วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

ความจริงเรื่อง "เอดส์" กับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในองค์กร




แม้ ไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่การบริหารจัดการเรื่องเอดส์ดีที่สุดในโลก เพราะใน 10 กว่าปีที่แล้วคนไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อถึงปีละ 1 แสนกว่าคน แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเหลือเพียง 1 หมื่น 4 พันคน ลดลงมาถึง 90 เปอร์เซ็นต์

จากตัวเลขของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2551 ที่พบว่าผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงในกลุ่มอายุ 25-34 ปี เกือบร้อยละ 50 และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นชายที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และวัยแรงงานถึงร้อยละ 84

แต่กระนั้นโรคเอดส์ยังเป็นสาเหตุในการ ตายในลำดับต้นๆ ในหมู่พนักงานทั้งชายและหญิง โดยร้อยละ 80 ติดจากเพศสัมพันธ์ และร้อยละ 33 ติดจากสามีหรือคู่รักของตนเอง

"เอดส์" จึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างที่สุด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะมีองค์กรสักกี่แห่งที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยเฉพาะการสนใจที่จะดำรงอยู่กับปัญหานี้

" สถานประกอบการบางแห่ง ถ้าตรวจสุขภาพพนักงานแล้วมีเชื้อเอดส์ก็คัดออกเลยก็มี แต่เรามองว่าการกีดกันไม่ใช่ทางออกของปัญหา การกำหนดเป็นนโยบายและมีการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างถูกต้องจึงถือเป็น ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งขององค์กรธุรกิจ" ดร.แอนโทนี่ ประมวญรัตน ผู้อำนวยการสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (Thailand Business Caolition on AIDS) หรือ TBCA ที่ปรึกษาและช่วยจัดการปัญหาเอดส์ในองค์กรธุรกิจกล่าว

ฝ่าทัศนคติที่เป็นลบ

การ บริการจัดการเอดส์ในองค์กรจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อพนักงาน ที่ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (stakeholders) ขององค์กร ซึ่งปัจจุบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้สนับสนุนให้สถานประกอบการนำ "แนวปฏิบัติเรื่องเอดส์ในโลกแห่งการทำงาน" มาใช้เป็นหลักสากลในการกำหนดนโยบายของสถานประกอบการ อาทิ นโยบายไม่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติ นโยบายไม่บังคับพนักงานและผู้สมัครงานให้ตรวจเชื้อเอชไอวี นโยบายเก็บรักษาความลับของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กระทั่งนโยบายในการให้การดูแลช่วยเหลือพนักงานที่ติดเชื้อ เอชไอวี ฯลฯ

บท เรียนของ 2 องค์กร บริษัท ฟูจิคูระ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดปทุมธานี และมณีจันท์ รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการที่สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (Thailand Business Caolition on AIDS) ได้คัดเลือกให้รับรางวัลสถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการเรื่องเอดส์ดี เด่นประจำปี 2551 จึงน่าสนใจ

โดยเฉพาะที่ "ฟูจิคูระ" ซึ่งเริ่มต้นบริหารจัดการเรื่องเอดส์อย่างเป็นระบบเมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากพบว่าโรคเอดส์กลายเป็นปัญหาที่คร่าชีวิตพนักงานไปไม่น้อย บนโจทย์ของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีนโยบายปลดคน ไม่ว่าพนักงานจะป่วยเป็นโรคอะไร จึงเป็นที่มาของการใส่ใจปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ต่อต้านและเกี่ยงงอนกับ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

" สิ่งที่เราทำคือไม่กีดกันผู้ติดเชื้อและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเขา "ชานนท์ วัชรสกุณี" ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ฟูจิคูระ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอ นิกส์กล่าว

และเล่าให้ฟังถึงวิธีการ บริการจัดการปัญหาโรคเอดส์ในบริษัทว่า การจะทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งอยู่ร่วมในสังคมที่มี พนักงานอยู่กว่า 6 พันคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการดำเนินงานของฟูจิคูระในเบื้องต้น คือเมื่อรู้ว่าพนักงานคนใดมีอาการและเมื่อผู้ติดเชื้อหยุดงาน บริษัทก็จะตามไปดูแลถึงบ้านพร้อมกับแนะนำโรงพยาบาลเพื่อไปรักษาตัว เมื่อดีขึ้นก็จะให้กลับเข้ามาทำงาน

ขณะที่ในโรงงานก็มีการให้ความ รู้และทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกมีการจัดเป็นพื้นที่พิเศษให้นั่ง แต่พอเพื่อน พนักงานได้ความรู้และเกิดความเคยชินก็ไม่มีปัญหาที่จะทำงานร่วมกับ ผู้ติดเชื้อ

"บริษัททำโครงการนี้ย่างเข้าปีที่ 6 เพื่อทำอย่างไรให้คนป่วยกลับมาทำงานกับเราได้และเพื่อนร่วมงานพร้อมที่จะ อยู่กับเขา เพราะลักษณะการทำงานที่เป็นไลน์การผลิตที่มีที่นั่งติดกัน ถ้าเราไม่ให้ความรู้ก็คงไม่กล้ามาทำงานใกล้ๆ เราจึงจัดกิจกรรมที่ให้ความรู้กับพนักงานว่าทำอย่างไรติด อย่างไรไม่ติดรวมทั้งการระวังตัวของผู้ติดเชื้อ หลังจากที่เราทำโครงการปัญหาก็ลดน้อยลงมาก เพราะการติดเอดส์นี่ง่ายมาก ถ้าเราไม่ได้ให้ความรู้เขาอย่างต่อเนื่อง" ชานนท์กล่าว

ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ทุก วันนี้บริษัทยังนำปัญหาเอดส์เข้าบรรจุอยู่ในแผนธุรกิจ เรื่องเอดส์จึงมาอยู่ในนโยบายและแตกหน่อออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองจาก โรคเอดส์อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้บริหารมาร่วมด้วย และมีการส่งเจ้าหน้าที่หญิงไปอบรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเพื่อนพนักงานหญิง และตั้งกรรมการของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างเครือข่ายให้ความรู้ป้องกัน ระวัง โรคเอดส์ในโรงงาน นำถุงยางมาขายในห้องน้ำหญิง เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า นอกจากนี้ทุกปีเราจะมีตั้งจุดบริจาคเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือ พร้อมจัดพนักงานไปดูที่วัดพระบาทน้ำพุ 2 ปีต่อครั้ง และทุกสิ้นเดือนโรงงานจะมีการจัดพื้นที่ตลาดนัดให้ผู้ติดเชื้อเข้ามาขายของ

เขายังบอกด้วยว่า "ยุคที่มีเรื่องซีเอสอาร์จะมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันมากว่าเรามีการปฏิบัติต่อ พนักงานในโรงงานอย่างไร โดยเฉพาะโรคติดต่อ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะโรคเอดส์ แต่หมายถึงเรารับพนักงานโดยไม่กีดกันว่าเขาจะเตี้ย สูง ผอม อ้วน พิการ หรือเป็นโรคติดต่ออื่นๆ เพราะเราถือว่าเป็นเรื่องที่บริษัทต้องทำ ถ้าไม่ทำและเลือกที่จะผลักออกไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งในท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นที่โรงงานต้องเจอกับปัญหานี้ เพราะเราก็อยู่ในสังคมเช่นเดียวกัน"

ถึงวันนี้ปัญหาโรคเอดส์ในโรง งานของ "ฟูจิคูระ" นอกจากจะลดลงแล้ว อานิสงส์ในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังยังไม่ทำให้เกิดปัญหา สร้างบรรยากาศที่ดียิ่งในการทำงาน เมื่อพนักงานรู้สึกว่าองค์กรคือบ้าน ดังนั้นแม้ว่าวันนี้จะเผชิญปัญหาต้องลดเวลาในการทำงาน นอกจากไม่บ่นแล้ว พวกเขายังร่วมแรงร่วมใจกันที่จะฝ่าวิกฤต

เมื่อองค์กรคือบ้าน

ผล บวกที่เกิดขึ้นคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน รีสอร์ตเล็กๆ ในจังหวัดจันทบุรี อย่าง "มณีจันท์ รีสอร์ท" ที่ "รจนกร ยิ่งชล" ผู้ช่วยผู้บริหาร มณีจันท์ รีสอร์ท บอกว่า จากการนำนโยบายเอดส์มาใช้ในองค์กร คนทำงานก็มีความสุข เพราะ จากที่เคยทำกันคนละทิศทางก็กลายเป็นพลังขึ้นมา เพราะมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

แม้จุดเริ่มต้นของที่นี่จะแตกต่างกับ "ฟูจิคูระ" ที่มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ติดเชื่อเอชไอวี แต่สำหรับที่ "มณีจันท์ รีสอร์ท" ในวันที่เริ่มต้นให้ความสำคัญเรื่องนี้เมื่อ 2 ปีก่อน แม้ว่าจะไม่มีพนักงานเป็น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับมองเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ การทำงานที่นี่จึงเป็นไปในลักษณะของการทำงานเชิงรุกในด้านการป้องกันเพื่อ ไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นมากกว่า

แม้ว่าธุรกิจในเซ็กเตอร์บริการเช่น โรงแรม บางคนอาจจะมองว่าการไม่กีดกัน ผู้ติดเชื้อ หรือการเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาสังคมด้านนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบกับ ธุรกิจจากความกังวลใจของผู้เข้าพัก

ขยายผลสู่สังคม

แต่ "รจนกร" กลับยืนยันว่า "ผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่กีดกันคนที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีการบังคับตรวจเลือดพนักงาน แทนที่ลูกค้าจะกลัว กลับทำให้มีลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้าใจในเรื่องนี้มาใช้บริการ รู้สึกชื่นชมเราว่าเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่รับได้และเปิดเผยว่ามีการจัดทำ เรื่องโรคเอดส์"

"การที่เราให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ ทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้น เพราะเขารู้สึกดีว่าเขาได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้แล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้ และเลิกพูดถึงผู้ติดเชื้อในทางที่ไม่ดี ในองค์กรเราเริ่มคุยกันว่าจะทำอย่างไร หากมีคนเป็นจริงๆ และขยายไปยังคนที่บ้าน อาจจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ ซึ่งทำให้การรณรงค์เรื่องนี้ขยายผลออกไป ซึ่งเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในองค์กรสามารถขยายผลในเชิงป้องกันไปสู่สังคมได้"

เขายังบอกด้วยว่า "บางบริษัทอาจจะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าพนักงานไม่มีปัญหาโรคเอดส์ แต่จริงๆ แล้วนั่นคือประเด็นสำคัญ เพราะคุณยังไม่มีปัญหา ถึงต้องป้องกัน จะได้ไม่มีปัญหาต่อไป ถ้าเราไม่ได้เป็น ก็อาจจะไปช่วยที่อื่นได้ ให้ความรู้ขยายวงกว้างไป อย่าคิดว่าต้องรอให้เป็นปัญหาแล้วถึงต้องทำ ซึ่งทางโรงแรมก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เกิดปัญหาแล้วทำ อย่างน้อยที่สุดเราก็ช่วยเป็นแขนเป็นขาให้กับคนอื่น"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01160252&day=2009-02-16&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: