วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

ฝายที่ 10,000 ของ "เอสซีจี" กับความหมายที่ซ่อนอยู่



โดย สดศรี คุปตะพันธ์


" จำนวนตัวเลข 10,000 ฝาย เป็นเหมือนกิมมิกแต่เราก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเราเชื่อว่าการทำ โครงการเพียงปีหรือ 2 ปีนั้นจะยังไม่เห็นผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากเพียงพอ" มัทนา เหลืองนาคทองดี ที่ปรึกษาด้านสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) เคยกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ไว้เช่นนั้น

เพราะแม้ในวันที่เริ่ม ต้น กิจกรรม "SCG รักษ์น้ำ 10,000 ฝายถวายพระเจ้าอยู่หัว" เมื่อปลายปี 2549 จะมีจำนวนฝายที่ 10,000 ฝายเป็นหลักชัยที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 หากแต่เมื่อมองวิธีคิดที่แท้จริง ภายใต้กรอบการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ของเอสซีจีแล้ว จะเห็นได้ว่า

ยังมีอีกหลายความหมายที่ซ่อนอยู่ บนตัวเลข 10,000 ฝาย !!

ประการ หนึ่งคือหัวใจในการพัฒนากิจกรรม ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของผู้รับที่จะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว ประการที่ 2 เป็นการผลักดันประเด็นทางสังคมที่ เอสซีจีมุ่งเน้น ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมในวงกว้าง

"กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงปลายทาง แต่สิ่งที่เรามุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นก็คือการ สร้างจิตสำนึกที่ดีในสังคม ในการสร้างฝายเราต้องการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์น้ำให้เกิดขึ้นในสังคมวง กว้าง" มัทนากล่าว

"การอนุรักษ์น้ำ" ที่ถือเป็นประเด็นหลักของความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (1 ใน 4 เสาหลักความรับผิดชอบที่ประกอบด้วย 1.ธรรมาภิบาล 2.สิ่งแวดล้อม 3.การพัฒนาสังคม 4.การคืนกำไรสู่สังคม) ซึ่ง "เอสซีจี" ทำการศึกษาและพบว่าปัญหาเรื่องน้ำกำลังเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำแล้ง น้ำเกิน น้ำขาด ที่ผ่านมายังมีกิจกรรมอนุรักษ์น้ำอื่นๆ อาทิ โครงการแก้มลิง โครงการเรือกำจัดผักตบชวา และการบำบัดแหล่งน้ำโดยวิธีชีวภาพ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วมีปลายทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ขององค์กร

ดัง นั้นในวันที่คณะผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) นำโดย "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย ได้พาทีมอาสาสมัครที่เป็นพนักงานในองค์กร พันธมิตรจากองค์กรต่างๆ รวมไปถึงคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เพื่อร่วมสร้างฝายลำดับที่ 9,901-10,000 ที่บริเวณป่าอนุรักษ์ แม่ทรายคำ อ.แจ้ห่ม และ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เมื่อไม่นานมานี้ บางตอนที่ "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวเป็นผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากโครงการที่กำลังจะนำไปสู่เป้าหมาย ปลายทางที่แท้จริง ของความยั่งยืนทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านสังคม

เขากล่าว ว่า "ข้อดีเห็นชัด จากการสร้างฝายที่มีองค์กรทางหน่วยการศึกษามาทำวิจัย เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าที่มีการสร้างฝาย พบว่ามีผีเสื้อกลางคืนเพิ่มขึ้นถึง 100% กลางวัน 70% มีพันธุ์นกจำนวนมากขึ้น จาก 78 ชนิด ตอนนี้ 129 ชนิด สายพันธุ์ ต้นไม้ขึ้นเองมีหลากหลายชนิด การสร้างฝายจึงเกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของคนในชุมชน จึงช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สร้างความสามัคคีและเป็นการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่าง ยั่งยืน"

บาง บทตอนจากปากของคนชุมชนแห่งบ้านสามขา อ.แม่ทา จ.ลำปาง ต้นแบบแก้ปัญหาในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเสียงสะท้อนที่ตอกย้ำให้เห็นมิตินี้ชัดขึ้น

"หนานชาญ อุทธิยะ" ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งบ้านสามขา เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า "ฝายได้ช่วยในเรื่องมิติทางสังคม เพราะก่อนหน้านี้พบปัญหาสังคม อบายมุขในหมู่บ้านมีมาก สิ่งแวดล้อมก็มีปัญหา แต่พอเลือกทำฝายชะลอน้ำ ปัจจุบันปัญหาเบาบางไปมาก

"การทำฝาย ต้องมองลึกๆ เป็นสิ่งที่ทำให้คนได้พูดกัน ได้แสดงความคิดเห็นกัน สรุป การสร้างฝาย ทำให้เกิดความชุ่มชื้นในป่า สร้างความสามัคคีให้เกิดกับชุมชน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในมิติอื่นๆ อีก สิ่งแรกที่สำคัญ คือ วิธีคิด การจะทำให้คนปฏิบัติร่วมกันซักอย่าง เราให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของคน พฤติกรรมของคน ส่งผ่านวิธีคิด จากเดิมเขาอาจจะคิดถ้าป่าไม้มีไว้ให้ตัดก็ตัด แต่เมื่อมาทำฝายวิธีคิดเขาจะเปลี่ยน"

กระแสของการอนุรักษ์ยังกำลังจะ ก้าวข้ามจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่น อย่างที่ "จ่าชัย วงศ์ตระกูล" ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสามขาเล่าว่า "ฝายตัวแรกเป็นของเยาวชนในหมู่บ้านสามขาที่สร้างไว้หลังโรงเรียน 20 ฝาย พอมีไฟไหม้ป่าหลังโรงเรียน ซึ่งมีอาคารเรียนที่สร้างไว้มูลค่า 1 ล้านบาทตั้งอยู่ เมื่อเกิดไฟป่า เด็กๆ พากันไปดับไฟที่ฝาย ไม่ไปคอยดับไฟที่โรงเรียน ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราคุยกับเขา เขาเข้าใจ เขาสร้างของเขา เขาจึงหวงแหน ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้ชุมชนเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ นำไปสู่การสร้างฝายของชุมชน"

การรณรงค์และสร้างจิตสำนึกแห่งการ อนุรักษ์จึงไม่ใช่เพียงการรณรงค์ผ่านสื่อ แต่การสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนนั้นเป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้นถ้าย้อนกลับไปนับ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นโครงการ กระบวนการทำงานของ "เอสซีจี" จึงเลือกที่จะใช้วิธี "สร้างฝายให้เกิดขึ้นในใจคน" ก่อนที่จะลงมือลงแรงสร้างฝายจริง

"บวร วรรณศรี" ผู้จัดการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์ทรัพยากร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เล่าว่า "แรกเริ่มทำฝาย การเชิญชวนคนในชุมชนมาร่วมทำ ตอนแรกก็มีทั้งคนร่วมมือด้วย ไม่ร่วมด้วย สิ่งแรกที่ทำ เราไม่ใช้ทุนนำ ไม่พูดถึงงบประมาณ ไปคุยกับชาวบ้านถึงสิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาบ้านตัวเอง ฝาย ใช่หรือไม่ ไปทำความเข้าใจจนเขามีความคิดเห็น จนไปสู่การสร้างฝาย"

" บางแห่งขยับเร็วบ้าง ช้าบ้าง ไม่ขยับก็มี เรายึดหลักว่าถึงไม่ทำแต่เข้าใจก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ซึ่งเทคนิคที่เราเข้าไปคือใช้ความจริงใจ เอาประโยชน์ชุมชนเป็นที่ตั้ง ทำเวทีชุมชนขึ้นมา การสร้างฝาย การฟื้นป่า ถ้าป่าฟื้น แหล่งเก็บน้ำก็มีถาวรดีกว่าสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอ่างเก็บน้ำพอถึงหน้าแล้งน้ำก็แห้ง แต่ถ้าเป็นป่าซับน้ำจะมีน้ำทั้งปี มีความอุดมสมบูรณ์ของป่า หาอาหารจากป่าได้ ปัญหาหนี้สินก็ลดลง"

จาก บทเรียนการทำงานที่ผ่านมาเขาจึงเชื่อว่า "เวลาแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องเดินทางตรง แก้ปัญหาหนี้สิน ป่าฟื้น มีความ อุดมสมบูรณ์ ป่าก็มาตอบปัญหาหนี้สินของคนได้เพราะได้พึ่งพิงอาหารจากป่าได้ เวลาคิด ทำให้ชาวบ้านคิดหลายๆ ชั้น มี บันไดหลายๆ ขั้น เหนือสิ่งอื่นใด ฝายชะลอน้ำเป็นเหมือนสิ่งที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นโรงเรียนชีวิต"

บทเรียนระหว่างทางของการสร้างฝายจึงมีคุณค่าไม่ ยิ่งหย่อนไปกว่าจำนวนตัวเลข 10,000 ฝาย ดังนั้นนับจากนี้แทนที่จะตัดสินใจปิดโครงการ จากนี้ไป "เอสซีจี" จึงยังเดินหน้าต่อ แม้ว่าจะไม่มีการตั้งเป้าหมายเช่นเดียวกับที่ผ่านมา

" เราจะยังสร้างฝายต่อไป ปีนี้วางแผนไว้ 1,000-2,000 ฝาย และช่วยกันดูแลฝายเดิมๆ ที่สร้างเอาไว้ เพราะต้องให้ใช้งานได้ดีตลอด เนื่องจากเมื่อฝายผ่านน้ำแรกก็มีการชะไปบางส่วน อาจจะต้องซ่อมแซม และก็ต้องให้ชุมชนช่วยดูแลให้ฝายสมบูรณ์และเราจะช่วยสนับสนุนด้านความรู้ เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดกับชุมชน" กานต์กล่าว ก้าวต่อของเอสซีจีจึงเหมือนเป็นการสานต่อเพื่อที่จะประคับประคองชุมชนให้ สามารถก้าวเดินอย่างเข้มแข็งได้ในที่สุด

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04090252&day=2009-02-09&sectionid=0221



ไม่มีความคิดเห็น: