วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ใช้หัวใจแบบ CSR เพื่อสร้างคน (จบ)


โดย ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อิมพีเรียล เวิลด์ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย

3.การนำแนวคิด CSR ไปใช้เป็นเป้าหมายในการบริหารสถาบันการศึกษา

มหาวิทยาลัย รังสิตเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เอาหลักการของ CSR มาเป็นเป้าหมายหลักสำหรับบทบาทใหม่ของสถาบันการศึกษาที่มีความรับผิดชอบต่อ สังคม โดยต้องการสร้างจิตสำนึก สังคมธรรมาธิปไตยผ่านการผลักดันในงาน วิชาการ งานวิจัย ชีวิต การฝึกอบรม การสร้างแสงสว่างและปัญญาให้กับเยาวชน

สังคมธรรมาธิปไตยในทรรศนะของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ คือ สังคมที่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ไม่ใช่ทุน หรือเงินเป็นใหญ่

บทบาท ของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ สร้างเยาวชนและสร้างบ้านเมืองตามแนวทางของสังคมธรรมาธิปไตย ดังนั้นคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั้ง 28 คณะ จึงจะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างสอดคล้องกันในการให้การศึกษา ในการค้นคว้าวิจัย และในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

แนวคิด CSR ของมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยมองเห็นว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงแต่จะให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังจะต้องสร้างคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย คนที่มีคุณธรรมก็คือ คนดี มีความประพฤติที่เหมาะสม มีความคิดที่เป็นบวก เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อส่วนรวม เป็นคนที่ ใฝ่หาความรู้และแบ่งบันความรู้ให้กับผู้อื่น โดยมีความเมตตา กรุณา มองการไกล และที่สำคัญที่สุด คือ "มีความรับผิดชอบ" ต่อตนเองและต่อสังคม

แนว คิดนี้อาจจะค่อนข้างยากและคงจะต้องใช้ความพยายามและเวลาที่ค่อยๆ เพาะบ่มจิตใจ ทั้งของอาจารย์และนักศึกษา แต่ก็เป็นการริเริ่มที่ดี และน่าจะเป็นตัวอย่างของอุดมคติการศึกษาให้กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ด้วย

4. การใช้หัวใจของ CSR เพื่อสร้างคน ในองค์กรCSR ส่วนใหญ่มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับสังคม แต่จิตสำนึกของ CSR จะต้องเริ่มภายในองค์กร CSR จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรก่อน หัวใจหลักของ CSR คือ สร้างธรรมาภิบาลให้กับองค์กร นั่นก็คือสร้าง "คุณธรรม" และ "ความรับผิดชอบ" ให้กับพนักงาน สร้างบุคลากรที่มี "คุณภาพ" และมี "คุณค่า" ทั้งกับองค์กรและกับสังคม

คุณภาพและคุณค่า หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจทักษะและความชำนาญในสิ่งที่ตนทำ ด้วยความระมัดระวัง ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้กับงาน ให้กับชีวิต ให้กับสังคม

คุณภาพ ยังครอบคลุมไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน สำหรับทีมงานและสำหรับสังคม ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีความบากบั่น อุตสาหะ ความเพียรพยายาม การใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม

คุณธรรมยังครอบคลุมไปถึง ความซื่อสัตย์" ความตรงไปตรงมา ความยุติธรรม และการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น องค์กรที่ปลูกฝังคุณธรรม ความรับผิดชอบ คุณภาพ และความมีคุณค่าให้กับพนักงานจะเป็นองค์กรที่สร้างคน สร้างสมาชิกที่ดีให้กับสังคม

ทุกวันนี้เรามีปัญหามากมายในสังคม ทั้งปัญหาระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และการเมือง เราก็หวังกันว่าเราจะต้องไปปฏิรูปการศึกษา ไปเริ่มต้นกันใหม่ที่เยาวชน ถ้าเป็นเช่นนี้เราจะต้องมานั่งรอกันอีกกี่ปี กว่าจะเริ่ม กว่าจะดำเนินการ กว่าจะสามารถปลูกฝังคุณธรรม ความรับผิดชอบ ความรู้ ความเข้าใจให้กับคนของเรา

เมื่อปีที่แล้วผมมีโอกาสไปเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้ไปเยี่ยมบ้านและสุสานของ Bertolt Brecht (1898-1956) นักวรรณกรรมและนักการละครของเยอรมนี Brecht ได้ให้ตัวอย่างที่ดีไว้กับสังคม เขาเห็นสภาพของสังคมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมและการเอารัดเอาเปรียบกัน เห็นสภาพของคนจนที่ถูกเอาเปรียบจากชนชั้นปกครองและนายทุน Brecht จึงเริ่มเขียนวรรณกรรมและบทละครขึ้นหลายเรื่อง เพื่อ "สอน" และปลูกจิตสำนึกให้กับผู้คนในสังคม เขาใช้ตัวละครของเขาเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เพื่อความเป็นธรรมและความยุติธรรมของสังคม การใช้ละครเพื่อ "สอน" หรือให้การศึกษากับสังคม ผลงานของ Brecht ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งจนกลายเป็นตัวอย่างที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

บท เรียนที่ผมได้รับจาก Brecht ก็คือ การให้การศึกษานั้นเราไม่จำเป็นจะต้องกลับไปเริ่มต้นที่โรงเรียน หรือระบบการศึกษา เราจะเริ่มที่ไหน หรือโดยวิธีใดก็ได้ที่เหมาะสมกับผู้รับและสถานการณ์ CSR เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะให้การศึกษากับคน และถ้าองค์กรเริ่มใช้ CSR เพื่อ "สอน" เพื่อ "สร้าง" คนในองค์กร เราก็จะได้จุดเริ่มต้น จะได้องค์กรที่มีธรรมาภิบาล องค์กรที่ประกอบด้วย คนดี คนที่มีความซื่อสัตย์ คนที่ใส่ใจกับคนอื่นๆ คนที่ใส่ใจกับปัญหาของสังคม เมื่อมีองค์กรเช่นนี้มากขึ้น จิตสำนึกของคนก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็จะแผ่ขยายออกไปถึงส่วนอื่นๆ ของสังคมต่อไป

เรามาใช้หัวใจของ CSR เพื่อสร้างคนกันเถอะครับ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ไม่มีความคิดเห็น: