วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

1 เปอร์เซ็นต์กับสังคมที่ดีขึ้น

โดย สุวรรณา (อรรถพันธ์) สมใจวงษ์ TukCSR@gmail.com



"เราจะจัดสรรปันส่วน งบประมาณขององค์กรมาเพื่อสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมเท่าไรดี"

คำ ถามนี้มีคนถามมากมาย ทั้งผู้ที่คิดวางแผนอยากเริ่มต้นทำ CSR อย่างจริงจัง ผู้ที่ตั้งใจทำ CSR มาสักระยะหนึ่ง รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่ทำ CSR มาอย่างช่ำชองสม่ำเสมอ คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่แปลกและดิฉันมองว่านี่เป็นจุดเล็กๆ อีกจุดหนึ่งที่อาจแสดงให้เห็นว่าผู้ถามมีความสนใจในการอยากทำ CSR อย่างมีระบบที่ดี เชื่อว่าแม้ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน CSR มาเป็นเวลานาน ก็ไม่ง่ายที่จะสามารถตอบคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จให้ทุกองค์กรนำไปใช้ได้เพียง พริบตา เนื่องจากคำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมายในองค์กร

บางองค์กรเลือกที่จะไม่ตั้งงบ ประมาณใดๆ ใช้วิธีดูเอาตามความเหมาะสม บางองค์กรเลือกที่จะตั้งงบประมาณประจำปีเป็นตัวเลขกลมๆ เหมือนกับการตั้งงบฯในส่วนงานอื่นๆ บางแห่งเลือกที่จะตั้งขอบเขตงบประมาณว่าต้องไม่มากกว่าเท่านั้นและ ไม่น้อยกว่าเท่านี้ในแต่ละปี

บางองค์กรก็กำหนดตัวเลขไว้เป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ขององค์กร หรือจากยอดขาย กำไร แตกต่างกันไป

ความ แตกต่างนี้ดิฉันไม่แนะนำให้เราต้องมานั่งสืบเสาะหาคำตอบกันต่อนะคะว่า แบบไหนดีที่สุดในโลก เพราะเรื่องอย่างนี้มันเหมือนกับถามว่า ผู้หญิงคนไหนดีที่สุดในโลกนั่นเอง ถ้าตอบได้ก็ต้องมีคนไม่ยอมแน่ๆ แต่ดิฉันอยากชวนให้เราถามตัวเราเองว่า สำหรับองค์กรเราแล้วแบบไหนเหมาะที่สุดหลังจากพิจารณาทุกปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในองค์กรเราอย่างละเอียดรอบคอบแทน

เชื่อว่าทุกแบบต่าง ก็ถูกสรรค์สร้างขึ้นจากเจตนาในความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งนั้น ซึ่งไม่ว่าจะจัดสรรแบบใดสังคมก็จะได้รับประโยชน์อยู่ดี ดังนั้นทำแบบใดก็ได้ดี ทั้งนั้น ในฉบับนี้ดิฉันมีตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มที่เลือกจะกำหนดงบประมาณขั้นต่ำในการ บริจาคเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ช่วยเหลือสังคมไว้ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (net worth)

กลุ่มนี้เรียกตัว เองว่า "One Percent Club" ซึ่งก่อตั้งจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มุ่งมั่นที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมโดยไม่มีการกำหนดว่าต้องช่วยใคร ช่วยอย่างไร มีเพียงสัญญาใจที่ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าร่วมกลุ่มว่าจะบริจาคอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นประจำทุกปี

สัญญาใจของกลุ่ม นี้ใช้พื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการบังคับให้สมาชิกเปิดเผยข้อมูล สมาชิกไม่ต้องเข้าร่วมประชุมประจำปี ไม่มีกำหนดเวลาใดๆ ไม่มีการรับเงินบริจาคผ่านกลุ่มหรือเก็บเงินบริจาคใดๆ ไม่มีการตรวจสอบการบริจาคให้สมาชิกตะขิดตะขวงใจใดๆ กลุ่มจะรบกวนสมาชิกเพียงแค่การส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมูลนิธิ องค์กรการกุศล ที่สมาชิกสนใจ และข่าวเกี่ยวกับงานสังสรรค์ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกผู้ที่สนใจมาพบปะแลก เปลี่ยนประสบการณ์กันและกันตามความสมัครใจ รวมถึงมีการเชิญให้เข้าร่วมการตอบแบบสำรวจประจำปีตามความสมัครใจโดยไม่ต้อง ระบุชื่อ

วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้ คือ ต้องการชักชวนให้องค์กรและผู้คนทั่วไปให้ร่วมกันสนับสนุนการให้ความช่วย เหลือแก่สังคมให้มากขึ้น กลุ่มยังมีความตั้งใจที่จะขยายฐานเพิ่มเติมไปยังผู้คนที่ไม่เคยช่วยใครหรือ มีความสามารถในการให้ได้มากขึ้น เช่น เจ้าของกิจการใหม่ๆ คนรุ่นใหม่วัย 20-40 ปีผู้ซึ่งอาจจะเคยอาสาแรงกาย เวลาและความสามารถมาบ้างแล้วแต่ยังไม่เคยได้บริจาคเป็นเงินมาก่อน นอกจากนี้ "One Percent Club" ยังร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบริจาคเพิ่มขึ้น

ข้อดีของการให้ที่ "One Percent Club" เชิญชวนให้เรารู้จักให้นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้ช่วยเหลือสังคมตามเจตนารมณ์หลักของเราแล้ว แต่ยังช่วย ลดหย่อนภาษีได้ตามฐานภาษีในระดับต่างๆ ได้อย่างมากอีกด้วย ตัวอย่างที่กลุ่มยกขึ้นมา คือ หากเราบริจาค 50,000 เหรียญ และมีฐานภาษีที่ 40% เงินสุทธิที่เราบริจาคจริงๆ จะไม่ใช่ 50,000 เหรียญ แต่ต้อง หักด้วยภาษีที่เราได้ลดหย่อนถึง 20,000 เหรียญ ทำให้กลายเป็นเงินบริจาคสุทธิเป็นแค่ 30,000 เหรียญเท่านั้น

"One Percent Club" นี้ใครก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ เพียงแค่กรอกใบสมัครผ่านทางออนไลน์ หรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ ณ ตอนนี้กลุ่มมีสมาชิก ส่วนใหญ่อยู่ที่มินนิโซตา และตั้งใจจะขยายจำนวนสมาชิกออกไปในวงที่กว้างขึ้นในมุมอื่นๆ ของโลก

ณ วันนี้ "One Percent Club" มีสมาชิกมากกว่า 1 พันคนแล้ว จากในปีแรกที่มีสมาชิกเพียง 45 คนเท่านั้น จากแบบสำรวจในปี 2550 ซึ่งมีสมาชิกของกลุ่มที่ตอบแบบสำรวจกลับมาเป็นจำนวน 158 คน พบว่า 63% มีการเพิ่มเงินบริจาคจากปีก่อนหน้า 38% ระบุว่าตนได้เพิ่มจำนวนเงินการบริจาคเนื่องจากผลของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของ "One Percent Club" ในจำนวน 158 คนนี้มีการบริจาครวมเกือบ 700 ล้านบาทภายในปีเดียว ซึ่งได้ร่วมกันทำประโยชน์ดีๆ ให้กับสังคมหลากหลายด้านในแง่มุมที่แตกต่างกัน

ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่ม นี้ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ยังมีอีกหลายกลุ่มมากมายที่รวมตัวกันเพื่อผนึกกำลังให้สังคมได้รับประโยชน์ ที่เร็วขึ้นและมากขึ้น ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะชอบกลุ่มไหน แนวใด ไม่มีข้อใดผิดค่ะ มีแต่ดีทั้งนั้น ขอให้ลงมือทำก็ดีมากแล้ว

ไม่ว่าจะ เป็นเศษเสี้ยวหรือ 1 เปอร์เซ็นต์ หากทำให้เกิดความแตกต่างที่ดีขึ้นต่อคุณภาพชีวิตอื่นๆ ในสังคม มันก็น่าชื่นชมทั้งสิ้นมิใช่หรือ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552



ไม่มีความคิดเห็น: