วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

"ปลดคน" ฤๅใช่ทางออก องค์กรฝ่าวิกฤต !!!



ข่าว การทยอยปลดพนักงานขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นและมากขึ้นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งบริษัทในต่างประเทศรวมถึงไทย โดยมีเหตุผลสำคัญในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรซึ่งได้รับผลกระทบจากการ ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลพวงมาจากวิกฤตการเงินโลก

คาดการณ์กันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะยิ่งปรากฏให้เห็นอีกหลายระลอก ในปี 2552 ที่จะถึง

และเป็นภาพเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ครั้ง หนึ่ง ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยาและการบริหาร ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการ บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เคยตั้ง ข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้าเราใช้วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นบทเรียน จะเห็นได้ว่าการปลดพนักงานในเวลานั้น กลายมาเป็นอุปสรรคกับการพัฒนาองค์กรในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความจงรักภักดีกับองค์กร ในวิกฤตที่เกิดขึ้น องค์กรที่จะปลดพนักงานจึงต้องตัดสินใจให้ดีกับผลที่จะเกิดในระยะยาว มากกว่าการมองเพียงสิ่งที่จะได้ในระยะสั้น"

เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นภูมิคุ้มกันของ "บริษัท"

ปลดคน = เพิ่มภาระให้สังคม

บท เรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ของ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด นั้นเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจไม่ปลดพนักงานในเวลานั้น กลายมาเป็นแรงบวกในการพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรในเวลาต่อมา

" ในเวลานั้นงานของเราลดลงไปประมาณ 20% ฉะนั้นเราจำเป็นต้องปลดคนออก แต่ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บอกกับเราในเวลานั้นว่า บริษัทจะไม่ปลดคนออก เพราะการปลดคนออกก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับสังคม" กฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ย้อนเล่าการตัดสินใจครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้นที่แม้ว่าจะต้องเพิ่มภาระให้ กับบริษัท แต่ผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่ปรากฏในวันนี้ก็คุ้มค่า

เพราะ ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงทัศนคติและเพิ่มความจงรักภักดีของพนักงานที่มีต่อ องค์กรอย่างเห็นได้ชัด การจัดโครงการให้พนักงานที่มีมากกว่างานที่ทำในเวลานั้นทยอยไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนในองค์กรได้มีการพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีผลที่ดีตามมาต่อประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงการลดปัญหาความขัดแย้งในองค์กร

"ในเวลานั้นการที่พนักงานมี โอกาสไปปฏิบัติธรรมทำให้พนักงานมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงและสามารถควบคุมตัวเอง ได้ดีมากขึ้น และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของคนให้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลัง มือ" รองกรรมการผู้จัดการบริษัทวิริยะประกันภัยกล่าว

ดังนั้นการรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ การปลดพนักงานจึงไม่มีอยู่ในแผนรับมือวิกฤตของบริษัท

ดูแลพนักงาน "ภูมิคุ้มกัน" องค์กร

ใน ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR "อนันตชัย ยูรประถม" กล่าวว่า "การดูแลพนักงานโดยพยายามรักษาเขาไว้ในช่วงวิกฤต นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงให้กับองค์กร ในเวลาเดียวกันการที่ดูแลพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้เห็นในช่วงวิกฤตจะเห็นว่าหลายองค์กรแทบจะไม่เดือดร้อนเลย เมื่อวิกฤตมาเยือนอีกครั้ง"

เช่นที่เกิดขึ้นกับ "วันเดอร์เวิร์ล" และ "นิชิเวิร์ล" ผู้ผลิตและส่งออกของเล่น รายใหญ่ในไทย และ "บาธรูมดีไซน์" ผู้จำหน่ายสุขภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งเป็นองค์กรที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อพนักงาน

" สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์เวิร์ล โปรดักส์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด เล่าว่า "CSR ทำให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ แต่ต้องสะสมและใช้เวลา วันนี้เกิดวิกฤตเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่การทำตั้งแต่วันนี้เป็นการสะสมทุนไว้ใช้ในภายภาคหน้า ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร

การดูแลพนักงานจะทำให้ทุกคนช่วยกันเมื่อเกิดวิกฤต"

การ ดูแลพนักงานที่มากกว่าการดูแลในเรื่องผลตอบแทนและสวัสดิการเช่นเดียวกับ องค์กรทั่วไป บริษัทยังดูแลช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ อาทิ การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ฯลฯ อาจจะอย่างที่เขาเคยบอกว่า "การจะทำให้พนักงานรักองค์กรต้องรู้จักที่จะรักเขาก่อน" ทำให้เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทในปี 2540 พนักงาน กลายเป็นกลจักรสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับบริษัท

"สุทธิชัย" เล่าถึงภาพความจำในเวลานั้นว่า "ตอนปี 2540 เราได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการลดค่าเงินบาท ด้วยความเป็นบริษัทส่งออก ตอนนั้นมีพนักงานอยู่ 100 คน พนักงานเขาไปนั่งประชุมกันเองว่าจะช่วยบริษัทได้อย่างไร"

ในที่สุด นอกจากจะไม่ต้องปลดพนักงาน การจัดสรรกำลังคนให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมก็กลายเป็นที่มาของการขยายงาน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้องค์กรเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ "สุทธิชัย" เชื่อว่า "เป็นสิ่งที่ต้องสะสมไป ถ้าเริ่มสร้างภายในให้เข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็ง และเป็นยาที่ดีที่สุดในการฝ่าวิกฤต"

"ความสุข" คือ ทางออก

" วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์" ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด เห็นด้วยกับสิ่งที่ "สุทธิชัย" พูดและเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด "เมื่อยิ่งให้นั้นจะยิ่งได้" สิ่งที่น่าสนใจคือหลักในการบริหารองค์กรที่ใช้มาตลอด และเชื่อว่าในวันที่เกิดวิกฤต การเดินตามเส้นทางนี้ทำให้อยู่รอดได้ และการ ปลดคนออกจะเป็นทางออกสุดท้ายที่จะตัดสินใจทำ

การบริหารองค์กรของเขา ยึดหลักของ "การให้" และหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ 1.ผลิตให้มาก โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งสอดคล้องกับหลักในการบริหารธุรกิจในเรื่องของการสร้างประสิทธิผลใน องค์กร 2.ใช้แต่พอดี รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ซึ่งตรงกับหลักการบริหารในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง 3.เหลือจึงแบ่งปันให้ผู้อื่น ตามหลักสังคหวัตถุ 4 เมื่อทุกคนให้แล้ว สังคมก็จะมีแต่ความสุข ทุกคนอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดวิกฤตจะเกิดขึ้นได้ยาก

"ผมมองว่าพนักงานคือคนใน ครอบครัว เราไม่สามารถช่วยเขาเพิ่มรายได้ได้ เราก็พยายามหาทางช่วยเขาลดค่าใช้จ่าย ด้วยการจัดหาอาหารมาให้เขา รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพ ผลิตกันเอง ขายกันเองในบริษัท ทำให้เขาสามารถลดรายจ่ายได้ นอกจากนี้เรายังพยายามสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสให้ โดยลงแรงไปช่วยเหลือคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขจากภายในที่จะเกิดขึ้น"

ฉะนั้น ในวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับเขาแล้วมองเพียงว่า "วิกฤตเศรษฐกิจก็เหมือนสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา เหมือนกับฤดูต่างๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป องค์กรก็เหมือนกับชีวิตคนที่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ในทุกฤดู" วัชรมงคลกล่าว

ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ในฤดูที่พายุเศรษฐกิจกำลังกระหน่ำ ผู้บริหารองค์กรจะเลือกตอบโจทย์สั้นๆ หรือตอบโจทย์เผื่ออนาคต !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: