วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ฝ่าวิกฤตสู่องค์กรที่ยั่งยืน



ภาย ใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันแปร สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ วิกฤตต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้การบริหารคนและองค์กรเป็นเรื่องยากกว่าในสถานการณ์ ปกติ

หลายองค์กรเริ่มเอาคนออก และดำเนินนโยบายเพียงเพื่อเอาตัวรอดในระยะสั้น

วิธีคิดเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ หรือสิ่งที่องค์กรทำเป็นเพียงหลุมพรางที่องค์กรขุดเพื่อจะติดกับดักตัวเองในเวลาต่อมา !!

และ นี่เป็นโจทย์ซึ่งสถาบันการบริหารและจิตวิทยาตั้ง และพร้อมที่จะตอบคำถามในงานสัมมนาใหญ่ครบรอบ 20 ปีของสถาบัน MPI Forum "เพิ่มคุณค่าคนและองค์กร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Enriching Organization Value For Sustainnability Development ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด

ทำไมต้องพูดถึงความยั่งยืนในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ดูเหมือน องค์กรธุรกิจจะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

" การที่เราพยายามจะพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะเราเห็นว่าในช่วงวิกฤต คนมักมองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า โดยหลงลืมการมองถึงความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งนั่นจะกลายเป็นปัญหาตามมา" ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ผู้บริหารสถาบันการบริหารและจิตวิทยากล่าว

ดร.มิชิตายกตัวอย่างซึ่งเป็นบทเรียนจากวิกฤตเมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา

" วิกฤตเศรษฐกิจสิบกว่าปีที่แล้วที่บริษัทต่างๆ พยายามเอาตัวรอดโดยการลดจำนวนคนลง ผู้บริหารที่อยู่มานานมีเงินเดือนมากจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ บางบริษัทพยายามลดคนเหล่านี้ และจ้างคนใหม่เงินเดือนน้อยกว่ามาแทน นี่เป็นตัวอย่างรูปธรรมชิ้นหนึ่งที่พบได้แม้ในประเทศไทยเรา มองในมุมทางการเงินในระยะสั้น นี่อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด การลดจำนวนคนอาวุโสที่ทำงานไม่กระฉับกระเฉงเท่าคนรุ่นใหม่ไฟแรง ประหยัดเงินเดือน เปลี่ยนคนรุ่นใหม่เข้ามาในต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ในมุมมองระยะยาว การจัดการเรื่องนี้อย่างไม่ถูกจังหวะหรือถูกกระบวนท่าอาจก่อให้เกิดปัญหา เรื้อรัง ต่อไป"

"เช่น ความจงรักภักดีในองค์กร (loyalty) วันนี้หลายองค์กรขอให้ทางสถาบันช่วยทำให้เกิดความจงรักภักดีกับองค์กรมาก ขึ้น แต่ถ้าผลวิเคราะห์องค์กรนั้นๆ พบว่านโยบายการดูแลคนเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น เพียงแค่การจัดสัมมนาปลุกจิตสำนึกให้คนรักองค์กรนั้นทำได้แต่ก็ได้ผลเพียง ระยะสั้น หรือไม่ได้ผลเลย"

นี่เป็นตัวอย่างของการสร้างสมดุลระหว่าง การบริหารตัวเลขทางการเงินในระยะสั้น กับการบริหารคนองค์กรเจริญเติบโตในระยะยาว การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจจะทำให้องค์กรต้อง สูญเสียคนดีคนเก่ง หรือเสียวัฒนธรรมองค์กรที่บ่มเพาะมา และกลายเป็นอาการข้างเคียงเรื้อรังกับการบริหารจัดการองค์กรในระยะยาว

อะไรคือทางออก

" เราไม่เชื่อว่าจะมีวิธีใดวิธีเดียวในการจัดการกับปัญหา เพราะในการบริหารจัดการส่วนบริหารองค์กรนั้นมีหลายมิติ ทั้งการเงิน การตลาด การผลิต การบริหารทรัพยากรบุคคล รวมถึงการจัดการกับตัวเราแต่ละคนเองด้วยการดูแลทั้งกายและจิตใจ"

ใน งานสัมมนาครั้งนี้ จึงได้หยิบยกกลยุทธ์ในมิติต่างๆ เพื่อที่จะสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ในหัวข้อ "เพิ่มคุณค่าคนและองค์กรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" พร้อมด้วยการเพิ่มคุณค่าจากอีก 7 องค์ประกอบทางการบริหาร จะ เตรียมรับมืออย่างไรในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดย ดร.อริชัย รักธรรม เพื่อเตรียมพร้อมตั้งแต่วิสัยทัศน์ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขายให้คลิก พลิกวิกฤตให้รวยช่วยทีมขายให้รุ่ง โดย ดร.สุรชัย โฆษิตบวรชัย Marketing Clinic : ที่ปรึกษาด้านการตลาด โดย วิทอง ตัณฑกุลนินนาท เพื่อพัฒนาการตลาดที่ดึงให้ลูกค้าเห็นความมีคุณค่าของสินค้าและบริการมาก ขึ้น Essential Tax Planning and Law for Business โดย ดุลยลักษณ์ ตราชูธรรม การลดต้นทุนด้วยการออกแบบที่ถูกต้องของการวางแผนภาษีที่ดี Best Practice in Finance Management : บริหารการเงินเพื่อความเป็นเลิศ โดย พรสรัญ รุ่งเจริญ กิจกุล แนวโน้มในการบริหารงาน HR ใน ปี 2009 โดย มาริสา เชาว์พฤฒิพงศ์ เพื่อพร้อมจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ร่วมฝ่าฟันกับองค์กรได้ในระยะยาว และ CSR-แค่สมัครใจหรือเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

" ในมิติสุดท้ายเรื่อง CSR เป็นเรื่องที่มักจะถูกมองข้ามแม้ไม่ใช่ในยามวิกฤต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การคำนึงถึงเรื่องจิตใจ จิตวิญญาณของผู้คนตลอดจนสังคมรอบข้างเพราะความเข้าใจในจิตวิญญาณของผู้ บริหารเอง คนในองค์กรและสังคมรอบข้างจะเป็นตัวยาสำคัญที่จะช่วยทั้งสมานแผลความเหนื่อย อ่อนจากการเปลี่ยนแปลง และเป็นยาบำรุงชั้นเลิศในการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

บาง ครั้งเรามักจะมองหาเครื่องมือต่างๆ นานา เพื่อมาใช้บริหารจัดการองค์กร ทั้งที่จริงแล้วปัญหาที่มักพบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรในภาวะ วิกฤตกลับเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการพูดคุยและสื่อสารกันมากขึ้น การให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจ อย่างการทำเรื่องจิตอาสาพนักงาน เพราะการเปิดโอกาสให้พนักงานไปเห็นผู้ทุกข์ยากในสังคมบ้างจะเป็นการสร้างให้ คนหลุดออกจากกรอบของตัวเอง ฯลฯ

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www. ThaiBoss.com/MPIforum อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อตระหนักรู้ถึงปัญหาและไม่ต้องตกหลุมพรางกับวิกฤตเช่น ในอดีตที่ผ่านมา !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 สิงหาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04110851&day=2008-08-11&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: