วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทำความรู้จัก CSR ในวิกฤต "เมลามีน"


นับ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2551 จนถึงวันนี้กรณีข่าวการปนเปื้อนของสารเมลามีนในนมที่ประเทศจีนเป็นเหตุให้ เด็กเสียชีวิต 4 ราย ล้มป่วยกว่า 60,000 คน และอีก 150 ราย เกิดอาการไตวาย สถานการณ์ยังลุกลามไปอีกหลายประเทศ เนื่องจากการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนก็ดูจะยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะจบ ง่ายๆ เฉพาะไทยทุกวันนี้สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังเดินหน้าประกาศรายชื่อสินค้าที่ปนเปื้อนสารเมลามีนแบบรายวัน

ตลอด ระยะเวลาเกือบ 2 เดือนของเหตุการณ์นี้ ไม่เพียงคำถามจะพุ่งตรงไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงกลไกการเฝ้าระวังเรื่อง ความปลอดภัยทางอาหาร ว่าสำหรับประเทศไทยมีมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ ในการคุ้มครองสุขภาพและชีวิตของผู้คนในประเทศ

แต่คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันย่อมพุ่งตรงไปที่ "ผู้ผลิตและจำหน่าย" ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อน ถึง "ความรับผิดชอบ" ที่เกิดขึ้น !!

" หากบริษัทมีความรับผิดชอบจริงๆ ควรรีบแจ้งว่า ตนเองใช้นมจากเมืองจีนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นขั้นตอนที่หากบริษัทคิดว่ามี CSR บริษัทควรจะแจ้งไม่ใช่รอให้ อย.ตรวจพบ ส่วนใหญ่ต้องรอให้ตรวจเจอ เราต้องไปตรวจเองทั้งนั้น ไม่มีใครแจ้ง อย. เลย" "สารี อ๋องสมหวัง" บรรณาธิการบริหารวารสารฉลาดซื้อและผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

นี่เป็นเหตุการณ์ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญในการที่องค์กรธุรกิจไทยจะทำความรู้จักกับ CSR อย่างแท้จริง

ผศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี ผู้เชี่ยวชาญ CSR คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "เรื่องนี้เป็นบทเรียนราคาแพงที่ตอกย้ำกับเราว่า แท้จริงแล้วความรับผิดชอบของ บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ปนเปื้อน ไม่ใช่เพียงสร้างสนามเด็กเล่น ให้ทุนการศึกษา พาเด็กออกค่าย แต่หมายถึงความรับผิดชอบจริงในกระบวนการธุรกิจซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท"

สำหรับ "เขา" มองว่า กลไกความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีที่สุดของบริษัท เหตุการณ์แบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นเลย แต�ในกรณีที่เป็นเรื่องสุดวิสัย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เช่นในปัจจุบันควรดึงสินค้าออกจากชั้นทั้งหมด และรอให้ตรวจสอบโดยบุคคลที่ 3 เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อน หากไม่พบก็สามารถนำกลับมาจำหน่ายต่อได้ แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความรับผิดชอบของบริษัทยังมีไม่มาก พอ

"นี่เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับการทำ CSR ของบริษัทที่ไม่ได้เฉพาะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น ว่าในท้ายที่สุดการทำ CSR ควรให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างการดำเนินธุรกิจกับการให้ ซึ่งผมมองว่าเราควรจัดการกับสาระสำคัญภายในกระบวนการผลิตก่อน จากนั้นถ้าจะให้ (philanthropy) กับสังคมภายนอกก็เป็นเรื่องที่ตามมา แต่ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่เรามักจะเริ่มที่เรื่องกิจกรรมซึ่งทำง่าย มากกว่าการแสดงความรับผิดชอบในธุรกิจหลัก" ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตามไม่เฉพาะองค์กรธุรกิจ หากแต่กลไกการปกป้องผู้บริโภคของไทยยังมีปัญหา

เรื่อง นี้ "สารี" บอกว่า "ในยุโรป หากมีการตรวจพบสารปนเปื้อน สินค้าจะถูกบล็อกทันที หลังจากนั้นจะแจ้งว่าสินค้ายี่ห้อนี้เป็นแบล็กลิสต์ และจะประกาศทุกอาทิตย์ว่าอาทิตย์นี้ประเทศไหนตรวจเจอหรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้มีคนฟ้อง ถือเป็นการยกระดับสินค้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคก่อนธุรกิจ เป็นสิ่งที่ อย.ควรทำอย่างยิ่ง"

"ในประเทศไทยการสุ่มตรวจประจำปีของ อย.มีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยถึงหูผู้บริโภคและไม่เคยประกาศออกมา ทั้งที่จริงแล้วต้องประกาศในหลายช่องทาง อย่างรวดเร็ว โดยการวิเคราะห์การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญในการใช้การตรวจสอบที่มีงบประมาณ จำกัด ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่ค่อยกล้าเปิดเผย"

ดังนั้นปัญหาการคุ้ม ครองผู้บริโภคไทยจึงมีมากกว่าระบบ หากแต่สำคัญอยู่ที่ทัศนคติของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแลที่จำเป็นต้องเปลี่ยน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04031151&day=2008-11-03&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: