วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เปิดผลท็อป 20 CSR ไทย ข่าวดี-ข่าวร้าย ว่าด้วย "การเปิดเผยข้อมูล"



" การเปิดเผยข้อมูล" ถูกนำมาเป็นโจทย์ของ CSR Asia ผู้ให้บริการด้านข้อมูล การฝึกอบรม การทำวิจัยและการให้คำปรึกษาด้าน CSR ชั้นนำในเอเชีย ในการสำรวจและจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน "ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร" (CSR) ในเอเชียซึ่งเพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ และเชื่อด้วยว่าเรื่องการเปิดเผยข้อมูลถือเป็นความจำเป็นยิ่งในปัจจุบันที่ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อนและความหวาดระแวงของประชาชนที่มีต่อความเชื่อถือสินค้าต่างๆ

" เราเชื่อว่า CSR ที่ดีก็คือการมีธรรมา ภิบาลที่ดี การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เราจึงเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลถือเป็นส่วนสำคัญของการที่จะเป็นบริษัทที่มี ความรับผิดชอบต่อสังคม" "ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด" ประธาน CSR Asia บอกเหตุผลถึงที่มาที่ไปในการจัดอันดับครั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลจากกว่า 700 องค์กรซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทใน 6 ด้าน คือ 1.นโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัท 2.กลยุทธ์ CSR และการสื่อสาร 3.ตลาดและซัพพลายเชน 4.สถานที่ทำงานและพนักงาน 5.สิ่งแวดล้อม 6.การลงทุนในชุมชนและการพัฒนาสังคม

เปิดเผยข้อมูลไทยยังล้าหลัง

ข่าวดี ก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั้งหมดไทยนั้นก้าวแซงหน้า "สิงคโปร์" ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน CSR และมีบริษัทไทยอย่าง "บมจ.ซิเมนต์ไทย" ที่ก้าวเป็น 1 ใน 10 บริษัทในเอเชีย โดยบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงถือเป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย 42% ในขณะที่มาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ย 29% 25% และ 24% ตามลำดับ

แต่ข่าวร้ายก็คือ การเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรของไทยในภาพรวมไม่เพียง ยังห่างกับประเทศอย่างฮ่องกงและมาเลเซีย แต่การเปิดเผยข้อมูลของไทยส่วนใหญ่ยังทิ้งห่างแทบไม่เห็นฝุ่นและมีช่องว่าง จากบรรดาบริษัทที่ติดอันดับท็อปเทนในเอเชีย



โดย ผลการศึกษาครั้งนี้ได้จัดอันดับในระดับภูมิภาคเอเชีย พบว่าบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับแรก ได้แก่ "ไชน่า ไลต์ เพาเวอร์" และ "เอชเอสบีซี" ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่มีคะแนนการเปิดเผยข้อมูล CSR เท่ากันโดยสูงถึง 97% และเป็นที่น่าสังเกตว่าใน 5 อันดับแรกของบริษัทในเอเชียนั้นล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ฮ่องกงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลำดับ 3 ไชน่า โมบิล ลำดับ 4 ฮั่งเส็งแบงก์ และลำดับ 5 ปิโตรไชน่า ขณะที่บริษัทไทยมีเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ คือ บมจ.ซิเมนต์ไทย โดยอันดับ 7 คือ ซิตี้ ดีเวลอปเมนต์ ในสิงคโปร์ อันดับ 8 เอ็มอาร์ที ฮ่องกง อันดับ 9 บีเอที มาเลเซีย และอันดับ 10 มีคะแนนเท่ากัน 2 แห่ง คือ เซมป์คอร์ป อินดัสทรี่ สิงคโปร์ และ เทเลคอม มาเลเซีย

"เราคงไม่ แปลกใจที่บริษัทซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนั้นมีคะแนนที่ทิ้งห่าง เพราะความแข็งแกร่งของตลาดที่มีมายาวนาน แต่ที่น่าสนใจก็คือ มาเลเซีย ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ที่นั่นมีการส่งเสริมเรื่อง CSR และพยายามพัฒนาการทำ CSR อย่างมีกลยุทธ์ รวมทั้งการพัฒนามุมมอง CSR ให้กับบริษัทที่จดทะเบียน ทำให้เราเห็นบริษัทในมาเลเซียก้าวหน้ามากขึ้น" เวลฟอร์ดตั้งข้อสังเกต

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมาดูผลการจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูล CSR ของไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 2.บมจ. ปตท.สำรวจและผลิต 3.บมจ. ปตท. 4.บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น 5.บมจ.ไทยออยล์ 6.บมจ.บ้านปู 7.บมจ.ผลิต ไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง 8.บมจ.ท่าอากาศยานไทย 9.บมจ.กรุงไทย 10.บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา นั้นช่องว่างในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่อยู่ในอันดับแรกที่ได้คะแนน 70.2% ขณะที่บริษัทในลำดับ 20 ของไทยได้คะแนนเพียง 11.3%

ต้องเน้นที่การกระทำ

" อเล็กซ์ มาโวร" หุ้นส่วนบริหาร โซเชียล อิมแพ็ค เวนเจอร์ เอเชีย ที่ปรึกษาด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งติดตาม CSR ในไทยมายาวนานให้มุมมองจากผลการจัดอันดับครั้งนี้ว่า "ถ้าดูชื่อบริษัทเราจะไม่น่าแปลกใจเลย แต่ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นมุมมองเพียงเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ไม่ใช่มุมมองในทางปฏิบัติ ซึ่งผมคิดว่าการตั้ง ข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เรื่องนี้จำเป็นต้องมีด้วยเช่นกัน"

สอด คล้องกับสิ่งที่ "สิริลักษณา คอมันตร์" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นว่า "การเปิดเผยข้อมูลอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องมองในเรื่องการกระทำของบริษัทด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบางครั้งพฤติกรรมจริงกับการรายงานอาจจะต่างกันมากเลย ถ้าเอาเครื่องมือนี้ไปวัดเอ็นรอนในช่วงก่อวิกฤตก็เชื่อว่าผลจะออกมาดีมากๆ แต่เขาไม่ได้เปิดเผยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรายงานนั้น ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างการเปิดเผยข้อมูลกับพฤติกรรมจริง แต่ถ้าดูเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลในมิติเดียว ที่น่าสังเกตก็คือในบ้านเราธนาคารแทบจะไม่ติดอันดับท็อปเทนเลย ทั้งๆ ที่การเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินเป็นสิ่งสำคัญมาก"

ในฐานะหน่วย งานที่เป็นผู้จัดอันดับครั้งนี้ "เอริน ลีออน" กรรมการบริหาร CSR Asia กล่าวว่า มีบริษัทจำนวนหนึ่งในไทยที่ทำได้ดีมาก อย่างไรก็ตาม เห็นว่าบริษัทยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อปรับปรุงในแง่ของความโปร่ง ใส และการเปิดเผยข้อมูล ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตามองถึงความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในการ จัดอันดับครั้งต่อไป

แนะ ตลท.-ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์

ประเด็นเรื่อง ของ "ความโปร่งใส" และ "การเปิดเผยข้อมูล" จึงเป็นอีกประเด็นที่ท้าทายทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรธุรกิจไทยใน อนาคต

"สฤณี อาชวานันทกุล" นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า "แม้ว่าเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย จะไม่ได้ย่ำแย่เสียทีเดียว ในทางกลับกันมาตรฐานบางอย่างในการเปิดเผยข้อมูลระหว่างทางนั้นเข้มงวดมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ เพียงแต่เรายังไม่มีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับทัศนคติ CSR อย่างแท้จริง"

พร้อมทั้งอธิบายว่า "ทุกวันนี้เรามอง CSR เป็นการส่งเสริมการทำเรื่องดีๆ และมองในเชิงกิจกรรมมากกว่า ซึ่งปัจจุบันประเทศที่จริงจังกับ CSR มีการใช้กรอบรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (GRI) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการจัดทำรายงานที่ซีเรียสกว่ารายงานประจำปีที่บริษัทไทย ทำอยู่ ดังนั้นถ้าเกิดตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ เห็นว่า CSR เป็นเรื่องสำคัญและทุกบริษัทต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วน เสีย (steakholders) กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลก็ต้องสะท้อนการให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วน เสีย และสามารถเริ่มต้นด้วยการแก้ไขเกณฑ์ บางอย่าง เช่น การกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลจากเดิมที่ต้องเปิดเผยเฉพาะเมื่อมีคดีพิพาทมา เป็นการเปิดเผยข้อพิพาท รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น"

เพราะ "สฤณี" ยังเชื่อว่าประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้เป็นเพียงการเปิดเผยสถานะและ ความโปร่งใส แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะมีกลไกทางอ้อมที่จะทำให้บริษัทต้องจัดการ ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีข้อพิพาท

ก็ต้องพูดถึงวิธีการบริหาร จัดการกับข้อพิพาทนั้น และถ้าเขาไม่เคยมีวิธีการบริหารจัดการมาก่อน มันก็เป็นการบังคับให้เขาต้องคิดและมีกระบวนการในการบริหารจัดการปัญหาในที่ สุด"

ซึ่งนั่นเป็นความรับผิดชอบที่แท้จริงที่องค์กรต้องดำเนินการต่อผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าเรื่องดีๆ บนหน้ากระดาษ !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01031151&day=2008-11-03&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: