วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สร้างความเข้มแข็งอาชีพชุมชน

สร้างความเข้มแข็งอาชีพชุมชน ตอบโต้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย ท่ามกลางภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทำนายกันว่าใน ปี 2552 จะมีคนในวัยทำงานต้องตกงาน 1-2 ล้านคน จากประสบการณ์ปี 2540 เราเรียนรู้ว่าคนจำนวนมาก ที่มีรายได้น้อย จะต้องกลับไปพึ่งครอบครัวในถิ่นฐานเดิม โดยเฉพาะในภาคเกษตร ในแง่หนึ่งระบบวัฒนธรรมไทยและอาชีพด้านเกษตรพื้นฐาน เป็นกลไกรองรับผู้ที่ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมอาจไม่สามารถจ้างงานต่อไป ในขณะเดียวกัน เราทราบว่าผู้ที่มีรายได้น้อยที่อพยพย้ายจากถิ่นฐานภูมิลำเนาส่วนใหญ่มาจาก ครอบครัวชนบทที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็น ที่นา เงินลงทุน หรือแรงงานก็มีน้อยเช่นกัน ซึ่งต้องชื่นชมความยืดหยุ่นภาคชนบท ในการเป็นเบาะรองรับลูกหลาน พี่น้องที่กลับไปพึงในยามลำบาก

แล้วการช่วยเหลือภาคชุมชนชนบททำได้อย่างไร ?

วันนี้ ผมจึงได้เสนอรูปแบบการส่งเสริมอาชีพ โดยผ่านกองทุนเงินหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมอาชีพ เนื่องจากไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติ หรือในยามวิกฤตก็ตาม ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพลำบากมาก ครอบครัวอาจจะมีหนี้สินด้านการเกษตรอยู่แล้ว ที่ดินที่เหลืออยู่น้อยติดจำนอง เมื่อไม่สามารถเข้าถึงทุนประกอบการ โอกาสเพิ่มรายได้จะน้อย เหมือนวัฏจักรของความยากจน


แต่ จากประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนพบว่า การส่งเสริมอาชีพโดยกองทุนหมุนเวียน นอกจากจะเกิดผลเชิงรายได้แล้ว คนจนมีอัตราการคืนเงินสู่กองทุนที่สูงมาก นอกจากนั้นเกิดอาชีพท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าหลายด้าน ดังเช่นที่ผม

ลองจำลองรูปแบบการทำงานระหว่าง CSR องค์กรพัฒนาเอกชน และกิจกรรมกองทุนอาชีพชุมชน ในภาพข้างล่างนี้

อาจ จะมีข้อสงสัยว่าหากกองทุนอาชีพทำง่ายๆ เกิดผลจริง ด้วยโครงการกองทุนที่หลายหน่วยงานภาครัฐทำกันนั้นความยากจนน่าจะหมดไปจาก ประเทศไทยนานแล้ว แต่ในความเป็นจริงการส่งเสริมอาชีพไม่สามารถแยกส่วนทำได้ หน่วยงานที่ส่งเสริมอาชีพ มักจะแยกบทบาทชัดเจน ใครสอนทักษะการผลิตก็สอนอย่างเดียว บางโครงการเปิดกองทุน แต่ไม่ได้แนะนำวิธีการบริหารกองทุน หรือไม่มีแนวทางการพัฒนาอาชีพโดยใช้เงินจากกองทุน และน้อยครั้งที่โครงการแนะนำอาชีพ จะมีกระบวนการฝึกฝนเรื่องทักษะด้านการตลาด

การทำงานหลายด้าน ให้เกิดลักษณะครบวงจร เป็นข้อได้เปรียบขององค์กรพัฒนาเอกชนที่สามารถมุ่งเป้าหมายการทำงาน ความสนใจ หรือความพยายามและพลังในการทำงานให้เกิดการเสริมสร้างทั้งกระบวนการ ไม่ได้แยกแยะตามบทบาทเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน และยังทำงานในรูปแบบ การเพิ่มพลัง empowerment คือ ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดทักษะและอำนาจในตัวเอง ดังนั้นทักษะหลายอย่างจะปรับใช้ได้ในงานอื่นๆ

ข้อสำคัญอีกประการ หนึ่งที่เป็นคุณลักษณะของงานส่งเสริมอาชีพคือ วัดผลสำเร็จได้ชัดเจน เพราะงานอาชีพ หรือกองทุนเงินหมุน จะใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างสากล ดังนั้นบริษัทที่ส่งเสริมงานอาชีพ จะได้ทราบผลค่อนข้างชัดเจน ผลนั้นวัดได้ในรูปแบบรายได้ และผลต่อครอบครัว นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานบริษัทมีส่วนร่วม โดยการช่วยกันคิดวิเคราะห์ เสริมสร้างการทำงานกองทุน การทำงานกลุ่มอาชีพ หรือด้านการตลาด

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆ อาจจะมีงบประมาณที่จะทำงานด้านสังคมน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าหากหลายบริษัท ทำงานในรูปแบบส่งเสริมอาชีพ จะเกิดผลที่เห็นชัด ทั้งในส่วนที่แต่ละบริษัทได้ให้การสนับสนุน และในภาพรวมที่สามารถช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่วิกฤตเช่นนี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธัันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: