วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หลากมุมมอง "ความรับผิดชอบ"

" การที่สถาบันการเงินจะปฏิบัติตามหน้าที่พื้นฐาน ควรเป็นสิ่งที่ต้องบังคับกัน หากไม่มีแรงจูงใจก็ต้องใช้กฎหมายเปิดเผยข้อมูล ส่วนแนวทางมากกว่านั้นก็คือการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ ยั่งยืน อันนี้อาจจะต้องใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้เซ็กเตอร์ที่ยั่งยืนโดย เฉพาะธุรกิจเพื่อสังคมได้เจริญเติบโตขึ้น" สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระกล่าว

............

"สถาบันทางการเงินต้องมี ความซื่อสัตย์ในการบอกข้อมูลและไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ที่ผ่านมามีการใช้ข้อความโฆษณาที่ผิดกฎหมาย สคบ.พยายามยกมาตรฐานความรับผิดชอบ

ต่อสังคม และใช้มาตรการของความเท่าเทียมกันทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ" ธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ รองเลขาธิการสำนัก งานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

............

"ปัญหาธรรมาภิบาลจะแก้ปัญหาที่ 2 ส่วนเสมอ คือ ระบบและคน ระบบต้องดีคนต้องดี 2 อย่างอยู่คู่กันจึงจะแก้ปัญหาได้ ในแง่ระบบก็ต้องกลับมาที่สถาบันการเงิน ผู้กำกับดูแลในหลายฝ่ายที่จะเข้ามาประสานและดูว่าปัญหาคืออะไร ส่วนคนก็จะนึกถึงศีลธรรม การพูดถึงคนดีก็มักจะเป็นคนที่ปฏิบัติตามกฎ และมีความรู้ในการปล่อยกู้ที่ควรจะมีเกณฑ์มาตรฐานกำหนด เรามักจะได้ยินว่าเวลามีปัญหาก็มักจะเพิ่มกฎหรือแก้กฎ ซึ่งไม่เห็นด้วยเพราะคนที่ทำไม่ดี 2-3 ราย จะทำให้คนที่ทำดีอยู่แล้วทำงานยากขึ้น" ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

............

"แม้ผู้ประกอบการ จะแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่ในมุมมองการบริหารความเสี่ยงแล้วการให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับ ผิดชอบไปด้วยกันได้ เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่ได้ต้องการให้ปล่อยกู้เยอะแล้วกลายเป็นหนี้เสีย ถ้าคิดกำไรต่อเงินทั้งก้อนที่จะสูญเสียไปไม่คุ้มกันเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราปฏิบัติมาตลอด คือเราเป็นบริษัทที่เน้นการมีวินัยทางการเงินทั้งผู้ประกอบการเองและลูกค้า ด้วย" กุสุมาลย์ โลว์ศลารักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบริหารความเสี่ยง บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552


ไม่มีความคิดเห็น: