วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เกาะติดเวที CSR Asia ยิ่งวิกฤต CSR ยิ่งจำเป็น



จำนวน คนเข้าร่วมงานซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ และเอ็นจีโอ กว่า 350 คน ที่บินตรงมาจากทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย เพื่อเข้าร่วมงานการประชุมสุดยอด CSR Asia ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "ก้าวต่อไปของความ รับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจขยายวงความร่วมมือด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวด ล้อมและสังคม" นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมทั้งยังเป็น ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะทั้งวิกฤตทางการเงินที่รุมเร้า รวมไปถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในไทย เพียงแต่น่าเสียดายว่า เวทีนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้ฟังชาวไทยมากนัก

เสียงสะท้อนจากบนเวทีเปิดการประชุม ที่ว่า "ท่ามกลางภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR ยิ่งทวีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" ย่อมเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เพราะเหตุใดคนจากทั่วทุกทวีปจึงยังคงให้ความสนใจกับเรื่องนี้ แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤตที่คาดว่าหลายบริษัทจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ ไม่จำเป็น

อย่างที่ ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด ประธาน บริษัท CSR Asia กล่าวว่า "บริษัทที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้าน CSR ที่มีคุณค่าจะสามารถเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่าบริษัทที่ละเลยความ สำคัญของการดำเนินการด้าน CSR"

เช่นเดียวกับที่ "เอิร์นเนส หว่อง" ผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในสายการผลิตจาก ฮิวเลตต์-แพคการ์ด กล่าวว่า การทำ CSR ที่ดีย่อมมีผลต่อกำไรของบริษัท และย้ำว่า การตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจ

ผล จากการดำเนินการด้าน CSR ของ โคคา-โคลา ซึ่งให้ความสำคัญของการจัดการน้ำอย่างสมดุล เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า CSR เข้าไปมีส่วนช่วยธุรกิจได้อย่างไร โดยความรับผิดชอบของโคคา-โคลา ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะลดการใช้น้ำ สร้างความหมุนเวียนน้ำจากแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง "เกร็ก โคช" กรรมการผู้จัดการ Global Water Stewardship ของโคคา-โคลา กล่าวว่า "ในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ ทั่วโลกด้านเครื่องดื่ม การใช้น้ำอย่างมีความรับผิดชอบมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการผลิตของเรา"

ใน งานนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับบริษัทในเอเชียของ CSR Asia โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า barometer ในการวัดการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรธุรกิจที่มีต่อการแสดงความรับผิดชอบต่อ สังคม (ดูรายละเอียดย้อนหลังได้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 3-พุธที่ 5 พฤศจิกายน 2551) แง่มุมหนึ่งของการจัดอันดับครั้งนี้สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจในเอเชีย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการเปิดเผยข้อมูลทั้ง 6 ด้าน ตั้งแต่นโยบายและแนวปฏิบัติ กลยุทธ์ CSR และการสื่อสาร ตลาดและซัพพลายเชน สถานที่ทำงานและพนักงาน สิ่งแวดล้อม และการลงทุนในชุมชนและการพัฒนาสังคมแล้ว จะเห็นว่าในประเด็นด้านซัพพลายเชน สถานที่ทำงานและ พนักงานนั้นอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเรื่องอื่น

"เวลฟอร์ด" สะท้อนผ่านการนำเสนอของเขาด้วยการนำรูปแรงงานทาสและแรงงานเด็ก "เราจะมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าธุรกิจเราไม่ได้มีส่วนในการส่งเสริมเรื่อง เหล่านี้ แต่เรื่องยากก็คือส่วนใหญ่ธุรกิจมักจะไม่สามารถเข้าถึงคนที่อยู่ปลายทางได้ อย่างแท้จริงนอกจากบริษัทที่รับงานซึ่งติดต่อด้วย"

ซึ่งทำให้วันนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินไปพร้อมกับการดูแลซัพพลายเชน ทั้งในแง่ของความรับผิดชอบในการดำเนินธุกริจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการสร้างส่วนร่วมกับพนักงาน การให้ความสนใจเรื่องการได้มาซึ่งแรงงาน รวมไปถึงการพัฒนาและการขยายโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน

ทิศ ทางและแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับ CSR ที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงตลอดทั้ง 2 วันของการประชุมกว่า 24 หัวข้อ ยังให้น้ำหนักในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจกับการลดปัญหาโลกร้อน ธุรกิจกับการขจัดปัญหาความยากจน การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร (stakeholders engage ment) แนวโน้มการเติบโตของผู้ประกอบการทางสังคม (social enterprise) ฯลฯ

ใน ด้านปัญหาธุรกิจกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อน แมคเคนซีย์รายงานว่า หัวใจสำคัญของการลดภาวะโลกร้อนคือความเร็ว โดยหากจะทำให้การแก้ปัญหานี้ได้ผล จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอย่างน้อยสามเท่า และปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะมีส่วนในการส่งเสริมเรื่องนี้แต่ก็เป็นไปในลักษณะ ที่ช้าเกินไป อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่น่าสนใจในวันนี้ก็คือบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในเอเชีย กำลังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ด้านการปล่อยก๊าซที่ส่งผลกับภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้น

อย่าง ไรก็ตาม เมื่อการเปิดเผยข้อมูลได้รับความสนใจ ในวันนี้ "เคพีเอ็มจี" ได้ศึกษา และพบว่าปัจจุบันมีบริษัทที่ทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมี มากขึ้น โดยจากการสำรวจ 250 บริษัท พบว่ามีถึง 83% เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีบริษัทที่จัดทำรายงานเพียง 52% เท่านั้น โดยปัจจุบันเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีการทำรายงานเพื่อความยั่งยืน เป็นสัดส่วน 8% ของการทำรายงานทั่วโลก โดย 25% ของทั้งหมดใช้แนวทางของ GRI (global reporting initiative)

นั่นเป็นแนวโน้มที่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของบริษัทในเอเชียที่มีต่อ CSR

แต่ หากเจาะลึกเฉพาะในเรื่องโครงการเพื่อสังคม การขับเคลื่อนขององค์กรส่วนใหญ่ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมักทำงานใน ลักษณะการเป็นพันธมิตรกับเอ็นจีโอ ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหานั้นๆ ผ่านประเด็นการแก้ไขปัญหาความยากจน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยแต่ละองค์กรมี เป้าหมายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นซิตี้ ที่ทำงานร่วมกับ "เดอะ ฟาวเดชั่น ฟอร์ ดีเวลอปเมนต์" ในการทำเรื่อง "ไมโครไฟแนนซ์" เพื่อจะแก้ไขปัญหาความยากจน แบ่งโครงการเป็น 2 ประเภทอย่างชัดเจน คือการทำเพื่อหวังผลกำไร และการให้แบบการกุศล ขณะที่ เมอร์ค ประเทศไทย ซึ่งทำงานร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ไม่เพียงจะใช้รูปแบบพันธมิตรในการร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน แต่ยังใช้หลักการในการประสาน จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กร ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในวงสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ว่า ด้วยการประเมินผลการลงทุนในชุมชน มีประเด็นหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นว่า การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนนั้นส่งผลดีหรือส่งผลลบกับภาพลักษณ์ของบริษัท หลายคนมองว่าเป็นภาพลบ หากบริษัททำด้วยความไม่จริงใจและหวังเพียงเอาหน้าอย่างเดียว ในขณะที่อีกมุมหนึ่งมองว่า กิจกรรมเพื่อสังคมจะช่วยบริษัทสร้างภาพบวกหรือลบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของ บริษัทนั้นๆ มากกว่า

เหล่านี้เป็นความจริงมุมหนึ่งที่สะท้อนจากคนใน วง CSR และเป็นมุมมองอีกด้านที่สะท้อนว่า CSR เป็นมากกว่ากระแส แฟชั่น และถึงวันนี้เป็นเรื่องธุรกิจต้องดำเนินการอย่างจริงจังและจะเป็นตัวช่วย ก้าวผ่านวิกฤตอย่างยั่งยืน

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03101151&day=2008-11-10&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: