพียงแต่สิ่งที่เขาทำมันใช่ เพราะว่าเขากำลังจะเอาตัวรอด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างผลงานที่ดี การดูแลและพัฒนาพนักงานไปในทิศทางที่ยั่งยืนขึ้น"

" ถ้าดู CSR ตัว S วันนี้อาจจะไม่ได้หมายถึง social แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ S อาจหมายถึง survive เพราะ CSR ก็คือ การ บริหารจัดการที่ดีที่จะทำให้องค์กรปรับตัว อยู่รอด และแข่งขันได้ในระยะอีก 10-20 ปีข้างหน้า"

CSR = การบริหารที่ถูกต้อง

"และเมื่อ CSR คือ การบริหารที่ถูกต้อง คำถามของผมก็คือแล้วทำไมองค์กรจะไม่ทำ ถ้ามี CSR จะทำให้เราปรึกษาและหาวิธีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ถ้าสมมติทุกคนในบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำมองระยะยาว 10-20 ปีมาใช้ในการตัดสินใจวันนี้ ก็อาจไม่ต้องมีวิชา CSR ขึ้นมาเลย เพราะว่าเขาจะทำในสิ่งที่ควรทำ ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติที่ถูกต้อง"

โดยดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

" เมื่อถึงวันหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมี CSR เป็นวิชาที่แยกออกมา และผมเชื่อว่าวันหนึ่งก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนเรื่องคุณภาพ (quality) เมื่อก่อน 20 กว่าปีที่แล้วเริ่มดัง ก็เป็นแนวคิดใหม่ของบริษัท ถ้าเทียบตะวันตกกับญี่ปุ่น ทำไมญี่ปุ่นถึง ดีกว่า ตะวันตกก็พยายามปรับ ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยรู้อะไร จนทุกวันนี้เรื่องคุณภาพกลายเป็นเรื่องที่มีอยู่ในธุรกิจ โดยไม่ได้เป็นวิชาต่างหาก บริษัทที่ทำเรื่องคุณภาพก็ไม่ต้องมีฝ่ายคุณภาพแยกออกมาต่างหาก อีกไม่นานในบริษัทจะไม่ต้องมีแผนก CSR ต่างหาก ซึ่งจริงๆ ไม่ควรมี อาจจะมีในช่วงแรกที่เอาไว้กระจายความรู้ ความเข้าใจ แต่ข้างหน้าอีกไม่กี่ปี CSR ก็เหมือนเรื่องคุณภาพควรจะอยู่ในกลยุทธ์ทุกขั้นตอน"

เมื่อตั้งคำถามว่าสำหรับไทย เขามองว่าอีกนานแค่ไหน

" วันนี้ผมว่าเราเริ่มเห็นแล้ว ลูกค้าเขากำลังบีบ ผู้ลงทุนเขากำลังสนใจ กรณีไทยเบฟเวอเรจก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า อาจจะมีส่วนที่ทำให้เห็นว่าคนส่วนต่างๆ ในสังคมกำลังบีบบังคับ ฉะนั้นบริษัทไหนที่อยากได้เปรียบต้องปรับตัวก่อน ถ้าบริษัทไหนปรับตัวช้าจะต้องเสียตลาดและไม่รอดในระยะยาว เพราะว่าทรัพยากรรู้อยู่แล้วว่ามีจำกัด ถ้าบริษัทไหนที่ไม่ปรับตัวก็จะแพ้ตลาด"

เขากล่าวว่า "ลูกค้าองค์กรที่มาใช้บริการวันนี้ล้วนเป็นบริษัทที่ถูกกดดันจากการค้าใน ต่างประเทศที่กำหนดให้ซัพพลายเชน แต่สำหรับผมเรื่องถูกบังคับหรือทำเพราะสมัครใจไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่เนื้องาน หรือสิ่งที่ทำต่างหากว่าบริษัทนั้นทำ CSR อย่างไร"

แม้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ความรู้จักขององค์กรในไทยที่มีต่อ CSR จะเปลี่ยนแปลงไป แต่นั่นเป็นเพียงการรู้จักแต่ไม่ได้หมายความถึงความเข้าใจทั้ง 100% เพราะปัญหาจากการให้คำปรึกษาในองค์กรต่างๆ พบว่าปัญหาหลักขององค์กรไทย คือ ความไม่เข้าใจแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

"ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้า ใจว่า CSR คือ การทำบุญ หรือเป็นวิธีในการปรับปรุงโลกทุนนิยม แต่ว่าไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ CSR เพราะ CSR คือ การปรับปรุงการบริหารของบริษัทที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในบริษัทจากเช้ายันเย็น และแยกออกจากการดำเนินธุรกิจไม่ได้ และต้องคิดไปด้วยกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะในระหว่างทำเรื่องการเงิน การตลาด ต้องมีความรับผิดชอบอยู่ในนั้นตลอด CSR ต้องเริ่มที่บ้าน ดูแลภายในบริษัท ซึ่งเป็นสังคมที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด โดยจัดระเบียบข้อบังคับ ชัดเจนโปร่งใส และทำอย่างเท่าเทียมและสม่ำเสมอทุกคน พอเริ่มต้นจากภายในแล้วก็ค่อยขยายออกไปยังครอบครัวพนักงาน ซัพพลายเออร์ และภายนอก"

ปรับทิศองค์กรให้อยู่รอด

"การปรับปรุงการบริหาร จัดการของธุรกิจด้วย CSR จึงหมายถึงการดูถึงกลยุทธ์และทิศทางของบริษัทว่าจะเดินไปในทิศทางไหน และถ้าจะเดินไปในทิศทางนั้นจะไปเบียดใครหรือเปล่า และเขาจะรู้สึกอย่างไร ทั้งชาวบ้าน ซัพพลายเออร์ และเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น บริษัทก็คิดก่อน ก่อนที่จะสร้างความรู้สึกไม่พอใจ"

เขาเปรียบเทียบ ไว้ว่า องค์กรก็เป็นเหมือนเรือ และผลกระทบที่องค์กรสร้างขึ้นก็เปรียบเหมือนน้ำที่กระเด็นจากเรือเวลาเรือ วิ่ง ฉะนั้นการปรับตัวขององค์กรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็เหมือนการที่จะทำอย่างไรเมื่อเรือวิ่งไปแล้วจะไม่ให้น้ำกระเด็นไปถูกบ้าน คนอื่น ซึ่งถ้าไม่ปรับปรุงและออกแบบเรือใหม่ เรือลำนั้นก็ต้องวิ่งให้ช้าลง โดยต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

"มีบริษัทจำนวนไม่ น้อยที่บอกว่าตัวเองทำ CSR แต่ถ้าแค่บริจาคเขียนเช็ค ไปปลูกป่า ผมถือว่าอย่างนี้ไม่ใช่ ถ้าเราจะดูว่าบริษัทไหนมี CSR หรือไม่ ง่ายเพียงลองถามว่าเขาได้หารือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็แสดงว่าเขาไม่ได้มี CSR อย่างที่เขาเข้าใจ เพราะการไม่ได้คุยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โอกาสจะสำเร็จในการทำ CSR เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้"

และแม้จะเป็นที่ปรึกษา CSR แต่ "อเล็กซ์" ก็ยอมรับว่าไม่ได้ชื่นชอบคำว่า corporate social responsibility และคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร มากนัก

เขากล่าวด้วยว่า "ผมเคยเป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เวลาใครมาบอกว่าคุณต้องมีความรับผิดชอบ ผมมักจะคิดว่า ผมเป็นเจ้าของธุรกิจ ผมมีพนักงานและครอบครัวพนักงานที่ต้องรับผิดชอบ ทำไมต้องมาบอกว่าผมต้องรับผิดชอบอะไร"

ในเวลาเดียวกันความหมายของคำ คำนี้ยังไม่ได้บ่งชี้ถึงแนวคิดได้อย่างชัดเจน เทียบเท่ากับคำที่มีความหมายตรงที่สุด อย่าง social impact management ที่แปลเป็นไทยที่หมายความถึง การบริหารจัดการผลกระทบที่มีต่อสังคม เช่นเดียวกับหลายค่ายคิดในต่างประเทศที่วันนี้มีความพยายามในการใช้ CSR เป็น corporate sustainability&responsibility หรือนักคิดในฝั่งสหรัฐ ที่ใช้ CSR ที่มาจาก corporate stakeholders responsibility ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการที่จะพยายามบ่งชี้ว่า CSR เป็นมากกว่าการดูแลสังคมภายนอก และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะวันนี้สถานการณ์ในหลายประเทศก็เป็นเช่นเดียวกับในไทย "ที่แม้คนจะรู้จัก CSR อย่างกว้างขวางขึ้น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ความหมายที่แท้จริงของแนวคิดนี้" อเล็กซ์กล่าวในที่สุด

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: