วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

"คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่"

"คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่" CSR เที่ยวล่าสุด "เมืองไทยประกันภัย"

จาก สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2544 จำนวนผู้พิการในไทยทั้งหมดอยู่ที่ 1 ล้านคน มีเด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งถือเป็นความพิการอย่างหนึ่งอยู่ถึง 1 แสนคน และในแต่ละปีจะมีเด็กที่พิการเช่นนี้อีกราว ปีละ 2,500 คน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจน ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐของไทยสามารถรองรับการรักษาได้เพียง 250 คน นั่นหมายถึงว่าผู้พิการอีกกว่า 7-8 หมื่นคนในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษา

"ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ เราพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้โดยทำการรักษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะไม่เพียงเป็นอาการพิการทางกาย แต่นี่คือปัญหาสังคมที่สำคัญ เพราะส่วนใหญ่เราพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้มาแต่กำเนิด เมื่อโตมาจะอาย ไม่ยอมไปโรงเรียน และทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา" นายแพทย์สมชาย กุลวัฒนาพร เลขาธิการสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานโครงการ "อาสาสมัครแพทย์พยาบาลไทยและนานาชาติจากสหรัฐ อเมริกา" กล่าวถึงเหตุผลที่เขาและทีมแพทย์และพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เข้ามาทำการผ่าตัดรักษาเด็กพิการ "ปากแหว่งเพดานโหว่" และพิการทางสายตามาเป็นเวลากว่า 6 ปี และให้การรักษาผู้ป่วยไปแล้วเกินกว่า 2,000 ราย โดยแต่ละปีก็จะเวียนไปให้การรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เพียงแต่อาจจะไม่มีคนรู้จักโครงการมากนัก เพราะไม่ค่อยได้เน้นการประชาสัมพันธ์

การตัดสินใจร่วมแถลงข่าว โครงการร่วมกับ บมจ.เมืองไทยประกันภัย หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการนี้มาเป็นปีที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา จึงเป็นครั้งแรกของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มช่อง ทางในการเข้าถึงการรักษาของผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ป่วยและพิการทางสายตาได้มากขึ้น

เพราะการรับรู้โครงการมากขึ้นก็เท่ากับว่าคนจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากขึ้น !!

บทบาท ของ "เมืองไทยประกันภัย" จึงไม่เพียงจัดแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุนที่พักสำหรับคณะอาสาสมัคร ที่พักและค่าเดินทางสำหรับผู้ที่จะมารับการรักษา

แต่ยังใช้ ทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ในการช่วยเหลืองานด้านประชาสัมพันธ์ รวมถึงใช้ call center 1484 สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการรักษาให้ติดต่อเข้ามา

" นวลพรรณ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า "ในปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทเข้าร่วมโครงการในปีแรก อาจจะไม่ได้นำมาพูดถึงมากนัก แต่การที่หันมาเน้นการประชาสัมพันธ์โครงการในปีนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงโอกาสในการรักษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ ชีวิตมากขึ้น"

เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักที่ทีมแพทย์ฝีมือ ดีจากสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดศัลยกรรมจากมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัย เพนสเตต มหาวิทยาลัยคอร์แนล ฯลฯ จะเสียค่าเดินทางเองเพื่ออาสามารักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งยังขนอุปกรณ์การแพทย์ที่ดีที่สุดมาใช้ในการรักษา รวมทั้งเลนส์ตาอีกกว่า 400 คู่ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา และหากตีเป็นมูลค่าทั้งหมด โครงการ "อาสาสมัครแพทย์พยาบาลไทยนานาชาติจากสหรัฐอเมริกา" ในปี 2552 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 77 พรรษา ภายใต้แนวคิด "คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่" จะมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท

การ ระดมผู้เชี่ยวชาญมายังไทยครั้งนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาระหว่างแพทย์จากสหรัฐอเมริกาและทีมแพทย์ในไทย แม้ว่าในปีนี้จะมีอุปสรรคบ้างจากเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมือง ที่ทำให้ทีมแพทย์อาสาบางคนปฏิเสธการเดินทางมาร่วมงาน แต่เชื่อว่าในปีนี้จะมีทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางเข้ามาเป็นอาสาสมัครกว่า 48 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับผู้เข้ารับการรักษาจำนวนรวมทั้งหมดกว่า 700 คน เป็นเด็กอายุระหว่าง 4 เดือนถึง 21 ปี ซึ่งพิการปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 350-400 คน และผู้ป่วยด้านสายตาจำนวน 250-300 คน โดยเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับการรักษานั้นจะต้องมีคุณสมบัติ อาทิ เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมจริง มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด หรือกรณีผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ ควรจะเป็นผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ในแต่ละกรณีขึ้นอยู่กับการตรวจและวินิจฉัยความเหมาะสมของทีมแพทย์อีก ครั้งหนึ่ง

"นวลพรรณ" กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทในปี 2552 ซึ่งในขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณรวมของกิจกรรมเพื่อสังคมรวมงบประมาณในการ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาราว 80 ล้านบาท โดยในส่วนของงบประมาณกิจกรรมเพื่อสังคมจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ขึ้นอยู่กับโครงการและความจำเป็นเร่งด่วนที่มีต่อ สังคมในเวลานั้นๆ

โดยยอมรับว่าการจัดสรรงบประมาณในปีหน้านั้นเป็นแบบ ค่อนข้างระมัดระวัง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้บริษัทต้องรัดเข็มขัดพอสมควร ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการคัดเลือกกิจกรรมและโครงการเพื่อสังคมที่จะ ดำเนินการโดยไม่เพียงคำนึงถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและ เด็ก

"สิ่งที่เราให้ความสำคัญในการเลือกทำโครงการยังอยู่ที่สิ่งนั้นต้องสามารถตอบแทนสังคมได้จริง โดยไม่ได้เป็นแต่โครงการที่เอาแต่หน้า"

อย่าง ไรก็ตาม "นวลพรรณ" ยอมรับว่า CSR มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต แม้อาจจะไม่ชัดเจนถึงผลที่ได้ในเชิงพาณิชย์มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดกว่า 4 ปีที่บริษัทดำเนินการ เชื่อว่าทำให้ แบรนด์ของบริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: