วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความตื่นตัวของ "ธุรกิจ" กับการสร้างโอกาสให้ "ผู้พิการ"




เมื่อ อายุ 27 ปี "เจี๊ยบ" "พิมพ์ประภา สาระบุตร" ประสบอุบัติเหตุและทำให้เธอกลายเป็น ผู้พิการทางสายตา ไม่เพียงนำมาซึ่งความสิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่โอกาสในการทำงานเพื่อดำรงชีพเช่นเดียวกับคนปกติก็หายไปพร้อมๆ กัน

แม้ จะเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับสำหรับคนวัยหนุ่มสาว แต่เธอก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่วันนี้เมื่อมีโอกาสกลับมาทำงานเช่นเดียวกับคนปกติอีกครั้ง จะทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจและขอบคุณกับโอกาสที่ได้รับ

โดยเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา "พิมพ์ประภา" เริ่มเข้าทำงานเป็นพนักงาน call center ผู้พิการทางสายตาของศูนย์ปฏิบัติการ call center ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นหลักหมื่น

"เจี๊ยบ" อาจจะโชคดีกว่าใครหลายๆ คนที่มีโอกาสได้ทำงาน เพราะในความเป็นจริงของผู้พิการทางสายตาที่มีจำนวนกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ ที่แม้จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี รวมถึงระดับที่สูงกว่านั้น แต่โอกาสในการเข้าทำงานในองค์กรปกติแทบจะเป็นศูนย์

"ผู้พิการทางสาย ตาส่วนใหญ่ถึงแม้จะจบการศึกษาสูง แต่เขาก็ต้องมานั่งขายลอตเตอรี่ อาชีพของคนตาบอดมีเพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงหลายๆ คนมีศักยภาพที่จะสามารถทำงานได้มากกว่านั้น แต่ก็ไม่มีโอกาสในการทำงานในองค์กรทั้งภาครัฐและธุรกิจ "ทิพยวรรณ บุรีรัตน์" ผู้อำนวยการสำนักบริหารมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ ผู้พิการทางสายตาบอกเล่ากับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในระหว่างไปร่วมงานเปิด "ศูนย์ปฏิบัติการ call center" ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"เอไอเอส" เปิด call center เพื่อผู้พิการ

โครงการ นี้นับเป็นการต่อยอดและพัฒนารูปแบบของการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา หลังจาก 1-2 ปีที่ผ่านมาเอไอเอสสร้างโอกาสด้านอาชีพให้ผู้พิการ โดยรับเป็นพนักงานของบริษัทกว่า 22 คน โดยไม่เพียงทำงานที่ call center ของบริษัท อีกส่วนหนึ่งยังทำงานที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ กรุงเทพฯ ซึ่งมีนัยสำคัญ 2 ประการ ประการแรก การเป็นต้นแบบให้กับผู้มาเยี่ยมเยือนซึ่งจะมองเห็นศักยภาพคนพิการกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันยังมีการสร้างความหวังและกำลังใจให้กับผู้พิการที่อยู่ใน โรงเรียนเห็นตัวอย่างและเห็นโอกาสที่รออยู่ปลายทาง

ในวันนั้นคณะผู้ บริหารจากเอไอเอสนำทีมโดย "สมประสงค์ บุญยะชัย" หัวเรือใหญ่แห่ง "เอไอเอส" และ "สุรวัตร ชินวัตร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์คอนแท็คเซ็นเตอร์ เดินทางไปร่วมส่งมอบศูนย์ปฏิบัติการ call center ภายใต้โครงการ "เอไอเอสสร้างอาชีพ call center" ซึ่งถือเป็นโมเดลการให้ที่ใหม่ที่สุด โดยมอบศูนย์ให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการและสามารถหารายได้โดยไม่เพียงที่จะ รับงานจาก "เอไอเอส" แต่ยังสามารถรับงานเอาต์ซอร์ซจากบริษัทอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ศูนย์สามารถหารายได้ ขยายอาชีพและเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเองได้ในระยะยาว โดยเอไอเอสจะเข้าไปดูแลสนับสนุนการลงทุนพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการและอุปกรณ์ใน การทำงานรวมถึงการอบรมให้ความรู้ (know how) ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตามีความรู้ ความชำนาญ และเข้าใจในวิธีการปฏิบัติงานในวิชาชีพ

"สมประสงค์" กล่าวว่า "โครงการนี้จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ดีและมั่นคงกับผู้พิการทางสายตาให้สามารถดูแลตัวเองและ ครอบครัวเพื่อจะดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน และเรามีความตั้งใจที่จะดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันอีกต่อเนื่องไป ยังภูมิภาคอื่นๆ พร้อมทั้งจะขยายไปยังกลุ่มผู้พิการหรือด้อยโอกาสในสังคมกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย"

ก้าวต่อไปเพื่อผู้พิการ

ผู้ พิการกลุ่มอื่นที่เขาพูดถึง หมายถึงกลุ่มคนหูหนวกที่ขณะนี้เอไอเอส กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์และทดลองให้ผู้พิการหูหนวกเข้ามาทำงาน ซึ่งหากทำสำเร็จไม่เพียงจะเป็นการสร้างอาชีพให้ ผู้พิการ ขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ในธุรกิจด้วยการให้บริการผ่านภาษา ภาพ ซึ่งเป็นอีกโครงการในอนาคตที่จะเห็นผลในเร็ววัน

"วิไล เคียงประดู่" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เล่าถึงโครงการเกี่ยวกับผู้พิการหูหนวกที่เพิ่งเริ่มดำเนินการว่า "เรากำลังอยู่ในระหว่างการ

ทดลองดำเนินการเริ่มรับพนักงานกลุ่มนี้ เข้ามา โดยมีพนักงานเอไอเอสเป็นพี่เลี้ยง พนักงานเหล่านี้ต้องไปเรียนภาษามือเพื่อที่จะสามารถพูดคุยและอยู่ร่วมกับ น้องๆ ผู้พิการที่เข้ามาทำงาน เพื่อให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยก"

การทำ งานร่วมกันระหว่างพนักงานปกติและพนักงานผู้พิการ จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะเป็นการเรียนรู้และยอมรับในความแตกต่าง ในเวลาเดียวกันยังส่งผลถึงการพัฒนาตนเองของพนักงานในองค์กร และสร้างให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเกิดขึ้นจากจิตสำนึกของพนักงาน ไม่เพียงแต่ถูกกำหนดอยู่ในนโยบาย

"แรกๆ เราก็ถูกตั้งคำถามจากพนักงานปกติ ซึ่งเราก็พยายามทำความเข้าใจ แต่ถึงตอนนี้เมื่อเขามีโอกาสอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกันแล้ว สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ เพราะผู้พิการทางสายตานอกจากจะสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานเดียวกับคนปกติ บางครั้งก็สามารถทำงานได้ดีกว่าด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ที่เขาทำได้ดี เช่น การขาย คอลลิ่งเมโลดี้ ซึ่งเขาแนะนำอย่างตั้งอกตั้งใจ ร้องเพลงให้ฟังถ้าลูกค้าจำชื่อเพลงไม่ได้ และนั่นทำให้พนักงานในศูนย์บางคนพัฒนาตัวเองมากขึ้นโดยที่เราไม่ได้ไปบอก แต่เขาได้เห็นและเรียนรู้ว่าขนาดคนพิการยังทำงานได้ดี ฉะนั้นเขาก็ต้องปรับปรุงตัวเอง นี่อาจจะเป็นผลทางอ้อมที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ" วิไลกล่าวในที่สุด

ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ

ปัญหา อย่างหนึ่งของการให้ หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้ธงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) และขององค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยในวันนี้ นอกจากบางครั้งการให้จะไม่ตกถึงมือผู้รับ การให้ในหลายๆ ครั้งยังไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของ "ผู้รับ" อย่างแท้จริง ในประเด็นของการให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา

"ทิพยวรรณ" เล่าให้ฟังว่า "ตอนนี้มีคนและองค์กรเข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิจำนวนมาก สิ่งที่เป็นที่นิยมตอนนี้คือการบริจาคกระดาษรีไซเคิลที่นำมาให้นักเรียนผู้ พิการใช้ในการเขียนอักษรเบรลล์ แต่ตอนนี้เข้ามามากจนเราเองก็แทบจะไม่มีที่เก็บ สิ่งที่อยากบอกองค์กรธุรกิจวันนี้โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำเรื่อง CSR เราคิดว่าการให้ที่ดีที่สุดที่คนพิการทางสายตาต้องการนั่นคือ โอกาส และเราต้องการให้องค์กรต่างๆ มองเห็นจุดนี้ หลายคนอาจจะกังวลว่าต้องทำสิ่งที่รองรับแต่เราเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาผู้พิการ ทางสายตาสามารถทำงานอยู่ร่วมกับคนปกติได้"

ฝันที่เป็นจริง เมื่อเด็กตาบอดขี่ม้า

ความ ต้องการของ "ผู้รับ" จึงเป็นโจทย์สำคัญในทุกๆ ครั้งของการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร เช่นเดียวกับการออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคมลำดับที่ 7 ภายใต้โครงการไอ-ดรีม (I-dream) กิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคมของพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ซึ่งพาน้องๆ จากมูลนิธิบ้านเด็กตาบอดและพิการซ้ำซ้อนในกรุงเทพฯ และ จ.ลพบุรีกว่า 32 ชีวิตมาขี่ม้าที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อไม่นานมานี้ที่เกิดขึ้นจากการสอบถามความต้องการไปยังน้องๆ ที่มูลนิธิ และพบว่ากิจกรรมขี่ม้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เด็กอยากทำมากที่สุด โดยคัดเลือกเด็กที่พอจะสามารถควบคุมตัวเองได้ขึ้นบนหลังม้า ขณะที่เด็กที่มีขีดจำกัดก็ให้มีโอกาสมาดูม้าและมีโอกาสสัมผัสม้าด้วยตัวเอง หลังจากที่ผ่านมาได้เคยไปทำกิจกรรมร่วมกันมาแล้ว อย่างการพาเด็กพิการซ้ำซ้อนจากบ้านเฟื่องฟ้าไปเที่ยวซาฟารีเวิลด์

" เราเริ่มต้นจากการสอบถามไปยังเด็กๆ ว่าเขาต้องการอะไร เราไม่ได้เป็นคนคิดเผื่อเขา แต่เราอยากรู้ว่าเขาต้องการอะไรจริง เพราะโจทย์ในโครงการไอ-ดรีมเราไม่ได้เน้นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่เราเน้นการที่พนักงานจะได้มีโอกาสไปสัมผัสเด็ก และมอบความอบอุ่นและสิ่งที่จะทำให้เขาได้ และการที่พนักงานได้มีโอกาสมาดูแลเด็กระหว่างวันที่ทำกิจกรรมเมื่อเขาเห็น รอยยิ้มของเด็กก็จะรู้สึกดีและภาคภูมิใจที่ตัวเองได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งใน การช่วยเหลือสังคม" วิภา หฤษวงค์กูร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งไอ-ดรีมเล่าให้ฟัง

โครงการไอ-ดรีมเริ่มต้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเป็นกิจกรรมที่จะจัดขึ้นทุกเดือน โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะไปร่วมกิจกรรมกับน้องๆ ที่บ้านทานตะวัน โดยจัดงานวัดย่อมๆ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานโดยงบประมาณทุกบาทในการดำเนิน โครงการเป็นเงินบริจาคที่ได้จากพนักงานของธนาคาร ถึงวันนี้แม้ว่าโครงการจะเริ่มต้นมาได้เพียง 6 เดือน แต่ปัจจุบันพนักงานกว่า 6% จากจำนวน 2,000 คนของธนาคารได้มีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ คาดว่าแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการสื่อสารแบบปากต่อปากที่ทำให้เกิดกระแสการทำดีอย่างรวดเร็วในองค์กร

ปลุกจิตอาสาพนักงาน

มา ร์ค เดวาเดสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในภาพรวมธนาคารทั่วโลกให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่อง "ให้ดวงตา ให้ชีวิต" (Seeing is Beliving) ที่ให้ความสำคัญกับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ยังรวมถึงประเด็นทางสังคมในเรื่องผู้ติดเชื้อเอชไอวี และสิ่งแวดล้อม

เขากล่าวด้วยว่า แม้กิจกรรมเพื่อสังคมจะมีทั่วโลก แต่โครงการไอ-ดรีมถือเป็นสิ่งพิเศษสำหรับประเทศไทย ที่เกิดจากการที่พนักงานมีส่วนร่วมจริงๆ ในการร่วมเติมความฝันให้เด็กด้อยโอกาสในสังคม และความพิเศษที่พบจากพนักงานในไทยคือทุกคนทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยหัวใจ จริงๆ โดยไม่ได้มีการบังคับ และในอนาคตจะมีการเผยแพร่บทเรียนจากโครงการไอ-ดรีมให้กับสาขาของธนาคารทั่ว โลกให้สามารถปฏิบัติตามได้

"ทุกวันนี้ธนาคารเปิดโอกาสให้พนักงาน สามารถเป็นอาสาสมัครได้โดยไม่มีวันลาปีละ 2 วัน การที่เรามีพนักงานอยู่ทั่วโลกกว่า 75,000 คน ถ้าทุกคนทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมปีละ 2 ครั้ง เราก็จะมีวันที่ทำดีเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 250,000 วัน เฉพาะพนักงานของไทยก็จะมีคนทำดีถึงเกือบ 5,000 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก" เขากล่าวในที่สุด

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นหลากมุมมอง หลายมิติในการให้ "โอกาส" กับ "ผู้พิการ" เป็น "โอกาส" ที่มีคุณค่ามากกว่าแค่การให้ "เงิน" !!


ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 สิงหาคม 2551

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01110851&day=2008-08-11&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: