วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การกลับมาของ CSR Awards 2008

การกลับมาของ CSR Awards 2008 กระจกสะท้อน CSR ไทย


แม้ การมอบรางวัลบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้าน CSR หรือ Corporate Social Responsibility Awards 2008 หนึ่งในรางวัล SET Awards 2008 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อยกย่องบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ จะประกาศผลไปแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ถือเป็นการ กลับมาอีกครั้งของการมอบรางวัลซึ่งว่างเว้นไป 1 ปี และถือเป็นครั้งที่ 2 ของการมอบรางวัล CSR Awards หลังจากที่รางวัลนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกใน ปี 2549 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยกย่องบริษัทที่มีความโดดเด่นในการดำเนินการด้าน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรอื่น

แม้เมื่อเห็นชื่อ 3 องค์กรที่สามารถคว้ารางวัลในปีนี้ ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) แล้วจะไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะไม่เพียงเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มาอย่างต่อเนื่อง และทั้ง 3 องค์กรล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่คว้ารางวัลนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2549

หากแต่เมื่อลงลึกถึงเกณฑ์การตัดสินและมองภาพรวมขององค์กรที่ส่ง เข้าชิงรางวัลในปีนี้ กลับมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ ที่น่าสนใจเพราะครั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญเฉพาะกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ กิจกรรม CSR ภายนอกที่บริษัทช่วยเหลือสังคม ในเวลาเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบภายใน กระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR in process) ควบคู่ไปด้วย เช่น การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ คุณภาพสังคมภายในองค์กร ฯลฯ

และหากวัดในเชิงปริมาณ จากแบบสอบถามเกณฑ์ในการคัดกรองเบื้องต้น ในปีนี้มีถึง 37 ข้อเมื่อเทียบกับเกณท์เดิมใน ครั้งแรกที่มีเพียง 19 ข้อ เช่น เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องธรรมาภิบาล การมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฯลฯ

"เกณฑ์ในการ ตัดสินให้รางวัล CSR Awards ในปีนี้นั้นได้ปรับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการพิจารณาในเชิงคุณภาพโดยใช้กรอบแนวทางของแนวปฏิบัติด้าน CSR หรือเข็มทิศธุรกิจเป็นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีคณะกรรมการที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่อง CSR เวลาตัดสินเราไม่ได้ดูเฉพาะสิ่งที่บริษัทเขียนส่งมา แต่มีเกณฑ์ในการคัดกรองอย่างละเอียดและเราเชื่อว่าเป็นเกณฑ์ที่ไม่สามารถมี ใครโต้แย้งได้" นงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินในปีนี้



โดย ขั้นตอนในการตัดสิน มีตั้งแต่การจัดส่งแบบสำรวจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจให้แก่บริษัท จดทะเบียนทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า online survey ก่อนที่บริษัทจะตอบแบบสอบถาม และได้รับการคัดเลือกและมีทีมงานเข้าไปเก็บข้อมูลยังองค์กร และเข้าสู่กระบวนการตัดสินของคณะกรรมการ

สำคัญที่ความต่อเนื่อง

ทำ ให้เมื่อมองถึงทั้ง 3 องค์กรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จะเห็นกระบวนการการดำเนินความรับผิดชอบทั้ง ภายในกระบวน การดำเนินธุรกิจและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น CSR ของปูนซิเมนต์ไทย ที่มีการแปลงส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นความ ร่วมมือ โดยใส่ใจในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ทั้งกายภาพ ชีวภาพและคุณภาพชีวิต และสังคมโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่กิจกรรมเพื่อสังคมกับชุมชนที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำให้ครบ 10,000 ฝายภายในปี 2552 ทั้งยังสร้างกระบวนการเรียนรู้และการแก้ปัญหาชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอ เพียง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชุมชน

ขณะที่ "บางจาก" มีกระบวนการดำเนินความรับผิดชอบภายในที่ปลูกฝัง ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงพนักงาน โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบในกระบวนการดำเนินธุรกิจภายในองค์กร ในทุกภาคของการดำเนินงานและการตลาด และมีการสำรวจข้อมูลความต้องการจากชุมชนรอบบริษัทสม่ำเสมอ เพื่อนำไปประกอบแผนในการทำกิจกรรมสังคมในชุมชน เช่น การส่งเสริมให้องค์กรชุมชนมีสถานีบริการน้ำมันเป็นของตัวเอง ทั้งยังสนับสนุน พนักงาน เช่น การให้พนักงานอาสาสมัครใช้เวลาก่อนเลิกงาน 1 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 4 วันสอนการบ้านเด็กในชุมชน ที่สำคัญทุกโครงการมีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน

สำหรับ "ปตท." ที่นอกจากคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม ยังโดดเด่นในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีการวิเคราะห์ ตรวจสอบเพื่อเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง และมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็น ทั้งยังมีโครงการพัฒนาชุมชนจำนวนมากที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ก้าวสู่ยุคนวัตกรรม CSR

" สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ดูเพียงแต่ว่าเขาทำอะไร แต่ดูว่าส่งผลถึงอะไรด้วย ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับการมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัท และให้น้ำหนักกับการทำงานที่ต่อเนื่องรวมไปถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการ ดำเนินการ CSR และจะเห็นว่าบริษัทที่ได้รางวัลนั้นโดดเด่นในเรื่องนี้" นงรามกล่าว

และยกตัวอย่างถึง "นวัตกรรม" ที่เกิดจากการดำเนินการ CSR ว่า อย่าง ปตท.มีการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่อง นี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยของ ปตท.ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ทางด้านพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม โครงการน้ำมันพืชใช้แล้วของบางจาก ซึ่งนำมาผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล หรือการสร้างมาตรฐานในการทำโรงเรียนสอนขับรถบรรทุกของปูนซิเมนต์ไทย ที่พัฒนาจากจุดกิจกรรมภายในองค์กรและขยายผลสู่สังคมภายนอก

"วัฒนา โอภานนท์อมตะ" รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทาง CSR ของบางจาก จากนี้คือการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมเพื่อสังคม (social innovation) โดยพยายามจะสร้างเครือข่ายรวมกับองค์กรขนาดใหญ่ด้วยกัน และมองว่าจะเข้าไปมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างไร

" เราเชื่อว่าจะทำได้ต้องใช้ความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ก่อน เพราะองค์กรขนาดเล็กจะมีภูมิต้านทานน้อยกว่า เมื่อเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบอะไร ซึ่งวันนี้คงไม่ต้องถามแล้วว่าองค์กรจะได้อะไร แต่คงต้องถามว่าโลกและประเทศจะได้อะไรมากกว่า นี่คือทิศทางที่เราจะเดินหน้านับจากนี้" วัฒนากล่าว

ตลท.หนุนองค์กรทำ CSR report

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ดังนั้นแล้วองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นหรือถึงได้ขึ้นชื่อว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม

ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน CSR Awards 2008 กล่าวว่า "คนอาจจะมองว่าการที่บริษัทใหญ่ทำกิจกรรม CSR มากเป็นเพราะสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก จะเรียกว่าบริษัทมีความรับผิดชอบหรือไม่ แต่ผมมองว่าทุกองค์กรไม่ว่าจะองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็สร้างผลกระทบต่อ สังคมเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่บริษัทยิ่งใหญ่ก็ยิ่งต้องยิ่งมีความรับ ผิดชอบมาก ซึ่งผลกระทบถือเป็นหลักสำคัญในการทำ CSR ที่องค์กรธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยง"

นอกจากนี้ หากมองถึงข้อมูลจากองค์กรทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการจะเห็นชัดเจนว่า ทิศทางขององค์กรที่มีต่อ CSR เปลี่ยนไป ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า "เราจะไม่เห็นโครงการที่เป็นอีเวนต์ แต่เป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องรวมไปถึงเราจะเห็นทิศทางว่า องค์กรเริ่มตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการไปสู่ความยั่งยืนของทั้งองค์กรและสังคม"

อย่าง ไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า "เราคงไม่สามารถวัดได้ว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลมีความรับผิดชอบมากกว่า องค์กรที่ไม่ได้รับรางวัล แต่ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของความพร้อมในการเตรียมข้อมูล ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีทรัพยากรในการเตรียมข้อมูลมากกว่า ในอนาคตหากมีการส่งเสริมในเรื่องการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน CSR report หรือ SD report เชื่อว่าจะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับองค์กรในการจัดทำข้อมูลที่ดีขึ้น"

เรื่อง นี้ "นงราม" กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการปรับปรุงเกณฑ์ต่อไป โดยพยายามที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมี CSR report เพราะบางทีการกรอกแบบฟอร์มเป็นเหมือนการแต่งตัว แต่หากในอนาคตบริษัทมีการจัดทำรายงานมากขึ้น คณะกรรมการสามารถหยิบข้อมูลตรงนั้นมาใช้ ขณะเดียวกันยังเป็นผลดีในการสื่อสารกับนักลงทุนด้วย เพราะปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ยิ่งวิกฤต นักลงทุนต้องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงในระยะยาว

การมอบ รางวัลครั้งนี้จึงไม่เพียงภาพสวยหรูที่อยู่เบื้องหน้า หากแต่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนอีก CSR ในไทย ที่ยังคงต้องพัฒนาต่อไปนับจากนี้ !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: