วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

CSR แบบ "ฟิลิป คอตเลอร์" ฉบับ (ภาค) ภาษาไทย



แม้ หนังสือ Corporate Social Responsibility Doing the Most Good for Your Company and Your Cause ของกูรู ด้านการตลาดอย่าง ฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งเขียนถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ร่วมกับ นักพัฒนาสังคมอย่าง แนนซี่ ลี ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อนจะเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของผู้ที่ศึกษาและติดตามแนวคิดความรับผิดชอบต่อ สังคมขององค์กร (CSR) มาพอสมควร และถือเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งในยุคต้นๆ ที่นักวิชาการหลายค่ายจะใช้อธิบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่ใช่ เป็นเพียงการบริจาค

ล่าสุดหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปล เป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว โดย ม.ร.ว. รมณียฉัตร แก้วกิริยา ซึ่งจัดพิมพ์โดยบริษัท ยูนิเวอร์แชล พับลิชิ่ง จำกัด และจัดจำหน่ายโดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในชื่อฉบับภาษาไทยว่า บรรษัทบริบาล (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) เพื่อให้ผู้ที่สนใจอ่านกันอย่างเต็มอิ่ม และยังเป็นหนังสือ CSR ภาษาไทยเพียงไม่กี่เล่มที่อยู่บนแผงหนังสือวันนี้

เนื้อหาใจความเป็น การศึกษาถึงความเปลี่ยนไปของรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังก้าวข้ามจากแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่อยู่ในรูปแบบของการบริจาคในแบบ ฉบับของการ "ทำดีที่ทำได้ง่ายที่สุด" มาสู่แนวปฏิบัติใหม่ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สนับสนุนวัตถุประสงค์ขององค์กร โดยองค์กรมุ่งที่จะเลือกเฉพาะ หัวเรื่องเชิงกลยุทธ์บางประการที่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กร เลือกทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตอบสนองเป้าหมายของธุรกิจ หรือเลือกประเด็นปัญหาทางสังคมที่สัมพันธ์กับสินค้าหลักหรือตลาดใหญ่ ฯลฯ

ซึ่งทำให้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมเปลี่ยนไปมาสู่การทำงานที่มีแบบแผน มีกลยุทธ์ และให้ความสำคัญกับการประเมินผลมากยิ่งขึ้น

กิจกรรม เพื่อสังคมที่ทั้ง "ฟิลิป คอตเลอร์" และ "แนนซี่ ลี" ได้แบ่งไว้ 6 ประเภท มีตั้งแต่แนวคิดที่มุ่งเน้นการตลาด เช่น การส่งเสริมประเด็นสังคมของบริษัท การตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสังคม การตลาดเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวคิดที่อยู่นอกเหนือกิจกรรมของ ฝ่ายการตลาด อาทิ กิจกรรมอาสาสมัครพนักงาน รวมไปถึงแนวปฏิบัติทางธุรกิจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจภายในองค์กร

ซึ่ง การปฏิบัติและการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมุมมองใหม่นี้ ผู้เขียนระบุว่า ทำให้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจจึงถูกปรับมาสู่การวางพันธกิจใน ระยะยาว และเสนอความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น ใช้ผู้ชำนาญการพิเศษ ความสนับสนุนด้านเทคนิค การอนุญาตให้ใช้บริการต่างๆ การจัดหาบุคลากรด้านอาสา

ทั้งยังเป็นการผสานประเด็นปัญหาทางสังคม เข้ากับการตลาดและการสื่อสารองค์กร งานทรัพยากรบุคคล ชุมชนสัมพันธ์ และการทำงานที่จับมือกับพันธมิตรภายนอกองค์กร

ในหนังสือเล่มนี้ยัง ได้จำแนกแยกแยะ ให้ข้อสังเกตทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละกิจกรรม พร้อมข้อควรระวัง อาทิ การไม่คุยโม้โอ้อวดจนเกินไปในการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้กิจกรรมที่ทำนั้นดูเป็นการสร้างภาพมากกว่าการตั้งใจช่วยสังคม จริงๆ ฯลฯ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ การรวบรวมแนวทางที่ดีที่สุดในการเลือกประเด็นปัญหาสังคมที่เหมาะกับองค์กร และวิธีการพัฒนาโครงการที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะและเป้าหมายขององค์กร ตัวอย่างเช่น กิจกรรมของสตาร์บัคส์ ในการให้การสนับสนุนชาวไร่กาแฟแบบธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้บรรลุเป้าหมายธุรกิจ ในการเปิดตลาดใหม่ และเปิดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับซัพพลายเออร์ การประหยัดเงินปีละหลายล้านเหรียญสหรัฐของ "ซิสโก้" ที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยการใช้กรรมวิธีก่อสร้างแบบประหยัดพลังงาน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต หรือการที่ "เบน แอนด์ เจอรี่" สามารถช่วยขยายการรับรู้ของคนในสังคมผ่านการรณรงค์เรื่องโลกร้อน ฯลฯ

แม้ เนื้อหาค่อนข้างจะตรงไปตรงมาในหนังสือที่พูดถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ อาจจะเป็นเรื่องตะขิดตะขวงใจใครหลายคน อีกทั้งแนวคิดยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายนมเนยฉบับตะวันตก

หากแต่เปิดใจ ให้กว้าง นี่เป็นอีกมุมมองที่องค์กรธุรกิจในไทยจะสามารถนำมาปรับใช้ โดยอาจปรับไปตามความเหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กร และบริบทของสังคมไทย เพื่อจะสามารถขับเคลื่อน CSR ในองค์กรได้อย่างถูกทิศถูกทาง และสามารถสร้างประสิทธิผลจากการใช้ทรัพยากรในองค์กรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพื่อก้าวสู่ยุคที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า "การทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อ ให้เกิดความดีแบบสุดๆ ไม่ใช่ความดีธรรมดาๆ" ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณที่ว่านี้ค่อยๆ ชัดขึ้นๆ ในไทย !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05131051&day=2008-10-13&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: