วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

ไขรหัสลับ Shred2Share ปี 2

ไขรหัสลับ Shred2Share ปี 2 "เปลี่ยนความลับเป็นความรัก"


แม้ "อินโฟเซฟ" บริษัทในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ และบริการของบริษัทในฐานะผู้จัดเก็บเอกสารและย่อยทำลายข้อมูลสำคัญอย่างเป็น ระบบตามมาตรฐานสากล จะยังใหม่มากสำหรับสังคมไทย

แต่สำหรับอัตราการ เติบโตแบบก้าวกระโดดของพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อสังคม "Shred2Share" จากปีแรก ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 จนก้าวเข้าสู่โครงการปีที่ 2 ที่เพิ่งเปิดตัวโครงการไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จาก 18 องค์กรมาเป็น 36 องค์กร สำหรับบริษัทหน้าใหม่นั้นย่อมถือเป็นความไม่ธรรมดา

เป็นความไม่ธรรมดาที่เกิดจากการที่ "อินโฟเซฟ" เลือกใช้ความสามารถหลักซึ่งเป็นองค์กรแรกในไทยในการให้บริการย่อยทำลาย เอกสารลับตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นความต้องการหลักขององค์กรชั้นนำในการดูแลเอกสารความลับของลูกค้า มาเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

โดยนำไปบวกกับประเด็นทาง ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผลกระทบทางตรงจากการนำเอกสารลับมาย่อยสลายและนำกลับมารีไซเคิลเพื่อ ผลิตเป็นกระดาษใหม่ ที่ในระยะเวลา 8 เดือนของโครงการปีแรก สามารถรวบรวมเอกสารที่นำไปรีไซเคิลได้ถึง 433 ตัน ซึ่งช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 113 ตัน ลดการใช้ถ่านหินได้ 48 ตัน และลดการใช้น้ำลงไปได้มากถึง 21,650 ลูกบาศก์เมตร

และคาดว่า ในโครงการปีที่ 2 ซึ่งขยายเวลาจากโครงการแรกมาเป็น 1 ปี 2 เดือน และมีองค์กรพันธมิตรที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จะสามารถรวบรวมกระดาษได้ถึง 1,000 ตัน และหลังจากนำกระดาษมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วจะสามารถช่วยลดการเกิดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ จากการผลิตกระดาษใหม่ได้ถึง 260 ตัน ลดการใช้ถ่านหิน 110 ตัน และลดการใช้น้ำลงไปได้ 50,000 ลูกบาศก์เมตร

ในเวลาเดียวกันยัง สร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมในด้านการศึกษา เพราะในกระดาษทุก 1 ตันที่ได้รับจากองค์กรพันธมิตรที่จะนำมารีไซเคิล "อินโฟเซฟ" จะมอบเงินสมทบ 2,000 บาท เพื่อการ แบ่งปันสู่สังคม ในการนำไปจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนและหนังสือจำนวน 5,000 เล่มให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนในโรงเรียน 7 แห่ง ซึ่งในปีแรกมีการบริจาคไปแล้วกว่า 866,000 บาท โดยคาดว่าโครงการในปีที่ 2 จะยังขยายความช่วยเหลือไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งยังมีความขาดแคลนอีกมาก

หากมองถึงมูลค่าเฉพาะเม็ดเงินบริจาคจะเห็นว่าจำนวนเม็ดเงินอาจจะไม่มากเท่ากับหลายต่อหลายโครงการ

ซึ่ง "เชาวลิต เอกบุตร" กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวตอนหนึ่งขณะเปิดโครงการในปีที่ 2 ว่า "โครงการของเรามีมูลค่าเงินไม่เยอะ แต่เราเชื่อว่าจากการที่มีพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นจะทำมูลค่าของโครงการเพิ่ม ขึ้นตาม เราต้องการแสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจในเรื่องความลับและเปลี่ยนความลับให้ เป็นความรักในการ แบ่งปันสู่สังคม"

พันธมิตรที่เขากล่าวถือเป็นกล จักรหลักที่ทำให้โครงการนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างที่ "พีระพงษ์ กลิ่นละออ" ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด ดีแทค ในฐานะพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า "การทำความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ที่มาร่วมกันถือเป็นการทำงานแบบก้าวข้ามอุปสรรค และสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มหาศาล ในโครงการนี้ยังมีส่วนช่วยให้พนักงานขององค์กรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเรื่อง การอนุรักษ์อย่างชัดเจน"

ซึ่งถือเป็นการสร้างผลต่อสิ่งแวดล้อมทาง อ้อมของโครงการ ในการกระตุ้นให้พนักงานใน 36 องค์กรต่างๆ ปรับทัศนคติในการแสดงความรับผิดชอบต่อข้อมูลองค์กรและลูกค้าตลอดจนเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรในออฟฟิศของตัวเองมากขึ้น

อย่าง ที่ "มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟเซฟ จำกัด บอกว่า "การดูแลข้อมูลที่เป็นความลับถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย เราจึงต้องการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในระดับองค์กร สุดท้ายเราเชื่อว่าจะสามารถสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ไปจนถึงผู้บริโภค เพราะปัจจุบันอัตราการรีไซเคิลกระดาษ สีขาวนั้นมีเพียง 10% ของปริมาณกระดาษทั้งหมดที่ได้รับการรีไซเคิลในไทย"

ซึ่งถือเป็นเป้าหมายปลายทางในระยะยาวที่จะสามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณค่าขององค์กรในอนาคต !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03160252&day=2009-02-16&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: