วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บทเรียนจากเอ็กโก



ถ้า ยังจำกันได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ภาพยนตร์โฆษณา "รถติด/ผมเสียทรง/เป็นสิว" ของ "เอ็กโก" ที่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวกว่าที่คิด โดยมีเป้าหมายในการกระตุกให้เยาวชนหันมาคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าเป็น ปัญหาใกล้ตัว และถือเป็นเฟสแรกในการดำเนินโครงการ "EGCO GROUP GREEN BLOOD"

ที่พัฒนามาจากต้นทางของโครงการเพื่อสังคม "ค่ายเยาวชนคนรักษ์ป่า" ที่ดำเนินการมายาวนานกว่า 10 ปี

และ เป็นการแตกหน่อต่อยอดความคิดในการสร้างสรรค์ "โครงการเพื่อสังคมอย่างมีกลยุทธ์" ที่จะกระจายแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำมาให้แข็งแรงขึ้นและ ขยายวงออกไปกว้างขวางขึ้น โดยเฟสที่ 2 จะเป็นเฟสที่จะ "กระตุ้น" โดยตรงผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Forest : The Circle of Life รักษ์ต้นน้ำด้วยผืนป่า ฯลฯ ก่อนที่จะไปสู่เฟสที่ 3 ในปี 2552 ที่จะเป็นการ "ส่งเสริม" และ "สนับสนุน" ผ่านเครือข่าย "EGCO GROUP GREEN BLOOD" ที่จะมีทั้งเว็บไซต์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการโดยเครือข่ายของ เยาวชนกลุ่มนี้

ในวันที่ "วิลาวัลย์ โชคครรชิตไชย" ผู้จัดการส่วนสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) มาร่วมเป็นวิทยากรในหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ "CSR Academy" ได้กล่าวถึงวิธีคิดในการสร้างความแตกต่างในเชิงกลยุทธ์นี้อย่างน่าสนใจ โดยเป็นการเชื่อมโยง "ตัวตน" ของแบรนด์ "เอ็กโก" กับ "กิจกรรมเพื่อสังคม" ที่บริษัททำไว้ ว่า การสร้างแบรนด์อาจจะต้องเดินควบคู่ไปกับการทำ CSR ซึ่งช่วยสะท้อนภาพลักษณ์เมื่อเสริมกันก็จะทำให้แข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตามสำคัญที่หลักคิด

"เราเชื่อว่าต้นทางที่ดีจะก่อให้เกิด ผลลัพธ์ปลายทางที่ดี เพราะฉะนั้นวิธีคิดของเรา เราพยายามทำทุกจุดให้ดีตั้งแต่ต้นทาง ถ้าในเชิงธุรกิจเราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ถ้าเราไม่มีความพร้อม จ่ายไฟไม่สม่ำเสมอ ก็จะเกิดความเสียหายต่อคนที่ใช้ไฟ อันนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ว่าต้นทางที่แย่จะทำให้ปลายทางติดขัด เวลาเราทำ CSR เราก็มีวิธีคิดเช่นเดียวกัน เมื่อวิธีนี้เป็นหลัก ฉะนั้นก็จะเป็นเหมือนเป้าหมาย ที่เวลาจะประยุกต์กิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นมาก็จะใช้เรื่องนี้เป็นหลักคิดในการ ทำงาน"

การให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และให้ความสำคัญกับการสร้างเยาวชนที่มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการ "EGCO GROUP GREEN BLOOD" ที่จะเข้มข้นยิ่งขึ้นใน 2-3 ปีจากนี้ นอกจากเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีความชัดเจนขึ้น ทุกอย่างยังคงตั้งบนหลักคิดที่เชื่อว่าเยาวชนถือเป็นต้นทางที่จะก่อให้เกิด ผลลัพธ์สู่สังคมที่ดีในปลายทาง

อย่างไรก็ตาม หากมองในการดำเนินการภายใต้ข้อจำกัด เอ็กโกเลือกกิจกรรมที่ทำให้มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ เพราะเชื่อว่าการมีบุคลากรจำกัด ถ้าทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญจะเกิดประโยชน์มากกว่ากับสังคม ขณะที่องค์กรก็จะได้รับการจดจำได้ แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่จะทำกิจกรรมต้องดูถึงความต้องการของ ชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายว่ามีความต้องการในเรื่องนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์

และนี่คือ กลยุทธ์กิจกรรมเพื่อสังคมของเอ็กโก ที่สามารถต่อยอดขยายผล ซึ่งเริ่มต้นจากหลักคิดต้นทางที่ดี !!

ที่มา หนัวสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 สิงหาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03250851&day=2008-08-25&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: