วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ค้นความคิด "สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ" "ทีวีบูรพา" ต้นแบบองค์กรมีจิตสำนึก



เรา อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตา "สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ" และจดจำมาดสุขุมของเขาได้ในฐานะพิธีกรในรายการ คน ค้น ฅน และอีกหลายรายการของ "ทีวีบูรพา" บริษัทในเครือ "เจ เอส แอล" ผู้ผลิตรายการ "คน ค้น ฅน" "กบนอกกะลา" "จุดเปลี่ยน" "แผ่นดินไท" และ "พลเมืองเด็ก" รายการโทรทัศน์ที่น่าจะเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็น "สื่อเพื่อสังคม" แต่ในหมวกของผู้บริหารที่เขานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด นั้นน้อยครั้งนักที่เขาจะบอกเล่าถึงวิธีคิดในการทำงาน และวิธีการในการบริหารองค์กร เช่นเดียวกับที่กำลังนั่งลงบอกเล่าเรื่องราวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในวันนี้

เช่นเดียวกัน นี่เป็นครั้งแรกที่เขากำลังพูดถึงแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ "ทีวีบูรพา"

ใน ออฟฟิศเล็กๆ ย่านรามคำแหง "สุทธิพงษ์" บอกเล่าที่มาของต้นทางความรับผิดชอบต่อสังคมที่เขาเชื่อ และวันนี้กลายมาเป็นรากฐานและวัฒนธรรมขององค์กร

"ถ้าย้อนกลับไป ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำบริษัททีวีบูรพา ความตั้งใจแรกคือบนอาชีพสื่อโทรทัศน์ เราก็น่าจะทำอะไรให้กับสังคมได้ผ่านสื่อ โดยที่ไม่ต้องทำงานโทรทัศน์แล้วเอาเงินที่ได้จากสิ่งที่ทำ จากนั้นจึงไปช่วยสังคม แต่สิ่งเหล่านี้น่าจะอยู่ในเนื้องาน ของเรา"

" เพราะฉะนั้นทุกรายการของทีวีบูรพา ปลายทางจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และผมทำงานบนความเชื่อที่ว่า เราทำเพื่อสังคมบนอาชีพของเรา ก็เหมือนกับครูทำงานเพื่อสังคมโดยทำอาชีพครูให้ดี ตำรวจก็ทำได้ เราเป็นคนทำรายการโทรทัศน์ก็ทำเพื่อสังคมได้โดยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ อาชีพ"

องค์กรต้นแบบสร้างจิตสำนึก

รากฐานวิธีคิด เหล่านี้มาจากความเชื่อส่วนตัวของเขาที่ว่า "การทำประโยชน์ให้กับสังคมถือเป็นหน้าที่" ในช่วงแรกในชีวิตการทำงานเขาเคยลงพื้นที่ในหมู่บ้านห่างไกลเป็นระยะเวลาหลาย เดือน ไปกับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นเอ็นจีโอ ก่อนจะมาทำงานแรกแบบเป็นเรื่องเป็นราวในฐานะคนทำรายการโทรทัศน์ ความเชื่อเช่นนี้ก็ยังมีอยู่ ผิดก็แต่ในช่วงเวลานั้นโปรดักต์หรือรายการที่ได้รับมอบหมายก็ไม่ค่อยเอื้อ ให้สามารถทำงานเหล่านี้ได้เต็มที่นัก กระทั่งเมื่อก่อตั้งบริษัททีวีบูรพา ภาพที่ว่าจึงค่อยๆ ปรากฏชัด จนวันนี้สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า องค์กรแห่งนี้คือ "องค์กรต้นแบบในการสร้างจิตสำนึก" และเป็น "องค์กรต้นแบบที่กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะ"

"ในฐานะสื่อ โทรทัศน์ที่มีอิทธิพลกับสังคม ผมว่าความรับผิดชอบของเราเริ่มตั้งแต่การทำรายการที่ไม่เน้นการขายเต็มที่ ก็ถือเป็นการแบ่งปันทรัพยากรของเราไปส่วนหนึ่ง เพราะทรัพยากรไม่ใช่เพียงเงินที่หามาได้แล้วใช้ไป แต่คือต้นทุนชีวิตของเรากับพนักงาน ซึ่งผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น จนพนักงาน ก็เข้าใจตรงกันว่าเราจะเป็นองค์กรเพื่อสังคม ดังนั้นสิ่งที่องค์กรทำคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ผู้ชม โน้มน้าวชักจูงให้เกิดกลุ่มก้อนทางสังคม เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อ จะช่วยให้เกิดพลังได้มากกว่าการที่เอาเงินไปช่วย"

ความเชื่อนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดผลจริงในสังคม

" เวลาทำงานเราอาจจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้สื่อสารกับแฟนรายการ พวกเขาบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ งอกงามในตัวเขาจากที่ดูรายการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่องานครบรอบ 6 ปีทีวีบูรพาที่ผ่านมา มีคนมาร่วมงานเป็นหมื่นคน ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงจากตรงนั้น โดยส่วนตัว ผมสนใจความเปลี่ยนแปลงที่งอกงามในตัวมนุษย์ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนจากในตัวคน แล้วคนจะเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนที่จะค่อยๆ ขยายผลจากพื้นที่ที่เขา รับผิดชอบอยู่ในทุกๆ มิติและวันหนึ่งจะกลายเป็นพลังทางสังคมได้"

จุดเปลี่ยนที่เกิดจากพลัง

พลัง ทางสังคมที่ส่งให้เกิดผลกระทบในทางบวก ไม่ว่าจะเป็นการจุดกระแสการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำเพชรบุรี ให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากเรื่องราวชีวิตของ "ปู่เย็น" เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี ที่ใช้ชีวิตบนเรือแทนบ้านออกอากาศ หรือเรื่องราวของเกษตรอินทรีย์ ที่ขยายวงและสร้างเครือข่ายได้อย่างกว้างขวางผ่านรายการแผ่นดินไทย รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่จุดประกายโดย โครงการริเริ่ม เติมเต็ม ในรายการจุดเปลี่ยน ที่กำลังพยายามจะเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องการให้และการช่วยเหลือสังคม ให้ตรงกับความต้องการของผู้รับอย่างแท้จริง

เขาขยายความว่า "การช่วยเหลือในสังคมไทยที่ผ่านมา มีการเกาไม่ถูกที่คันจำนวนมาก เช่น สมมติสถานสงเคราะห์ คนชราที่มีคนไปบริจาคเสื้อผ้า ไปเลี้ยงอาหาร แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่รู้เลยว่า เขาอาจจะต้องการฟันปลอม ขาดแพมเพอร์ส หรือไม่มีใครรู้หรอกว่ามีโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยากได้ล้อรถที่สามารถรับมือกับการวางเรือใบไว้ใช้ สำหรับเหตุฉุกเฉิน หรือการทำบุญคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า พระต้องการแก้วหูเทียม เครื่องช่วยฟัง ไม่ใช่แค่ถังสังฆทาน"

ไม่ เฉพาะเนื้อหาผ่านรายการที่จะออกอากาศ ทุกกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทที่ถูกจัดวางไว้ในแต่ละปีว่า พนักงานของบริษัทจะต้องลงพื้นที่อย่างน้อย 3 ครั้ง ก็ต้องเป็นกิจกรรมที่ริเริ่ม...เติมเต็มเช่นกัน ล่าสุดที่เพิ่งจบไป บริษัทจัดโครงการทอดกฐินปลอดเหล้า โดยพนักงานลงไปเป็นอาสาสมัครและดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นัยหนึ่งเป็นการจุดประกายให้คนในชุมชนหันมาดูแลวัดของตัวเอง ขณะเดียวกันทุกกิจกรรมยังมีนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับจิตสำนึก สาธารณะ

"เราเชื่อว่านี่เป็นวิธีในการหลอมรวมคนในองค์กร ซึ่งต้องพยายามหลอมให้คนเป็นชนิดเดียวกันมากที่สุด แล้วคนก็ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งโปรแกรมและกดสวิตช์ได้ วิธีการที่ นุ่มนวลคือค่อยๆ ทำให้เป็นธรรมชาติ พนักงานบางคนไม่เคยเห็นความจริงในชนบท เห็นโลกเท่าที่เคยเห็นมา ฉะนั้น เมื่อทำแบบนี้เขาก็จะค่อยๆ ถอดเปลือกเขาออก และเริ่มมีใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำนี่เป็นต้นทุนที่บริษัทพยายามปลูกในคน เป็นเพราะการทำงานของเราเรียกร้องมากกว่าองค์กรทั่วๆ ไป สมมติว่าถ้าพนักงานไม่มีกรอบคิดและความเข้าใจในอะไรบางอย่าง ไม่มีจิตเสียสละ จิตสาธารณะต่อองค์กร ซึ่งเป็นจิตเดียวกับจิตสาธารณะต่อสังคม ถ้าไม่มีตัวนี้ก็เป็นเรื่องยากในการจะนำพาองค์กรให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ และสามารถอยู่ได้มาถึงวันนี้"

ถึงวันนี้แม้ในทางธุรกิจ "ทีวีบูรพา" อาจจะไม่สามารถฟันฝ่าคลื่นกระแสหลัก และเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกับหลายองค์กร แต่การดำรงอยู่และเติบโตอย่างมั่นคงในตลาดเฉพาะกลุ่ม ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ความคิดและความเชื่อที่ "สุทธิพงษ์" กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า "เราสามารถทำเพื่อสังคมได้โดยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาชีพ"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01271051&day=2008-10-27&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: