วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิพากษ์ "CSR" ร่วมสมัย


โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

ผม รู้สึกว่า "ประชาชาติธุรกิจ" เป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอแนวคิด CSR มากที่สุดแห่งหนึ่ง และนับเป็นคุณูปการสำคัญในการนำแนวคิดนี้มาใช้ แต่แนวคิดนี้ที่มีผู้นำเสนอดูออกผิดแผกไปบ้าง ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อวิพากษ์แนวคิด CSR ร่วมสมัยโดยอาศัยข้อเขียนใน "ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับวันที่ 6-8 ตุลาคม และ 13-15 ตุลาคมศกนี้เป็นกรณีศึกษา

เอ็นจีโอกับ CSR

เอ็นจีโอ หรือสมาคม/มูลนิธิที่ดูแรงๆ ก็อาจมาเกี่ยวข้องกับ CSR ในแง่ที่วิสาหกิจเอกชนที่ต้องการทำดีมาจับมือกับตน จะสังเกตได้ว่าในช่วงแรกวิสาหกิจเอกชนช่วยเอ็นจีโอมาก แต่พอวิสาหกิจเหล่านี้ "ปีกกล้าขาแข็ง" ก็มักตั้งมูลนิธิของตนเองมาทำเอง วิสาหกิจข้ามชาติบางแห่งก็ชอบญาติดีกับเอ็นจีโอเหมือนกัน นัยหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นจีโอต่อต้านธุรกิจของตน

อย่างไรก็ ตาม ถ้าเอ็นจีโอใดทำงานเข้าตาสังคมก็สามารถอยู่รอดและเติบโตได้เองโดยไม่ต้อง พึ่งบริษัทต่างชาติหรือรับการอุปถัมภ์จากวิสาหกิจเอกชนใดโดยเฉพาะเพราะสังคม จะโอบอุ้มเอง เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู เป็นต้น

CSR เป็นของทุกคน

มี คำถามว่าองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรทำ CSR หรือไม่ ซึ่งย่อมมีคำตอบว่า "ควร" เพราะ CSR เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องเริ่มต้นที่การมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ ละเมิดผู้บริโภค เช่น แม่ค้าขายขนมจีนจะเอาทิสชูใส่น้ำยาไม่ได้ ที่รองลงมาก็คือ SMEs ต้องมีจรรยาบรรณ หรือ soft laws เช่น มรรยาททนาย จรรยาบรรณแพทย์ เป็นต้น

และสุดท้ายจึงค่อยเป็นการบริจาค ผมเคยศึกษาว่าปีหนึ่งคนทั่วไปบริจาคเป็นเงิน 3% ของรายได้ ถ้าเช่นนั้นบริษัทใหญ่เล็กก็บริจาคไม่ต่างกัน เผลอๆ บริษัทใหญ่ที่ดูมีข่าวบริจาคหรือทำ CSR ครึกโครมก็อาจใช้เงินในสัดส่วนที่น้อยกว่าบริษัทเล็กด้วยซ้ำ

CSR ไม่ใช่การให้

ใน บทสัมภาษณ์บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ว่า "การทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ" ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เช่นบริษัทโทรคมนาคมเน้นการช่วยเหลือสังคมในแนวทางด้านการสื่อสารที่ตนถนัด อย่างน่าชื่นชม

แต่การนี้ยังเป็นในรูปการให้ซึ่งเป็นเรื่องรอง บริษัทนี้ในฐานะองค์กรบริหารที่เป็นเลิศควรเสนอให้สังคมได้รู้เป็นแบบอย่าง ว่า การทำ CSR ในแง่มุมหลักคือความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนโดยรอบ สังคมและการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นธรรมนั้นทำอย่างไร

CSR กับการสร้างแบรนด์

ยัง มีความตะขิดตะขวงใจระหว่างการ ทำดี (โดยนึกว่าคือ CSR) กับการโฆษณา ซึ่งดูคล้ายเรื่องผิดบาป ผมอยากเรียนว่า การทำ CSR นั้นทำให้ชื่อเสียงกิจการดีขึ้น เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือกับวิสาหกิจโดยตรง

ชื่อเสียงนั้น ไม่ได้เกิดจากการไปให้ ไปบริจาคหรือไปทำอะไรน่ารักน่าชัง เช่น ปลูกป่า ชื่อเสียงเกิดจากความรับผิดชอบต่อลูกค้า ลูกจ้าง คู่ค้าและอื่นๆ แสดงออกในแง่คุณภาพของสินค้าและบริการ ท่านทราบหรือไม่ว่ายี่ห้อ "โค้ก" มีราคาถึง 2.6 ล้านล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทยเสียอีก เพราะเขามี CSR ในแง่สาระไม่ใช่ในแง่บริจาคแต่อย่างใด

ธนาคารกับ CSR

ผม เห็นบทความสถานบันการเงินแห่งหนึ่งส่งเสริมให้พนักงานไปอาสาทำความดี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริม จะทำให้ พนักงานไม่มุ่งแต่หาผลประโยชน์หรือความสุขใส่ตัว สามารถที่จะเอื้ออาทรความสุขให้ผู้อื่นบ้าง

อย่างไรก็ตาม หน้าที่สำคัญตาม CSR และจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้สถาบันการเงินอย่างยั่งยืนก็คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดต่อผู้ฝากเงิน ไม่ "ล้มบนฟูก" ยามเกิดวิกฤต และที่สำคัญพนักงานระดับสูงไม่รับเงินใต้โต๊ะยามมีผู้ไปขอกู้เงิน ถ้าสถาบันการเงินดูแลพนักงานจนทำให้ลูกค้าประจักษ์ได้เช่นนี้ สถาบันการเงินแห่งนั้นก็มี CSR และมีแบรนด์ที่ดีจริง

CSR ในลมหายใจเข้าออก

ผม อยากสรุปว่าเราควรส่งเสริม CSR ตามมาตรฐานสากลที่ธุรกิจใหญ่น้อยต้องปฏิบัติ โดยจะละเมิด เอาเปรียบผู้บริโภค ลูกจ้าง หรือชุมชนไม่ได้ ส่วนใครจะทำดีก็เป็น "ของแถม" ถ้าเราจะเดินสายให้ความรู้กับประชาชน ก็ควรบอกประชาชนมีส่วนร่วมคอยตรวจสอบดูว่าบริษัทไหนผลิตสินค้าหรือบริการที่ รับผิดชอบต่อสังคมจริงจึงจะทำให้ CSR ยั่งยืน

เราไม่ควรบิดเบือน CSR ให้กลายเป็นการสอนศาสนา ยิ่งเอาคำบาลีมาใช้อาจทำให้ผู้นับถือศาสนาอื่นน้อยใจได้ เราสามารถอธิบายความดีได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องยกศาสนามาอ้าง เช่น ทุกคนก็รู้ว่า "ทำดี ได้ดี" "ยิ่งให้ ยิ่งได้" หรืออย่าง "ด้านได้ อายอด" เป็นต้น

เราไม่ควรมองเน้นกิจกรรม CSR ไปในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการปลูกป่า ซึ่งเป็นเพียง "กระพี้" เพราะปีหนึ่งๆ ปลูกป่าได้แค่หมื่นไร่ (แล้วล้มตายไปเท่าไรก็ไม่รู้) แต่ปีหนึ่งๆ ป่าถูกทำลายไปนับแสนๆ ไร่ สังคมที่เดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นเพราะคนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่การไม่อาจควบคุมคนทำผิดกฎหมายซึ่งมีอิทธิพลมากต่างหาก

CSR เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติโดยไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยาบรรณและร่วมกันทำความดีเพื่อความเป็นมงคลและยั่งยืนในธุรกิจของเราเอง


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04271051&day=2008-10-27&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: