วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เรียนรู้จาก "บริษัทยอดแย่"


ดูเหมือนว่าแค่ฟังดูชื่อรางวัล "บริษัทยอดแย่ ประจำปี 2551" หรือ Bad Company Awards 2008 ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีบริษัทไหนอยากจะได้รับรางวัลนี้นัก ยิ่งดูเหตุผลที่ผู้ประกาศรางวัล สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคกว่า 220 องค์กร ใน 115 ประเทศ ระบุว่าเป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบ เอาเปรียบและหลอกลวงผู้บริโภค แล้วยิ่งทำเอาบรรดาบริษัทต่างร้อนๆ หนาวๆ

รางวัล นี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2550 ที่ผ่านมา และสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญบนเวทีการค้าระดับนานาชาติ แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแบรนด์ที่ได้รับรางวัลไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและมี สินค้าวางจำหน่ายในบ้านเรามากนัก

แต่การประกาศรางวัลในปี 2551 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อวารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International) ร่อนการประกาศผลรางวัล บริษัทยอดแย่ ประจำปี 2551 ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

สปอตไลต์จึงโฟกัสที่บริษัทและเจ้า ของแบรนด์ที่ได้รับรางวัลนี้ทันที เพราะไม่เพียงมีแบรนด์ที่เป็นรู้จัก มีสินค้าและบริการในไทย สำหรับบริษัทยอดแย่ในลำดับที่ 1 ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในไทยอีกด้วย

จากเอกสารของวารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International) ระบุว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ 1.เทสโก้ฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นผู้สามารถสกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ยอดเยี่ยม โดยบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสื่อมวลชนไทย 3 คน เป็นเงินรวมกันถึง 34 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,200 ล้านบาท) จากการที่พวกเขาทั้ง 3 ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเปิด สาขาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย 2.เคลลอกซ์ และเลโก้ สำหรับไอเดียกระฉูดที่ทำขนมหวานสำหรับเด็กออกมาในรูปแบบของตัวต่อพลาสติกที่ เด็กๆ ทั่วโลกรู้จักกันดี ไม่ว่า พ่อแม่ที่ไหนๆ ในโลกก็คงไม่ต้องการให้ลูกของตัวเองรับประทานตัวต่อเลโก้เข้าไป 3.ซัมซุง สำหรับความพยายามสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจตนเอง โดยประเด็นที่องค์กรผู้บริโภครับไม่ได้คือ การที่บริษัทผลิตรถถังควบคู่ไปกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เรารู้จักกันดี อย่างโทรทัศน์และมือถือ แม้จะอ้างว่าเป็นการทำเพื่อนำสันติสุขมาสู่โลกก็ตาม 4.โตโยต้า สำหรับการสร้างภาพ จริงอยู่ที่บริษัทผลิตรถรุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน 5.อิไลลิลลี่ ที่ระดมทำตลาด "เกินขนาด" เพื่อขายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยไม่สนใจว่าโฆษณาของตนจะผิดกฎหมายหรือไม่

"ศศิวรรณ ปริญญาตร" เจ้าหน้าที่สายทดสอบ วารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า "จะสังเกตได้ว่ารายชื่อบริษัทที่ได้รับรางวัลนี้จะเป็นบริษัทข้ามชาติ เราไม่ได้กล่าวโทษเขา แต่เพียงเพราะเราเชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีความสามารถที่จะปรับปรุง การดำเนินธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้เพิ่มมากขึ้น"

และ กล่าวว่า "บริษัทที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็ประกาศว่าตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อ สังคม หรือมี CSR แต่คงต้องถามว่าในสิ่งที่บริษัททำนั้นเรียกว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง หรือไม่"

คำถามนี้ไม่เพียงแต่บริษัทที่ได้รับรางวัลบริษัทยอดแย่ในปี นี้จะเป็นผู้ตอบ แต่ยังเป็นคำถามที่บริษัทในไทยจำนวนมากที่ประกาศตัวว่าเป็นบริษัทที่มี CSR จำเป็นต้องตอบด้วยเช่นกันว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อ สังคม ได้เข้าไปอยู่ในทุกส่วนครบถ้วนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพียงกิจกรรมที่ปรากฏให้เห็นผ่านสื่อแต่เพียงเท่านั้น


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: