วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

CSR รอบรั้วบ้าน : เริ่มได้ง่ายไปได้ไกล

ดร.พรชัย ศรีประไพ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์การค้าอิมพีเรียล ผมเคยนำข้อคิดจาก ดร.อัศวิน จินตกานนท์ (ประชาชาติธุรกิจ, ปีที่ 32, ฉบับที่ 4040) มาขยายความว่า การทำ CSR นั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ CSR ในบ้าน CSR รอบรั้วบ้านและ CSR นอกรั้ว

ผมได้บรรยายว่า CSR ในบ้านก็คือ การวางแนวทางวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม สะท้อนความรับผิดชอบต่องานและต่อองค์กร ผมได้สรุปคร่าวๆ ว่า องค์กรที่มี CSR ในบ้านเข้มแข็ง จะเป็นองค์กรที่มีพนักงานที่ทำงานอย่างทุ่มเท รับผิดชอบ มีวินัย และมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

หลายๆ องค์กรที่มีชื่อเสียง องค์กรที่เป็นตัวอย่างกับองค์กรอื่นๆ จะมุ่งมั่นทำ CSR ในบ้านให้สอดคล้องกับ value หรือคุณค่าหลักขององค์กร และให้พนักงานใช้ชีวิตทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงานไปตามแนวทางของคุณค่า องค์กร

วันนี้จะมาพูดถึง CSR รอบรั้วบ้านบ้าง

รอบรั้วบ้าน คือ ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับบริษัท ใกล้เคียงกับโรงงานผลิต ใกล้เคียงกับสำนักงานสาขา หรือแม้แต่จะใกล้เคียงกับตลาดหลักๆ ของบริษัท ที่สมาชิกของชุมชนเหล่านั้น จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัททางใดทางหนึ่ง

บริษัทใหญ่ๆ อย่าง เช่น โตโยต้า จะมีโครงการอาสาสมัคร (Volunteers) เพื่อสังคมโดยส่งเสริมให้พนักงาน ครอบครัว มิตรสหาย ร่วมทำงานอาสาสมัคร ขณะที่โตโยต้าสนับสนุนเงินและวัสดุ

ศูนย์อาสาสมัครของโตโยต้าประกาศ รายการอาสาสมัครทางจดหมายและทาง สื่ออื่นๆ และสร้างศูนย์ที่เรียกว่า Corporate Citizenship Division ที่มี พนักงานทำงานเต็มเวลา 7 คน และมี อาสาสมัครกว่า 3,000 คน โดยมีโครงการต่างๆ ที่โตโยต้าทำเองหรือโครงการที่ไปร่วมทำกับหน่วยงาน NGOs อื่นๆ ตัวอย่างของโครงการได้แก่

- โครงการพาผู้สูงอายุเที่ยว

- โครงการทำความสะอาดชุมชน

- โครงการสอนศิลปะ

- โครงการช่วยทำนา

- โครงการดูแลคนป่วยและคนชรา

ใน ทำนองเดียวกัน บริษัทอย่างเช่น Mitsubishi ก็มีโครงการอาสาสมัครคล้ายๆ กัน คือ หาผู้สมัครมาช่วยเหลืองานชุมชนต่างๆ เช่น งานทำความสะอาดชุมชน งานบริจาคเสื้อผ้า หรือการให้สมาชิกของชุมชนมาใช้อุปกรณ์ หรือสถานที่ของบริษัทใน วันหยุด เช่น ใช้ห้องประชุมเพื่อจัดกิจกรรมสำหรับเด็กหรือคนชรา ใช้ห้องออกกำลังกายสำหรับสมาชิกทั่วๆ ไปของชุมชน ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อค้นคว้าหาความรู้ เป็นต้น

บริษัทที่สนใจ CSR รอบรั้วบ้านอย่างจริงจังคงจะได้แก่ บริษัท Kroger ที่เป็น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแถบ Mid-west ของอเมริกา ในปี 2005 Kroger ใช้เงินในกิจกรรมที่เรียกว่า "จากเพื่อนบ้านถึงเพื่อนบ้าน" ถึง 142 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 5 พันล้านบาท เงินที่ใช้ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากบริษัทของ Kroger โดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเงินบริจาคของลูกค้าที่มาช็อปปิ้งในร้านของ Kroger ด้วย เงินเหล่านี้แหละที่ Kroger นำไปช่วยเหลือโรงเรียนท้องถิ่นกว่า 25,000 โรงเรียน

ช่วยเหลือโครงการอาหารสำหรับคนยากจน ช่วยเหลือโครงการเยาวชนในชุมชน โครงการกุศลและโครงการต่างๆ ที่องค์กรเอกชน (NGOs) ต้องรับภาระในการดูแลช่วยเหลือสังคม

ลองมาดูว่าคุณค่า (value) ของบริษัท Kroger สะท้อนสิ่งที่บริษัททำและทุ่มเทให้กับธุรกิจและให้กับสังคมหรือไม่ คุณค่า (value) ของ Kroger มี 6 ข้อ คือ

1. Honesty : ซื่อสัตย์ สุจริต

2. Integrity : Living our Values in all we do รักษาเกียรติ ใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับ

ค่านิยมในทุกอย่างที่เราทำ

3. Respect for others : เคารพผู้อื่น

4. Diversity : เคารพความแตกต่างของบุคคล

5. Safety : ดูแลทุกคนให้ปลอดภัย

6. Inclusion : ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกสิ่ง

บริษัทที่รักษาคุณค่าของบริษัทไว้อย่างดี ก็จะได้พนักงานที่ดีและมีคุณค่ากับบริษัท

การ ที่จะมองหางาน CSR รอบรั้วบ้านนั้นไม่ยาก เพราะสังคมไทย ยังมีอะไรใกล้ๆ ตัวที่จะต้องการการยื่นมือเข้ามาช่วย เข้ามาร่วมรับผิดชอบอยู่เสมอ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เราอยู่ใกล้ชายทะเลที่สมุทรปราการ เราจึงมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการ

อนุรักษ์ชาย ฝังทะเล ดังนั้นพนักงาน พันธมิตรธุรกิจ และลูกค้าของศูนย์ จึงร่วมใจกันออกไปปลูกป่าชายเลนที่บางปู ป่าชายเลนที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ชายฝั่งทะเลและในการช่วยอภิบาลสัตว์น้ำต่างๆ ในทะเลของเรา เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ป่าชายเลน 2.2 ล้านไร่ของประเทศไทย ถูกทำลายลงไปกว่า 50% เหลือเพียงประมาณ 1 ล้านไร่ ในปัจจุบัน เราคงจะต้องใช้ความพยายามอีกมาก กว่าที่จะคืนสภาพป่า ชายเลนให้กลับมาเหมือนเดิม

การออกไปทำงาน CSR แบบนี้ค่อนข้างจะเหนื่อยและต้องการความเสียสละอยู่มาก แต่ผลที่ได้รับนั้นค่อนข้างจะคุ้มค่า พนักงานได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรธุรกิจ กับลูกค้าขององค์กร ทำให้เกิดความเข้าใจกันให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันหลายๆ ประการ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนเกิดจิตสำนึกร่วม ที่จะทำความดี ทำประโยชน์ให้กับสังคมให้กับองค์กร เกิดภาพลักษณ์และความรู้สึกดีๆ กับตนเอง เกิดความเป็นทีม ความเป็นหนึ่งเดียว ความมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ

CSR เริ่มได้ง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ แต่ก็จะต้องหาวิธีที่จะสานให้ยั่งยืนและเกิดคุณค่ามากกว่านี้อีก

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: