วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ระดมสมองเตรียมตั้ง "สมาคม CSR"


แม้ ปัจจุบันจะมีองค์กรธุรกิจที่กระโดดเข้ามาในวง CSR (corporate social respon sibility) โดยนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ รวมไปถึงการตื่นตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

แม้ ว่าวันนี้จะมีการตั้งองค์กรใหม่ๆ ไม่ว่าจะฝั่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) หรือกระทั่งการรวมตัวกันเองของนักธุรกิจซึ่งให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่อง นี้มายาวนานอย่างเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เอเชีย) ประเทศไทย (SVN) หรือคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (TBCSD) หรือในระดับสถาบันที่เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้าน CSR อย่างสถาบันไทยพัฒน์ ฯลฯ

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ววันนี้ไทยยังไม่มี เวทีกลางและมีช่องทางซึ่งจะสามารถรวบรวมเครือข่ายและองค์กรธุรกิจที่ดำเนิน แนวคิดอยู่ให้สามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปถึงการรวบรวมฐานข้อมูล CSR ในไทยอย่างแท้จริง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมามีการรวมตัวกันของ CSR แชมเปี้ยนในวงการซึ่งมาจากทั้งองค์กรธุรกิจ ภาครัฐ เอกชน และเอ็นจีโอ โดยมี "กษิต ภิรมย์" อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ในฐานะประธานสมาคมส่งเสริมบรรษัทภิบาลเป็นแกนนำ โดยมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างการประชุม CSR Asia ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โดยต้องการให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่าย CSR ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการพยายามที่จะรวมพล "นักทำ CSR" ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในแต่ละบริษัทให้มีการรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกัน ในอันที่จะสามารถขับเคลื่อน CSR ในภาพใหญ่ระดับประเทศให้เกิดขึ้น

"กษิต์" กล่าวถึงการรวมตัวในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ต้องการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันในการขับเคลื่อน โดยมุ่งหวังให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ด้าน CSR ในไทยซึ่งยังกระจัดกระจายอยู่ รวมไปถึงการแบ่งปันทรัพยากรในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคม รวมไปถึงการผลักดันให้ CSR สามารถขับเคลื่อนได้ในระดับประเทศ

"การ ขับเคลื่อน CSR ในระดับประเทศ แบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับ 1 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดับ 2 บริษัทไทยขนาดกลาง ซึ่งอยู่ในสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทย และระดับ 3 คือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งทั้ง 3 ระดับควรมีการเชื่อมโยงระหว่างกัน และการขับเคลื่อน CSR ในไทยจะเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ยังจะต้องอาศัยกำลังสนับสนุนจากภาครัฐ"

ด้าน "สุกิจ อุทินทุ" รองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีกลุ่มต่างๆ ที่ทำในเรื่องนี้ แต่ในฐานะนักทำ CSR ที่เป็นตัวจริงในองค์กรยังไม่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจน และการที่คนขับเคลื่อน CSR จริงมารวมกันไม่เพียงจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ยังสามารถสนับสนุนทรัพยากรระหว่างกันในการดำเนินกิจกรรม CSR ในอนาคต

" บางครั้งการที่เราต่างคนต่างทำก็สร้างประโยชน์ให้สังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ จะเป็นการรวมพลังกันในการใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกได้ มากกว่า แม้วันนี้เรายังไม่มีชื่อที่ชัดเจนว่าจะใช้ ฟอรั่ม เครือข่าย หรือสมาคม แต่เร็วๆ นี้จะมีการประชุมหารือกันอีกครั้งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด" สุกิจกล่าวในที่สุด

แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามในการสร้าง เครือข่าย CSR แต่หากเกิดขึ้นได้นี่จะถือเป็นมิติใหม่ ส่วนจะเกิดขึ้นจริงได้แค่ไหนต้องติดตามในระดับห้ามกะพริบตา !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04101151&day=2008-11-10&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: