วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

CSR จะเริ่มอย่างไรดี


ใน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่อยากมีส่วนร่วมในการให้โอกาสชุมชนและ สังคมที่ด้อยโอกาส หรืออยากช่วยลดปัญหาความยากจนของคนไทย แต่ก็ยังลังเลไม่แน่ใจจะเริ่ม อย่างไรดี บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยตอบคำถาม และช่วยให้ท่านผู้บริหารที่สนใจจะมีแนวทางที่จะเริ่มโครงการที่ดีและมี ประโยชน์ ผมจึงอยากพูดถึงโครงการที่เกิดขึ้นจริงเมื่อประมาณ 14 ปีมาแล้ว โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการพัฒนาความสามารถด้านธุรกิจชุมชน" โดยโครงการนี้มีคุณชัยชนะ (นามสมมติ) ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาชุมชน เป็น ผู้ริเริ่มและถ่ายทอดความรู้ทางการตลาด และเป็นสื่อที่นำเอาความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ชุมชนด้อยโอกาส และองค์กรเอกชน (NGO) มาทำงานร่วมกัน

เมื่อปี 2537 กิจกรรม CSR ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก คุณชัยชนะทราบว่ามีชุมชนแห่งหนึ่งมีสตรีที่มีความสามารถในการเย็บปักถักร้อย ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่มีความสามารถในการควบคุมคุณภาพ การตลาด และไม่มีเงินทุน คุณชัยชนะจึงได้ เข้าพบกับคุณภาษี เจ้าขององค์กรธุรกิจโรงแรมราชา และชักชวนให้ว่าจ้างชุมชน ดังกล่าวให้ผลิตผ้าปูโต๊ะและผ้าเช็ดปากให้กับทางโรงแรม แทนที่จะต้องไปจ้างร้านที่คิดราคาแพงๆ คุณภาษีเห็นด้วยแต่เป็นห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะโรงแรมราชาเป็นระดับ 5 ดาว และมีชาวต่างประเทศมาพักมากมาย คุณภาษีจึงเสนอว่าเขาจะเป็นคนซื้อผ้าและว่าจ้างชุมชนเป็นผู้ผลิต เพื่อจะได้แน่ใจว่าผ้าที่ใช้จะมีคุณภาพคู่ควรกับโรงแรม

คุณชัยชนะ ทราบว่าชุมชนไม่สามารถผลิตผ้าปูโต๊ะและผ้าเช็ดปากจำนวนมากด้วยการเย็บมือ คุณชัยชนะจึงไปพบคุณเก่งกาจ ผู้จัดการ บริษัท Songster เพื่อขอให้ช่วยอบรมวิธีการเย็บด้วยเครื่องจักร และขอให้ขายเครื่องเหล่านี้ให้กับชุมชนในราคามิตรภาพ คุณเก่งกาจไม่แน่ใจว่าชุมชนจะหาเงินมาผ่อนค่าจักรเย็บผ้าได้หรือไม่ คุณชัยชนะจึงไปพบคุณวิทยาที่ธนาคารธนบุรี และขอร้องให้ปล่อยสินเชื่อให้ชุมชน ซึ่งเป็นวงเงินที่น้อยมาก และทางโรงแรมราชาได้มีหนังสือรับรองที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ชุมชนผลิต ซึ่งผลปรากฏว่าสินค้า ที่ชุมชนผลิตมานั้นมีคุณภาพและเสร็จ ตามกำหนดเกินความคาดหวังของโรงแรม ทำให้ชุมชนมีรายได้และทุกคนที่เกี่ยวข้อง มีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยชุมชนให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็น CSR รายแรกๆ ของประเทศไทย ส่วนเครื่องจักรของบริษัท Songster ก็เป็นที่รู้จักในชนบท สามารถเพิ่มยอดขายได้ในระยะเวลาต่อมา ธนาคารธนบุรีก็สามารถทำให้ชุมชนมีความซาบซึ้งและเข้าใจบทบาทการดำเนินงานของ ธนาคารมากยิ่งขึ้น ต่อมาธนาคารได้มอบเงินให้กับคุณชัยชนะจำนวนหนึ่งเพื่อสร้าง ถังเก็บน้ำสะอาด และสร้างห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์และ มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น

ปัจจุบันชุมชนดังกล่าวสามารถรับงานจากโรงแรม อื่นๆ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเด็กๆ สามารถไปโรงเรียน มีอนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้หลายคนเป็นครั้งแรก อีกทั้งสามารถสลัดความยากจนอย่างถาวร และช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ทำให้คุณชัยชนะมีความภาคภูมิใจที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ของชุมชน และมุ่งหน้าทำโครงการ CSR ทั้งโครงการใหญ่และโครงการเล็กต่อไป

จาก โครงการดังกล่าวคนที่น่าได้รับการยกย่องเพราะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งด้าน การเงินและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมด คือ คุณภาษี เพราะต้องลงทุนซื้อผ้ามาเป็นจำนวนมาก และยังต้องค้ำประกันเงินกู้ของชุมชน ซึ่งหากชุมชนไม่สามารถผลิตสินค้าตามที่เขาต้องการแล้ว เขาต้องรับภาระใช้หนี้ธนาคารทั้งหมด ปัจจุบัน CSR ทำได้โดยไม่ยากเพราะเราทราบขั้นตอนและปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้

1. การทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) จะได้เปรียบตรงที่ NGO เข้าใจคนในพื้นที่ดี และได้สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชน และ NGO ไว้นานแล้ว 2.ท่านสามารถเชิญผู้แทนจาก NGO ไปบรรยายให้ผู้บริหารรวมถึงผู้ถือหุ้นว่า CSR คืออะไร องค์กรของท่านจะได้อะไรจากการทำ CSR ชุมชนจะได้อะไร และสังคมจะได้อะไร ตลอดจนลักษณะ ของโครงการที่ท่านสนใจ

3.เมื่อท่านพอใจ ท่านควรจะเชิญผู้แทนของ NGO ให้คุยกับพนักงานของท่านให้เข้าใจเรื่อง CSR เพราะ CSR ที่ดีควรจะมีพนักงานขององค์กรท่านเป็นผู้ดำเนินการและมีเจ้าหน้าที่ NGO เป็นพี่เลี้ยง ซึ่ง CSR จะประสบความสำเร็จที่แท้จริงนั้น พนักงานของท่านมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือกับโครงการ CSR 4.ทีมงานของท่านอาจจะไปพบกับชุมชนร่วมกับ NGOเพื่อแสดงความจริงใจให้แก่ชุมชนเพื่อ ความร่วมมือที่ดี

ในโครงการ ตัวอย่างข้างต้น โครงการ CSR ได้ช่วยสร้างอาชีพและชุมชนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหมู่บ้านที่ถูกสุขลักษณะอนามัย สามารถลดหนี้สิน พึ่งพาตนเอง และในที่สุดก็ได้เป็นแบบอย่างที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อีก นับเป็นโครงการที่ Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02201051&day=2008-10-20&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: