วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

The Secret สูตรลับ "ความสำเร็จ" องค์กรมือรางวัล


ถ้า ไล่ย้อนกลับไปนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 จนปัจจุบันมกราคมปี 2552 นับเป็นปีทองขององค์กรธุรกิจไทย ในการปักธงด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) บนเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาคในการคว้ารางวัลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

องค์กรเหล่านี้ถือเป็นองค์กรที่อยู่ในลีก "ผู้นำด้าน CSR"

แม้ว่า "รางวัล" อาจจะไม่ใช่เป้าหมายปลายทางสูงสุดของคนและองค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้

แต่การได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติและเวทีชั้นนำในระดับประเทศย่อมสะท้อนนัยสำคัญบางประการของ ความสำเร็จ

ความ สำเร็จที่แม้จะมีแนวทางในการทำงานที่แตกต่าง หากแต่ในเวลาเดียวกันกลับมีจุดร่วมบางประการ และเป็นจุดร่วมที่ "ประชาชาติธุรกิจ" เชื่อว่า เป็นเสมือนสูตรลับความสำเร็จในการปรุงแต่ง CSR ภายในองค์กรให้ได้รับการยอมรับ

ปรัชญาแห่งความรับผิดชอบ

ถ้า จะสังเกตบรรดาองค์กรมือรางวัลด้าน CSR จะเห็นว่าแทบจะทุกองค์กรมีรากฐานของการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบเป็น หลักในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าวันนั้นอาจจะยังไม่มีคำว่า CSR ด้วยซ้ำ

เหมือน อย่างที่ "อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญาของท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ที่วางไว้ว่า การทำธุรกิจจะต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของทุกๆ ประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยจะต้องสร้างประโยชน์ 3 ประสานในทุกๆ แผ่นดินที่เปิดโอกาสให้ ซี.พี.เข้าไปทำธุรกิจ นั่นคือต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือผู้บริโภคในประเทศนั้น และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทและพนักงานทุกคน ซึ่งเราจะวัดน้ำหนัก ให้ความสำคัญของสามส่วนนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนภาพความเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ อย่างชัดเจน



หัวใจอยู่ที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

และ ทุกองค์กรที่ความรับผิดชอบต่อ "ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย" (steakholders) ถือเป็นหลักสำคัญในการทำ CSR ในองค์กร เช่น "บางจากฯ" มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ โดย "บางจากฯ" ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในคู่มือนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ขณะที่ "เมอร์ค" มีมุมมองในการทำ CSR โดยเอาใจใส่ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยไม่เพียงดึงพนักงาน ลูกค้า เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอาสาสมัคร ยังให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิ รักษ์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยผสมผสานการช่วยเหลือทั้งในแง่ของ งบประมาณและการแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ องค์กรที่สนใจในการทำ CSR อย่างไม่มีปิดบัง

จัดโครงสร้างองค์กรด้าน CSR ที่นำไปสู่แนวปฏิบัติ

ในการขับเคลื่อนแต่ละองค์กรจะไม่มีสูตรในการจัดโครงการองค์กรที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบในแบบเดียวกัน อาทิ เอสซีจีที่มีเป้าหมายการ

พัฒนา อย่างยั่งยืนโดยมี CSR เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการไปถึงเป้าหมาย โดยจะมีคณะกรรมการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ที่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน ยังมีคณะกรรมการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในระดับกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มธุรกิจที่ เอสซีจีมี ไปจนถึงคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนระดับบริษัท ซึ่งมีการทำงานอย่างสอดคล้องกันที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล

ขณะ ที่เมอร์คซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีโครงการซับซ้อนมากนัก จึงมีการก่อตั้งฝ่าย CSR ที่ขึ้นตรงกับกรรมการผู้จัดการบริษัท โดยทำหน้าที่ประสานและสร้างการมีส่วนร่วมโดยมีทีมที่เรียกว่า "แคร์ คอร์ ทีม" (Care Core Team) ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาเป็นแกนหลักในการร่วมขับเคลื่อน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะ เป็นการจัดโครงการองค์กรแบบใด ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกหน่วยขององค์กร เพราะ CSR ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

กระบวนการที่เริ่มจากข้างใน

ที่ "บางจากฯ" วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารเทคโนโลยีและสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ที่บางจากเราเน้นการทำ CSR ภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR in process) เป็นสำคัญ และแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม (CSR after process) ควบคู่กันไป โดยจะมองว่าสามารถเข้าไปยังพื้นที่ไหน และประเด็นทางสังคมใดได้บ้าง ตัวอย่างที่เห็นการเชื่อมโยงกับสังคมที่เป็นที่คุ้นเคยคือการส่งเสริมการขาย ด้วยการแจกไข่ หรือผลผลิตของชาวบ้านซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและผลจากราคา น้ำมันที่สูงในช่วงที่ผ่านมาทำให้เราหันมาเน้นในเรื่องพลังงานทดแทนมากยิ่ง ขึ้น เพราะเป็นผลกระทบที่สังคมทุกส่วนจะต้องได้รับในอนาคต"

ว่าด้วยงบประมาณ

ใน ด้านงบประมาณ จากการสำรวจจะพบว่าแต่ละองค์กรจะมีการตั้งงบประมาณที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะไม่มีการกำหนด งบประมาณที่ชัดเจน เช่น กำหนดสัดส่วนกำไร แต่จะใช้วิธีการในการนำเสนอโครงการและพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการ มากกว่า โดยองค์กรผู้นำด้าน CSR ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับโจทย์ของประสิทธิผลและความยั่งยืนของโครงการเป็น สำคัญ เช่นที่ "มัทนา เหลืองนาคทองดี" ที่ปรึกษาด้านสื่อสารองค์กรของ "เอสซีจี" เคยบอกว่า "รูปแบบในการเข้าไปช่วยเหลือสังคมของเอสซีจี คือเราไม่ได้เอาเงินไปช่วย เราไม่ได้เป็นผู้ให้ แต่เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ และเมื่อถึงวันหนึ่งที่เราเดินออกมา แล้วเขาจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน"

สร้างการมีส่วนร่วม

บน เวที The Global CSR Summit Awards "ไฮน์ซ ลันดาว" อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของเมอร์ค ประเทศไทย กล่าวไว้ในสุนทรพจน์บนเวทีวันนั้นว่า "ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้กับพนักงานและลูกค้าของเมอร์ค ประเทศไทยที่ให้การ สนับสนุนเมอร์ค ประเทศไทย เป็นอย่างดีมาโดยตลอดผ่านโครงการพนักงานและลูกค้าอาสาสมัคร" เพราะว่ากันว่าปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของการขับเคลื่อน CSR ของเมอร์ค (ประเทศไทย) มีหัวใจอยู่ตรงนี้ โดยในวัตถุประสงค์ 4 ประการของการทำ CSR ประกอบไปด้วย 1.การช่วยเหลือสังคมไทย 2.การสร้างความผูกพันกับลูกค้าและพนักงาน 3.เป็นบริษัทที่ห่วงใย และ 4.สามารถสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง ซึ่งที่ผ่านมาจากการได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรมาทำ งานร่วมกันผ่านงานอาสาสมัคร ผลสำรวจของลูกค้าและพนักงานที่มีอัตราเพิ่มขึ้นในระดับ 80% ต่อการที่บริษัทเป็นบริษัทที่แสดงความใส่ใจสังคม

และนี่คือสูตรที่ ไม่ลับขององค์กรซึ่งประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ของไทยที่เต็มไปด้วยหลักคิดที่ลำพังเพียงขนาดขององค์กรไม่ใช่คำตอบ !!

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01230252&day=2009-02-23&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: