วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"กรุงไทยอาสา" 6 เคล็ดลับ จุดพลัง "จิตอาสา" ในองค์กร



แม้ การดำเนินกิจกรรม "อาสาสมัครพนักงาน" จะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่สามารถลอกเลียนกันได้ แต่กรณีศึกษารูปแบบกิจกรรม "อาสาสมัครพนักงาน" ของ "ธนาคารกรุงไทย" นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ "อาสาสมัคร" จะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกและออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง โดยธนาคารให้การสนับสนุนเพียงบางส่วน แต่เพราะเหตุใด "ชมรมกรุงไทยอาสา" ถึงสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ในระยะเวลาใกล้เคียงกับการปรับกระบวนทัพเรื่อง CSR ของธนาคาร ที่เรียกว่า CSER (corporate social environment responsibility : CSER) และระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุหลักพัน

"นิศานาถ โยธาสมุทร" ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายธนาคารชุมชน บมจ.ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า

"ถ้าดูจากการประเมิน ผล เราพบความจริงข้อหนึ่งว่า พนักงานส่วนใหญ่อยากไปทำงานอาสาเพื่อสังคม แต่ไม่รู้จะไปที่ไหนและไปกับใคร แต่การที่เราทำเองเหมือนโอกาสที่มาใกล้ตัวเขา การสื่อสารระหว่างกันก็ง่าย"

ทุก วันนี้เพียงเวลาไม่ถึงครึ่งวัน หากมีการสื่อสารออกไปว่า จะมี "กิจกรรมอาสาสมัคร" จำนวนอาสาสมัครจะเข้ามาลงทะเบียนกว่า 40-50 คนในทันที เหตุนี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่ใจของ "อาสาสมัคร" เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่เคล็ดลับในการดำเนินกิจกรรม "อาสาสมัคร" ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การลงพื้นที่แต่ละครั้งมีเสน่ห์ และทำให้เกิดทั้งแฟนพันธุ์แท้ที่ไปร่วมทุกกิจกรรมอย่างเหนียวแน่นแทบทุก ครั้ง และกำลังขยายวงออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

และนี่คือ 7 เคล็ดลับบนก้าวเดินแห่งความสำเร็จ ที่สามารถสรุปได้จากการพูดคุยกับหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ "ชมรม กรุงไทยอาสา" ในระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง

1.ให้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ

แม้ ว่าในทางทฤษฎี ในการทำกิจกรรม CSR มักจะบอกว่า กิจกรรม CSR ที่ดีย่อมต้องใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นหลัก เรื่องนี้จากประสบการณ์ "นิศานาถ" บอกว่า "เขาบอกว่า CSR ต้องใช้สิ่งที่เรามีอยู่ หรือสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ คนแบงก์ก็ต้องไปสอนเรื่องการเงิน เรื่องบัญชีให้คนอื่น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะบางทีคนแบงก์ก็เบื่อ เพราะบางคนทำงานมา 20 ปี ก็มีแต่เรื่องตัวเลขตลอดชีวิต เขาก็อยากทำเรื่องอื่นบ้าง"

ดังนั้นใน กิจกรรมเพื่อสังคมที่ระดมอาสาสมัครไปทำงาน ก็พยายามใส่รวมทั้ง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน เรื่องหนึ่งคือเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ อีกเรื่องคือสิ่งที่อาสาสมัครอยากทำ

"เราจึงพยายามผสานหลายเรื่องทุก ครั้งที่ลงพื้นที่ ตอนนี้เรามีธนาคารชุมชน ธนาคารโรงเรียน เราก็เอาพนักงานไปสอนเรื่องบัญชี เรื่องการเงินก่อน จากนั้นก็ค่อยมาปลูกป่า ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ทางกายภาพในเรื่องการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันยังได้เรื่องความรู้สึก นึกคิด และจิตใจ"

2.สร้างแรงบันดาลใจ

เพราะ เชื่อว่าการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเริ่มทำในสิ่งที่เขาอยากทำ จะนำมาสู่การสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่ง "นิศานาถ" เชื่อว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์

"เราต้องเข้าใจว่า มนุษย์เราไม่ว่าอยู่ในระบบใดก็ตาม เราต้องให้โอกาสเขาเกิดแรงบันดาลใจก่อน ซึ่งเป็นขั้นของคน เพราะการทำงานทุกวันก็มีเส้นของคำว่าต้องทำอยู่แล้ว งานแบบนี้จึงไม่มีสิ่งที่บอกว่าต้องทำ และนี่เป็นสิ่งสำคัญในการจัดทำโครงการ เพราะเมื่อเขารู้สึกดี เขาก็จะอยากทำงานอาสาแบบนี้ไปเรื่อยๆ"

แต่กว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางเช่นนั้นได้ ในกระบวนการของการทำโครงการต้องใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะการคัดเลือกพื้นที่

3.เลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ

เรื่อง นี้เป็นสิ่งที่ "นิศานาถ" ย้ำว่า "เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราไม่ใช่นักพัฒนามืออาชีพ เวลาเราลงพื้นที่ก็ต้องเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพและทำให้อาสาสมัครได้มี โอกาสเรียนรู้ โดยเราสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริมชาวบ้านได้ด้วย"

" สิ่งนี้เราเรียนรู้ได้จากกิจกรรมแรก ที่เราไปปลูกป่าชายเลนที่บ้านเป็ดใน จ.ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครั้งแรกพาอาสาสมัครลงไป ก็ไม่แน่ใจว่าคนแบงก์จะรับได้มั้ยที่ต้องไปนอนโฮมสเตย์ แต่ปรากฏว่าเวลาดูใบประเมินผล จะเห็นว่าเขาชอบโฮมสเตย์ที่สุด เพราะนอกจากไปปลูกป่า เรายังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้าน มีคนหนึ่งบอกว่า เขาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากประสบการณ์จริงเป็นครั้งแรก จากชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาก็ได้แต่อ่านจากหนังสือ"

และแทบทุกครั้ง ของการลงพื้นที่ จะนำมาสู่การต่อยอดขยายผลโครงการใหม่ๆ ที่วันนี้มีตั้งแต่กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรม "อาสาสร้างความสุขเสริมความรู้ให้แก่ผู้อยู่ในถิ่นห่างไกลและผู้ด้อยโอกาส" เช่น ค่ายสอนภาษาอังกฤษเพื่อมัคคุเทศก์น้อย รวมไปถึงโครงการ "ธนาคารโรงเรียนและอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อม"

4.สร้างสมดุลความต้องการของชุมชนและอาสาสมัคร

" อย่างที่เราลงไปพื้นที่ครั้งแรก เนื่องจากเขาเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เขามีคนมาดูงานมาก จึงต้องการให้เราไปสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ จึงเป็นที่มาของโครงการใหม่ๆ ฉะนั้นเราต้องดูความต้องการของชุมชน พร้อมไปกับความต้องการของอาสาสมัคร"

5.ความสนุกก่อให้เกิดพลัง

เสน่ห์สำคัญที่ทำให้สมาชิกของชมรมวันนี้เสพย์ติดงานอาสา เพราะทุกกิจกรรมแม้จะลำบากแต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

" ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราพบ แม้ผู้บริหารจะให้ความสำคัญและเข้าใจ แต่ยังมีคนบางส่วนในองค์กรไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำ บางคนบอกว่าเราไปเที่ยว ก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจและให้กำลังใจกับอาสาสมัคร เราก็บอกว่าถ้าไปเที่ยวแล้วได้ทำสิ่งดีๆ และสนุกด้วย ก็ไม่เห็นแปลก ทำไมการทำสิ่งดีๆ แล้วต้องไม่สนุก จริงๆ การได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมแบบนี้ทำให้ชีวิตครบรส งานสังคมเป็นการเติมพลังและทำให้ชีวิตสมดุล มากกว่าแค่วนอยู่กับชีวิตการทำงานและใช้ชีวิตอยู่เพียงด้านเดียว"

6.การมีส่วนร่วมในเชิงลึก

นี่ เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้จะต้องจ่ายเงินส่วนตัวในการไปทำกิจกรรมอาสาสมัคร แต่ทุกๆ เดือนที่มีกิจกรรมก็ยังมีอาสาสมัครจำนวนมากต่อคิวที่พร้อมจะลงพื้นที่เสมอ

" มีคนบอกเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ของบประมาณสนับสนุนมากๆ จากแบงก์ ถ้าได้ก็เป็นเรื่องดี แต่สำหรับเรา เรามองว่าเหตุที่เราต้องหาเงินด้วยตัวเองและต้องพยายามยืนบนขาตัวเองนั้น เพราะการที่อาสาสมัครมีส่วนร่วมทั้งลงแรง ลงเงิน จะได้ในหลายสิ่งหลายอย่างกลับมา ซึ่งถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงลึกของพนักงาน และเขาต้องรู้จักเสียสละและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ"

เพราะในท้ายที่สุด "ใจ" คือกลไกที่สำคัญมากในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ให้เกิดขึ้นจริงได้ในองค์กร !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04131051&day=2008-10-13&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: