วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ตื่นรับกระแส "จิตอาสา" เสริมทัพ CSR ด้วย "คน"




ถ้าไม่ม ีโครงการ "Ford Global Week of Caring" ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ฟอร์ดทั่วโลกจะออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างพร้อมเพรียง มุก "จุฑามณี วณิชนิรามัย" เจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัทฟอร์ดโอเปอร์เรชั่น คงไม่ได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมตามประสามนุษย์เงินเดือนและคนเมืองทั่วไป เธอบอกว่า "อยู่กรุงเทพฯไม่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคม วันๆ ก็ทำงาน เดินห้าง กลับบ้านดึก ดูโทรทัศน์ โดยส่วนตัวที่ผ่านมาแม้จะเห็นบริษัททำกิจกรรมเพื่อช่วยสังคมด้านต่างๆ หลายโครงการ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกลึกซึ้งอะไร"

แต่ความคิดก็เริ่ม เปลี่ยนไป เพราะเธอได้มีโอกาสลงมาเป็นอาสาสมัครในกิจกรรม "ฟอร์ดอาสาสร้างแคมป์เฮาส์ส่งเสริมการศึกษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเกาะมันใน" ซึ่งจัดขึ้นไม่นานมานี้ ที่ทำให้รู้สึกว่าการได้มีส่วนร่วมทำให้ได้เห็นประโยชน์จริงๆ ในกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทดำเนินการ และบอกด้วยว่า "การมาเห็นปัญหากับตาและการมีส่วนร่วมน่าจะทำให้กิจกรรมเพื่อสังคมนั้นประสบ ความสำเร็จมากกว่าการรับรู้ หรือการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียว"

และ นี่เป็นเป้าหมายที่ "ฟอร์ด" พยายามจะสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยส่งเสริมให้พนักงานออกไปเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือชุมชนรอบๆ โรงงาน และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถลาหยุดไปทำงานอาสาสมัคร 2 วันโดยไม่คิดเป็นวันลา เช่นเดียวกับหลายองค์กรในปัจจุบัน

พัฒนาการกิจกรรม "อาสาสมัคร"

แม้ ว่ากิจกรรม "อาสาสมัครพนักงาน" (employee volunteer) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่าความตื่นตัวของหลายองค์กรในปัจจุบันถือเป็นย่างก้าวของการ พัฒนารูปแบบกิจกรรมอาสาสมัครพนักงาน ที่อาจจะเคยเป็นกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีการประเมินผล มาสู่การดำเนินกิจกรรมอาสาสมัครพนักงานที่สอดคล้องและเชื่อมโยงไปกับกิจกรรม เพื่อสังคมของบริษัท และกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility : CSR) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

และเป็นเหตุผลที่ทำให้ปีนี้ เกิดความ ตื่นตัวขององค์กรในการเข็น "กิจกรรมอาสาสมัครพนักงาน" ออกมาสู่สายตาสังคมอย่างพร้อมเพรียง

อย่าง "ดีเอชแอล" ยักษ์ใหญ่ผู้ให้ บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งแม้จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมมายาวนาน รวมถึงมีทีมอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ DRT (disaster response team) ที่ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้าน โลจิสติกส์ไปบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ "ดีเอชแอล" ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงไทย จัด "วันดีเอชแอลอาสา" (DHL Volunteer Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย มีการระดมอาสาสมัครกว่า 500 คนไปร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ที่วัดโบสถ์วรดิษฐ์ จ.อ่างทอง ที่รับอุปการะเด็กชาวเขาไว้ในความดูแลถึง 400 คน และบ้านเด็กอ่อนรังสิต จ.ปทุมธานี

"สตีฟ แดเนียล" ประธานอาวุโสประจำเอเชียใต้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน ของดีเอชแอล เอ๊กเซลซัพพลายเชน กล่าวว่า "เป้าหมายหนึ่งของวันดีเอชแอลอาสา คือการสร้างแรงจูงใจในการเป็นอาสาสมัครทีละเล็กทีละน้อยให้กับพนักงาน จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันเดียวให้กลายเป็นการอาสาสมัครในระยะยาว"

ซึ่ง นั่นหมายถึงปลายทางในการสร้างวัฒนธรรมอาสาสมัครภายในองค์กร ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในชุมชน และเดินตามแนวทางการส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม ซึ่งเป็นคุณค่าหลักประการหนึ่งขององค์กร ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม ชุมชน และพนักงาน และเป็นการทำให้กลยุทธ์ CSR ขององค์กรมีความแข็งแกร่งขึ้น

ตั้งเป้าหมายและวิธีปฏิบัติให้ชัด

การ ให้น้ำหนักกับการ "มีส่วนร่วมของพนักงาน" ในการรับผิดชอบต่อสังคม จึงกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของหลายต่อหลายองค์กรที่เชื่อว่าไม่เพียงแต่จะ พัฒนาคนในองค์กร ขณะเดียวกันยังเป็นการทำให้กิจกรรม CSR ที่องค์กรดำเนินการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยนำความรู้ความเชี่ยวชาญของพนักงานที่แต่ละองค์กรมี ไปสร้างคุณค่าที่เพิ่มมากขึ้นให้กับกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทได้ดำเนิน การอยู่

บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเป้าหมายเรื่องนี้อย่างชัดเจน หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างและก่อตั้งฝ่าย CSR ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ "เทวิน สนงาม" ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Manager) บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด กล่าวว่า "กลยุทธ์ CSR ที่เราวางไว้ หนึ่งในนั้นคือการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ดังนั้นในการดำเนินการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จึงมี KPI ที่จะเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จเรื่องนี้ โดยในปี 2551 นี้เราตั้งเป้าว่าพนักงานจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคมของ บริษัทให้ได้ 50% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 2,500 คน"

สารพัดวิธีจึง ถูกหยิบมาใช้เพื่อจะกระตุ้นในพนักงานได้มามีส่วนร่วมเป็น "อาสาสมัคร" โดยเริ่มตั้งแต่การให้ทุกแผนกเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะทำงาน และอำนวยความสะดวกโดยการจัดกิจกรรมให้พวกเขาทำ ทั้งยังมีการตั้งชมรมอาสาสมัครในองค์กรด้วย

"ตอนนี้พนักงานที่จะเข้ามาทำงาน เราพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยในค่ายปฐมนิเทศจะมีการจัดเวลาให้มีโอกาสได้ทำกิจกรรม

อาสา สมัครเพื่อสังคม มากกว่านั้นยังพยายามส่งเสริมโดยยกย่องกลุ่มคนที่เข้าร่วม โดยนอกจากจะมีการสะสมคะแนนทุกครั้งที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำไปแลกของสะสม เล็กๆ น้อยๆ บริษัทในกลุ่มบริษัทไหนที่มีพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด จะได้รับรางวัลจากประธานบริษัท"

น่าสนใจที่ว่าการใส่ใจในเรื่องราย ละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของฝ่าย CSR ทำให้แม้ว่าจะยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนที่จะจบปี แต่ตอนนี้จากการเก็บสถิติมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 47% และนั่นหมายถึงโอกาสที่จะเดินไปถึงเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ไม่ใช่เรื่องยาก

ต่างองค์กร ต่างเป้าหมาย

ใน ภาพกว้าง ประโยชน์ที่ได้จาก "อาสาสมัครพนักงาน" คือ การพัฒนาคนในองค์กรควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม แต่หากสแกนดูความเคลื่อนไหวในปัจจุบันองค์กรธุรกิจไทย "กิจกรรมอาสาสมัคร" ยังมีเป้าหมายในเชิงลึกที่แตกต่างกันไป อาทิ การใช้กิจกรรมอาสาสมัครพนักงานสร้างภาวะผู้นำ ของไพรซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมจริยธรรมพนักงาน ของธนาคารเกียรตินาคิน การใช้กิจกรรมอาสาในการสร้างทีมเวิร์กของฟอร์ด การสร้างความพึงพอใจให้พนักงานของบริษัท เมอร์ค ประเทศไทย หรือการใช้กิจกรรมอาสาในการสร้างความจงรักภักดีกับองค์กรของพนักงานในระยะ ยาว ของ "ดีเอชแอล" ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทย ฯลฯ ขึ้นอยู่กับลักษณะองค์กรและขึ้นอยู่กับเป้าหมาย

ส่วนองค์กรที่จะทำ กิจกรรมอาสาสมัครพนักงานจะเลือกประเด็นอย่างไรนั้น จากการสำรวจแนวทางการทำงาน "อาสาสมัครพนักงาน" ในไทยส่วนใหญ่ขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงานพบว่า การเลือกจะทำอาสาสมัครในกิจกรรมใดจะมาจาก 2 ทาง ทางหนึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทให้ความช่วยเหลือ อยู่แล้ว เช่น การนำพนักงานไปให้ความรู้การทำบัญชีครัวเรือนของสถาบันการเงิน การสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนห่างไกลของผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ และอีกทางหนึ่งมาจากการนำเสนอของพนักงาน ซึ่งมีการนำเสนอผ่านกลุ่ม ชมรมอาสาสมัครที่องค์กรตั้งขึ้น หลายองค์กรยังมีการเปิดช่องทางการสื่อสารให้พนักงานสามารถเสนอโครงการเพื่อ สังคม ในประเด็นปัญหาที่เห็นว่าสำคัญและไปพบเจอมาอีกด้วย ฯลฯ

อย่าง ไรก็ตามความตื่นตัวขององค์กรในวันนี้ยังตอบโจทย์ สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการขับเคลื่อน CSR ในองค์กร อย่างที่ "นิศานาถ โยธาสมุทร" ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายธนาคารชุมชน บมจ.ธนาคารกรุงไทย หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อน "ชมรมกรุงไทยอาสา" กล่าวไว้ว่า "การจะขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้อย่างแท้จริง ต้องเริ่มจากคน การที่องค์กรจะบริจาคหรือทำโครงการอย่างเดียวก็แค่นั้น แต่ถ้าพนักงานทั้งหลายไปทำงานเหล่านี้ด้วยตัวเอง ด้วยใจ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนที่พอจะตอบได้ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับ เรื่องนี้จริง หรือเพียงแค่ทำตามกระแส" !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่
13 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01131051&day=2008-10-13&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: