วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

Creative CSR มุมมองใหม่ "ความรับผิดชอบ"




ถือ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่ในทุกปี สถาบันไทยพัฒน์ สถาบันเพื่อการวิจัยพัฒนาและให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดความ รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility : CSR) จะประกาศทิศทาง CSR ไทยประจำปี

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสถา บันไทยพัฒน์ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ศูนย์ข้อมูลพัฒนาธุรกิจตลาดทุน จัดงานสัมมนาและประกาศทิศทาง CSR ประจำปี 2552 โดยจัดขึ้นที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ความน่าสนใจของงานครั้งนี้ไม่ได้ อยู่เพียงที่เนื้อหา และ 6 ทิศทางในปีนี้ที่คาดว่าจะเห็นพัฒนาการ CSR ในไทยที่คาดว่าจะพัฒนาทั้งในเชิงกว้างและลึกมากขึ้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน 6 ทิศทาง CSR ปี 2552)

จำนวนผู้ที่ เข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างคึกคักกว่า 400 คน ยังเป็นสัญญาณสะท้อนภาพของความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่มีต่อแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่ก้าวข้ามสิ่งที่เคยมีการประเมินกันไว้ว่า ในปีนี้ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้อาจจะชะลอตัวลงไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ เกิดขึ้น

และยิ่งน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นหากโฟกัสไปที่ "รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรธุรกิจไทย" ที่สถาบันไทยพัฒน์ คาดการณ์ว่า "ในปีนี้รูปแบบของ CSR จะพัฒนาจากการพัฒนา CSR ในเชิงกลยุทธ์ (strategic CSR) มาสู่ CSR ในเชิงสร้างสรรค์ (creative CSR)"

เป็น CSR ในเชิงสร้างสรรค์ซึ่งเป็น "รูปแบบ" ที่สถาบันไทยพัฒน์มองเห็นจากการศึกษาวิจัยองค์กรธุรกิจไทยในรอบปี 2551

เป็น CSR ในเชิงสร้างสรรค์ที่สถาบันไทยพัฒน์กำหนดขึ้นโดยต่อยอดแนวคิดจากหลักสากลตาม มุมมองของ ไมเคิล อี.พอตเตอร์ ที่เคยกล่าวถึงรูปแบบการทำ CSR ไว้ 2 รูปแบบ ได้แก่ CSR เชิงรับ (responsive CSR) และ CSR เชิงกลยุทธ์ (strategic CSR)



คำถามก็คือ แล้วอะไรจึงจะเรียกว่าเป็น creative CSR !!

3 ระดับพัฒนาการ CSR

ใน รูปแบบของ CSR เชิงรับ (respon sive CSR) "พอตเตอร์" ระบุไว้ว่า มีจุดเริ่มต้นจากการทำงานในเชิงรับ (reception) ขององค์กรซึ่งเป็นเพียงวิธีการแสดงความรับผิดชอบในระดับของการปฏิบัติตาม กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่จะให้ผลลัพธ์ที่ทำให้ธุรกิจได้รับการยอมรับ (license to operate) ซึ่งเป็นเพียงการบรรเทาผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นจาก กิจกรรมทางธุรกิจ โดยที่อาจจะยังไม่ได้มีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมภายนอก และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีปัญหาที่สังคมภายนอกเรียกร้องให้ ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (outside-in) โดยที่องค์กรยังมุ่งเน้นเพียงการรักษาคุณค่าขององค์กรเป็นสำคัญ

ส่วน ในรูปแบบของ CSR เชิงกลยุทธ์ (strategic CSR) ซึ่งเป็นรูปแบบการ ทำงาน CSR ขององค์กรธุรกิจในเชิงรุก (proactive) ที่ "พอตเตอร์" เสนอไว้ว่าจะเป็นรูปแบบที่จะสามารถนำไปสู่การสร้างความแตกต่างในวิธีการ (differentiation) ทำงานและเลือกประเด็นทางสังคมและนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการ แข่งขัน (competitiveness) ขององค์กรในระยะยาว ทั้งยังสามารถสร้างคุณค่าร่วม (shared value) ให้กับทั้งองค์กรและสังคม ในรูปแบบนี้องค์กรเริ่มกิจกรรม CSR ด้วยตัวเองโดยไม่ได้ถูกกดดันจากภายนอก (inside-out) โดยเชื่อมโยงกับความต้องการของสังคม (outside-in) ซึ่งเป็น รูปแบบในการยกระดับการทำงาน CSR ที่เขาเสนอและเชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการ ดำเนินความรับผิดชอบมากกว่ารูปแบบแรก

คุณค่าที่เกิดจากใจ

" แม้ว่าเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า CSR ในเชิงกลยุทธ์นั้นเป็นคำตอบของธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อ สังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่กิจกรรม CSR ในเชิงกลยุทธ์ หรือการคิด CSR ในเชิงยุทธศาสตร์จะถูกปล่อยออกมาจากสมองซีกซ้าย ในการวิเคราะห์หาเหตุผล คำนวณความคุ้มค่า ต้นทุนและประสิทธิภาพ ในขณะที่ CSR ในเชิงสร้างสรรค์จะถูกปล่อยออกมาจากสมอง ซีกขวาซึ่งเป็นการคิด CSR ในเชิงยุทธศิลป์ ที่ต้องอาศัยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและความรู้สึกเป็นสำคัญ และเราเชื่อว่าในการทำ CSR หลายเรื่องไม่ได้ออกมาจากแค่ความรู้ แต่ต้องมาจากความเอื้ออาทร ออกมาจากความช่วยเหลือ" ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์กล่าว

และขยายความว่า "CSR ในเชิงสร้างสรรค์จะสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาขีดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (cohensiveness) กับสังคม สังคมในที่นี้กินความกว้างขวางมาก หมายถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม รวมถึงลูกค้า ดังนั้นถ้าทำ CSR ในเชิงสร้างสรรค์ประโยชน์ก็จะตกกลับมาสู่องค์กรโดยอัตโนมัติ และยังสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสังคมได้มากกว่า"

โดยจุดเด่นของ CSR ในเชิงสร้างสรรค์นั้นอยู่ที่การพัฒนากิจกรรมในเชิงความร่วมมือ (collaborative) ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างไม่แบ่งแยก ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างองค์กรและสังคมเลือนรางจนแทบแยกไม่ออก

ขณะ เดียวกันยังอยู่ที่วิธีการในการทำกิจกรรม ซึ่งใช้นวัตกรรมในการดำเนินงาน ซึ่งจะกลายเป็นเอกลักษณ์และล้ำกว่าเพียงการสร้างความแตกต่างของการทำ CSR เชิงกลยุทธ์

นวัตกรรมคือตัวช่วย

ดร.พิพัฒน์ยกตัวอย่าง นวัตกรรมของวิธีการในการทำกิจกรรมไว้ว่า "นวัตกรรมในการแสดงความรับผิดชอบใน CSR เชิงสร้างสรรค์น่าจะหมายถึงนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้การแสดงความรับ ผิดชอบขององค์กรไม่ได้ทำให้องค์กรต้องสูญเสีย เช่น "อีโคฟอนต์" ฟอนต์ตัวอักษรใหม่ที่มีช่องว่างตรงกลางที่ทำให้ลดการใช้หมึกพิมพ์ได้ถึง 20% ซึ่งการจะรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดใช้หมึกพิมพ์ โดยที่องค์กรไม่ต้อง สูญเสียในสิ่งที่ตัวเองเคยทำและยังสามารถพิมพ์เอกสารได้ตามปกติ กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการใช้หลอดไฟแบบไส้ กับหลอดแบบตะเกียบ บางองค์กรเวลาประหยัดพลังงานอาจจะจำเป็นต้องปิดไฟบางจุดทำให้อาจจะส่งผลเสีย ต่อการทำงาน ซึ่งแทนที่จะปิดไฟ เราก็เปลี่ยนมาใช้หลอดตะเกียบที่ใช้พลังงานลดลง เราก็ไม่ต้องเสียสุขภาพสายตา อย่างนี้เราถึงบอกว่านวัตกรรมจะเป็นวิธีการในการแสดงความรับผิดชอบที่องค์กร ไม่ต้องสูญเสีย"

อย่างไรก็ตาม เขายังได้อธิบายถึงรูปแบบ CSR ในเชิงสร้างสรรค์ที่สถาบันเป็นผู้กำหนดขึ้นว่า "เราไม่ได้บอกว่า การทำ CSR ในรูปแบบไหน ทั้ง 3 แบบ ไม่ว่าจะเชิงรับ เชิงรุก หรือเชิงสร้างสรรค์ ทำแบบไหนแบบเดียวจึงดีที่สุด แต่เราจะเห็นว่า ถ้าลองกลับไปดูในรายองค์กรจริงเราจะเห็นพัฒนาการ CSR ใน 3ระดับนี้ผสมอยู่ด้วยกันในองค์กร เพียงแต่ที่เรานำเสนอรูปแบบการทำ CSR ในเชิงสร้างสรรค์เพราะเราเห็นว่าการทำงานรูปแบบนี้เริ่มปรากฏมากขึ้น และเชื่อว่าน่าจะสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้เหนือกว่าบนพื้นฐานของบริบทสังคม และวัฒนธรรมไทยๆ ซึ่งมีจุดเด่นของความเอื้อเฟื้อเป็นที่ตั้ง"

และ เป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นการพัฒนาการ CSR เที่ยวล่าสุดที่ก้าวหน้ากว่าและสร้างคุณค่าได้มากกว่าแนวคิด CSR ที่มักถูกกำหนดจากฝั่งตะวันตก !!



ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01090252&day=2009-02-09&sectionid=0221




ไม่มีความคิดเห็น: