วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

CSR กับคนพิการ


โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มบริษัททีม

เมื่อ 2540 ผมมีโอกาสพบกับสมาคมคนพิการในขณะนั้น และเรียนถามท่านอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบจิตใจท่านว่า ภาษาไทยมีคำไพเราะๆ ที่เรียกคนพิการ เพื่อไม่ให้เขาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจหรือเสียใจ คำตอบก็คือ คนพิการในประเทศไทยยอมรับว่าเขาพิการและไม่รู้สึกมีปมด้อยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ ความเสมอภาค ความสามารถที่จะพึ่งตนเองในการดำรงชีวิต โดยการให้โอกาสคนพิการได้มีโอกาสทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน และมีส่วนในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐ เอกชนและสังคมควรจะปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างหญิง ชาย เด็ก และคนพิการ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550 สำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 721,490 คน เป็นชาย 422,929 คน และหญิง 298,561 คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้พิการทางกายมากที่สุดถึง 349,332 คน พิการด้านการได้ยิน 98,349 คน

พิการทางสติ 91,992 คน พิการด้านการเห็น 75,562 คน และพิการซ้ำซ้อน 66,228 คน

ความหมายของคำว่าพิการ

1.Impairment ความบกพร่องจากการสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

2.Disability ทุพพลภาพที่ไม่สามารถกระทำกิจกรรมในชีวิตปกติได้ มีสาเหตุจากสภาพความพิการ

3.Handicap ความเสียเปรียบเนื่องจากทุพพลภาพ เช่น ไม่มีขาทำให้เดินไม่ได้ ทำให้ขึ้นตึกที่มีบันไดสูงๆ ไม่ได้ เป็นต้น

ใน ต่างประเทศเขาจะไม่ใช้คำว่า crippled (พิการ) แต่จะใช้คำว่า handicapped person และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารต้องสามารถให้คนพิการเข้าออกสะดวก รถเมล์และรถไฟออกแบบให้คนพิการสามารถเดินทางได้สะดวก แม้แต่พนักงานบริการก็ได้รับการอบรมให้บริการคนพิการเป็นอย่างดี

ความสามารถพิเศษของคนพิการแบ่งเป็น 6 ประเภทคือ การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ-อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้

ดัง นั้นจะเห็นว่าผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวนั้น มีสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ บางคนมีสมองที่ไวมาก สามารถเรียนรู้ และทำงานได้หลายประเภท ซึ่งในปัจจุบันความต้องการคนที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ด้านโปรแกรมและการออกแบบ website เพื่อทำการตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตมากมาย คนพิการที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ก็มีมากมายเช่นเดียวกัน

ธุรกิจจะช่วยคนพิการได้อย่างไร

ปี 2540 ผมได้มีโอกาสพบท่านอธิบดีกรมแรงงาน คุณนิทัศน์ ธีระวิทย์ และ ผู้อำนวยการคือ ม.ล.บุณฑริก สมิติ ท่านทั้งสองแนะนำให้ผมสนับสนุนคนพิการให้ได้รับการแนะแนวอาชีพ การฝึกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกลออกไป ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ ตอนนั้นองค์กรของผมจึงให้เงินสนับสนุนโครงการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์กราฟิก สำหรับคนพิการ ซึ่งรุ่นนั้นมีผู้สมัครเข้าอบรมทั้งหมด 18 ท่าน โดยมีหลักสูตร 2-3 เดือน และเป็นหลักสูตรที่ต้องกินอยู่ประจำ เพื่อลดปัญหาการ เดินทาง หลักสูตรนี้เน้นการเสริมทักษะและการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกในธุรกิจ ผู้จบการอบรมสามารถเขียนแบบและออกแบบสื่อโฆษณาสิ่งตีพิมพ์ ตลอดจนใช้โปรแกรมสำเร็จรูปด้านกราฟิกที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ

เมื่อ จบหลักสูตรแล้วผู้เข้าอบรมทั้ง 18 ท่านสามารถหางานกับองค์กรเอกชนได้ และมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้คนพิการได้ปรับคุณภาพชีวิตของเขา ให้ดีขึ้น ได้รับเงินเดือนดีๆ และได้รับความเสมอภาคในสังคม

ท่านพร้อมหรือยัง

หาก องค์กรของท่านสามารถที่จะสนับสนุนคนพิการสัก 5 หรือ 10 คนเข้าอบรมหลักสูตรการเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ หรือเข้าอบรมการเขียน โปรแกรมสร้าง website เพื่อการตลาด ท่านจะช่วยให้คนพิการได้มีฐานะที่ดีขึ้น ไม่เป็นคนยากจนไร้ซึ่งประโยชน์ต่อไป

หรือหากองค์กรสามารถช่วยเหลือ ง่ายๆ โดยให้พนักงานอ่านหนังสือลงเทปหรือซีดี เพื่อเปิดให้คนตาบอดได้ฟัง และรับทราบความเคลื่อนไหวในโลกทุกวันนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้พิการทางสาย ตาอีกทางหนึ่ง

ถ้าท่านพร้อมท่านอาจจะติดต่อองค์กรเอกชน (NGOs) หรือขอความร่วมมือเพื่อจัดการอบรมวิชาชีพของคนพิการด้านใดด้านหนึ่ง หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนพิการที่ถูกลืมจากสังคมไทย ให้ได้รับความสุขจากสังคมไทย

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

เมื่อ วันที่ 18 กันยายน 2550 ได้มีการตรา "พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ" คอยดูแลและเสนอแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อการคุ้มครองคนพิการ และยังมี "กองทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" ที่จัดสรรเงินช่วยเหลือคนพิการเพิ่มเติมจากงบประมาณปกติจากทางรัฐ

พระ ราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2550 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ต้องจ้างคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หรือส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแทน ห้างร้านและบริษัทจำนวนมากเลือกที่จะไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน เพราะเห็นว่าการส่งเงินเข้าสมทบกองทุนเป็นทางออกที่ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องมีภาระคอยดูแลคนพิการเหล่านั้น

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02101151&day=2008-11-10&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: