วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จาก เอดิสัน ถึง หลอดไฟพร้อมรีไซเคิล

โดย สุวรรณา (อรรถพันธ์) สมใจวงษ์ TukCSR@gmail.com



สมัย ประถมศึกษาเราเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ว่า หลอดไฟดวงแรกของโลกได้ถูกคิดค้นโดย โธมัส เอดิสัน และดิฉันกับเพื่อนๆ ก็ท่องจำกันอย่างนั้นมาจนทุกวันนี้

เมื่อวานดิฉันลองหาข้อมูลดู เล่นๆ ว่า โธมัส เอดิสัน คิดค้นหลอดไฟมาได้อย่างไร และก็ตื่นเต้นเมื่อพบว่าเอดิสันนั้นเป็นคนแรกที่ผลิตหลอดไฟที่ใช้งานได้หลาย ชั่วโมงจนที่สุดได้พันกว่าชั่วโมง ฉีกแนวจาก หลอดไฟในสมัยนั้นมากและยังสามารถนำไปผลิตเพื่อการค้าได้ เขาเป็นผู้คิดต่อยอดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนหน้านั้น หลอดไฟดวงแรกสุดจริงๆ แล้วถูกคิดค้นโดย เซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี่ ชาวอังกฤษ ก่อนเอดิสันประมาณเจ็ดสิบปี แต่ว่ายังขายไม่ได้ เนื่องจากสว่างอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็ดับ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก เรื่องนี้ คือไม่จำเป็นว่าใครจะต้องคิดค้นเป็นคนแรก หากแต่การพัฒนาต่อยอดเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นต่างหาก ที่ช่วยทำให้โลกของเราก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการมาถึงของ "หลอดไฟพร้อมรีไซเคิล" แบบแรกของโลก ซึ่งผลิตโดยเอิร์ทเมต (Earthmate) ภายใต้บริษัทไลท์ทรอนิคส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ไม่เพียงสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 3 ใน 4 ของหลอดไฟแบบเดิม แต่สามารถลดปริมาณสารปรอทได้เป็น 1 มิลลิกรัม นับเป็นการลดปรอทได้ถึง 75% เมื่อเทียบกับปริมาณปรอทในหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แบบมาตรฐานอื่นๆ ที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 4 มิลลิกรัม

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถลดปริมาณสารปรอทได้มากขนาดนี้ แต่ "เอิร์ทเมท" ยังมองว่าการกำจัดต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการนำกลับมารีไซเคิลที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้บริโภค เมื่อหมดอายุการใช้งาน ผู้บริโภคเพียงแค่หยิบหลอดไฟใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุตอนซื้อหลอดนี้มาวาง หลอดลงไป ปิดบรรจุภัณฑ์ด้วยแถบกาวที่มีอยู่บนบรรจุภัณฑ์อยู่แล้วก็หย่อนตู้ไปรษณีย์ ได้เลย แสตมป์หรือค่าส่งก็ไม่ต้องเสียจุกจิก เพราะบรรจุภัณฑ์นี้ทำเตรียมไว้เป็นแบบจ่ายค่าส่งล่วงหน้าแล้ว โดยร่วมมือกับบริษัทรีไซเคิลที่ชื่อ Waste Management, Inc. ในเท็กซัส ซึ่งให้บริการจัดการของเสียอย่างครบวงจรในทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อทำให้การรีไซเคิลง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในบรรจุภัณฑ์ของ หลอดไฟนี้ใช้หมึกที่ทำจากถั่วเหลืองในการพิมพ์ และถูกออกแบบป้องกันการรั่วไหลของสารปรอทด้วย เทคโนโลยีล่าสุด ซึ่งกำลังรอการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับการรั่วไหลหรือรั่วซึมของสารปรอท ด้วยการฉาบที่ชื่อ Mercury VaporLok TM technology ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับปรอทได้ทั้งตอนเก็บหลอดไฟในคลังสินค้าและในระหว่างการขนส่ง กล่องบรรจุภัณฑ์นี้ยังออกแบบมาเพื่อหลอดไฟโดยเฉพาะและได้รับการอนุมัติว่า ปลอดภัยเพียงพอในการขนส่งทางไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมา รัฐบาลของอเมริกามีการรณรงค์ผลักดันและสนับสนุนให้เปลี่ยนจากการใช้หลอดไฟ แบบเก่ามาเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงานอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ยอดการขายหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ประหยัด พลังงานในตลาดโดยรวมยังเพิ่มจาก 20 กว่าล้านหลอดในปี 2543 เป็น 400 ล้านหลอดในปี 2550 และยังมีการคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มอีกอย่างมากเป็นกว่า 4,000 ล้านหลอดในปี 2555

ถ้าถามว่า การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทำได้อย่างไร ส่วนใหญ่เรามักจะตอบกันว่า ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ให้ใช้หลอดผอม ใช้ตู้เย็นเบอร์ 5 ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้ไฟอย่างประหยัด ถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้ ความพยายามเหล่านี้แม้จะช่วยแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อมไม่ได้ครบทุกขั้นตอน แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีและเราควรทำต่อไป

แต่ อีกส่วนที่สำคัญมากคือผู้ผลิตที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางโดยการจัด เตรียมและออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการที่มีความพร้อมในการสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมลดสารพิษ ส่งเสริมการรีไซเคิลได้ง่ายๆ ไม่ลำบาก เอิร์ทเมทเป็นอีกตัวอย่างที่หวังจะช่วยเป็นอีกแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตนำไป ต่อยอดสร้างสรรค์ดูแลผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำได้อย่างดี

เพราะการเป็นรายแรก อาจไม่สำคัญเท่าความมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อไปสู่สิ่ง ที่ดีขึ้น !!

ที่มา ประชาชาติ วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/view_news.php?newsid=02csr04010652&sectionid=0221&day=2009-06-01

ไม่มีความคิดเห็น: