วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

CSR จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย รีแบรนด์ "พญาไท"



กว่า 3 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ที่ว่าการ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2552 สำหรับ โครงการ "โรนัลด์ แมคโดนัลด์ แคร์ โมบาย" (Ronald McDonald Vision Care Mobile) ที่ คณะแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลพญาไท เดินทางไปสมทบกับภาคี อาทิ มูลนิธิแมคโดนัลด์ สภากาชาดไทย ห้างแว่นตาท็อปเจริญ กลุ่มเมเจอร์ โคคา-โคลา ฯลฯ (อ่านรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมในล้อมกรอบ) เพื่อทำการตรวจสุขภาพและตรวจวัดสายตาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งเด็กชาวเขาทั้งจากเผ่าม้ง กะเหรี่ยง ฯลฯ ที่เดินทางมา จากบริเวณ 3,000 ตารางกิโลเมตร ของ อ.แม่แจ่ม พื้นที่ซึ่งตกหล่นจากการเข้าไปรับความช่วยเหลือจากทางราชการ เพราะการคมนาคมที่ไปถึงค่อนข้างยากลำบาก

ตั้งแต่ช่วงเช้า เด็กกว่า 300 คน ค่อยทยอยเดินทางมารับการตรวจสุขภาพ ที่น้อยครั้งที่เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลจะมีโอกาสได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

พ.ญ.วรรณี ถิรภัทรพงศ์ กุมารแพทย์ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 หนึ่งในอาสาสมัครวันนั้นบอกเล่าให้ฟังว่า "ในภาพรวมเด็กๆ แม้ครั้งนี้จะไม่พบรายที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงเหมือนที่พบในพื้นที่อื่น อย่างครั้งที่แล้วเราพบเด็กเป็นโรคหัวใจ ก็มีการแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการติดตามเพิ่มเติม แต่ที่มาครั้งนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ จะมีปัญหาโรคผิวหนัง เป็นเหา ฟันผุ ซึ่งน่าจะมาจากเรื่องความเป็นอยู่ที่อาจจะไม่ถูกสุขลักษณะมากนัก รวมไปถึงโรคกระเพาะ ซึ่งเราก็มีการจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นให้"

รวมไปถึงการแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพ 10 วิธีผ่านเอกสารที่แจกเด็กๆ กลับบ้าน

จะ ว่าไป แม้โครงการนี้ โรงพยาบาลพญาไทจะไม่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของโครงการ แต่ถ้ามองในเชิงกลยุทธ์ความ รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นการนำความสามารถหลักของโรงพยาบาลที่มีความ เชี่ยวชาญทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้ทางการแพทย์ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล

ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีคิดที่สำคัญในการ เคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่ในปี 2552 นี้เป็นปีที่ โรงพยาบาลพญาไทเปิดเกมรุก และพยายามปรับกระบวนการทำงานให้มีทิศทางชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทำเมื่อพร้อม

อย่าง ที่ "ธนา ถิรมนัส" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาดและการสนับสนุน เครือโรงพยาบาลพญาไท บอกเหตุผลการเปิดเกมรุกครั้งนี้ว่า การปรับกระบวนการในการทำ CSR ในวันนี้เพราะเป็นเวลาที่องค์กรมีความพร้อมที่สุด

เป็นความพร้อมที่ สุด หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรอยู่ในระหว่าง "รีแบรนด์" แบรนด์ "โรงพยาบาลพญาไท" ภายใต้วิสัยทัศน์ "การสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีเพื่อการมีชีวิตที่ดี" ด้วยสโลแกน "สุขภาพดีเป็นไปได้" โดยให้ความสำคัญของการป้องกันมากกว่าการรักษา ที่ผ่านมาไม่เพียงเริ่มต้นในการเปลี่ยนโลโก้และเริ่มสื่อสารภายนอกผ่านสื่อ อาทิ รายการโทรทัศน์ "อโรคยา ปาร์ตี้" ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพในการใช้ชีวิตและการทำตลาดผ่านอีเวนต์ต่างๆ ที่บุกตลาดระดับองค์กรในการเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการ ป้องกันรักษาสุขภาพของแต่ละคน

แต่เขายืนยันว่า ในกระบวนการสร้าง แบรนด์ที่ผ่านมายังทำแบบอินไซด์ เอาต์ (inside out) โดยมีขั้นตอนตั้งแต่การดึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถเข้ามาอยู่กับ เรา มีการเทรนนิ่งที่สร้างความพร้อมให้คนในองค์กร และปรับปรุงขีดความสามารถในการบริการ

"เราถึงบอกว่า ก่อนหน้านี้หากเราจะพูดถึง CSR ผมมองว่าคนในองค์กรยังไม่มีความพร้อม เพราะหัวใจในการทำ CSR ของเราต้องการการมีส่วนร่วมของพนักงาน และวันนี้เราเชื่อว่าการปรับองค์กรเดินมาถึงจุดหนึ่ง ที่คนข้าง

ใน เองก็มีความพร้อมในส่วนของการทำงานเอง และแบรนด์ก็เริ่มกลับมาแอ็กทีฟ (active) อีกครั้งในตลาด ทำให้เราเชื่อว่าถึงเวลาที่เราจะปรับทิศทางกระบวนการทำ CSR ขององค์กรให้มีทิศทางมากขึ้น"

ปรับทิศองค์กรสู่ 4 วงล้อความยั่งยืน

และเป็นทิศทางเดียวกับการสร้างแบรนด์ ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาด้านสุขภาพในเชิงป้องกัน

" จุดแข็งของเราคือเรามีบุคลากรทางการแพทย์ มีเจ้าหน้าที่และมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เราจึงคิดว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเราจึงควรที่จะเดินไปในทิศทางนี้ เมื่อเป็นทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตและเราจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้าน ต่างๆ ลง แต่ยังสามารถเดินหน้าทำ CSR ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า แต่เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำ CSR ที่ยั่งยืน"

เป็น CSR ที่ยั่งยืนซึ่งเกิดภายใต้แนวคิดของวงกลม 4 วง ที่ "ธนา" เชื่อว่าต้องมาประกบกัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชุมชน 2.ลูกค้าและประชาชน 3.องค์กร 4.พนักงาน

"ที่ผ่านมาเราก็ทำ กิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอด แต่อาจจะไม่ได้มองในมิติที่ครบถ้วนแบบนี้มากนัก เมื่อเราพร้อมจึงพยายามคิดกิจกรรมให้ครอบคลุมคนทั้งวงกลมทั้ง 4 วง โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทุกโครงการลูกค้าและประชาชนจะต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและรู้ว่าเราทำอะไร การเสียสละขององค์กร รวมไปถึงหัวใจสำคัญคือการเข้ามามีส่วนร่วมของพนักงาน"

โฟกัสประเด็น-พื้นที่ที่ถนัด

จาก วิธีคิดนี้จึงเป็นที่มาของการลอนช์โครงการเพื่อสังคม 3 โครงการพร้อมกันในปีนี้ ได้แก่ 1.โครงการยุวทูตสุขภาพ ซึ่งทีมแพทย์และพยาบาลของพญาไทจะคัดเลือกนักเรียนระดับประถมปลายในโรงเรียน รอบเขตกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 15 โรงเรียน เพื่อเป็นตัวแทน "ยุวทูตสุขภาพ" ผู้ที่จะสามารถให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้กับเพื่อนๆ ในโรงเรียน

2. โครงการอาสาพญาไทเพื่อผู้สูงวัยสุขภาพดี ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้จัดอบรมให้กับอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราของชุมชนต่างๆ อาทิ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค พร้อมมอบบอร์ดให้ความรู้และชุดกิจกรรมบำบัด ชุดกระตุ้นความคิด ชุดการวางแผนการเคลื่อนไหว ซึ่งในปีนี้จะมีการออกหน่วยในสถานสงเคราะห์คนชรา 4 แห่ง และในอนาคตการดูแลจะครอบคลุมไปถึงผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในสถานสงเคราะห์

3. โครงการ "โรนัลด์ แมคโดนัลด์ วิชั่น แคร์" โดยร่วมกับมูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ และภาคีในการให้บริการตรวจสุขภาพพื้นฐานให้กับเด็กๆ อาทิ การเต้นของหัวใจ การทำงานของปอด การได้ยินเสียง และปรึกษาด้านสุขภาพของเด็ก เพื่อที่ผู้ปกครอง จะได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลบุตรหลาน โดยจะออกหน่วยไปกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ภายในปี 2555

จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายสร้างแบรนด์

ถ้า มองในแง่ของกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ CSR จะมุ่งไปที่ "เด็ก" และ "กลุ่มผู้สูงอายุ" โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มพื้นฐานในการปลูกฝังและสร้างทัศนคติใหม่ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ ขณะที่ "กลุ่มผู้สูงอายุ" นั้น "พญาไท" เชื่อว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องร่วมกันดูแลในวันที่ประชากรผู้สูงอายุ กำลังมีเพิ่มมากขึ้น

หากมองในเชิงพื้นที่จะเห็นว่า เกมรุกของ "พญาไท" ครั้งนี้จะโฟกัสที่พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งองค์กรมีความเชี่ยวชาญและรู้จักพื้นที่ ดังนั้นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นจึงเลือกทำงานร่วม กับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่มากกว่า โดยนำเอาความสามารถหลักของโรงพยาบาลไปเป็นเพียงส่วนเสริมให้โครงการ

เพราะ เขาบอกว่า "เหตุผลที่เราเลือกที่จะโฟกัสประเด็นสังคมเรื่องสุขภาพ และเลือกทำโครงการไม่กี่โครงการ เพราะ CSR ที่ยั่งยืนของเราคือการทำ CSR ในเชิงลึก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากไปกว่าการทำ CSR ในมุมกว้าง ซึ่งอาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำในเวลานี้"

และเชื่อ ว่า แม้จะไม่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ แต่เชื่อว่าการทำ CSR ภายใต้กลยุทธ์นี้จะทำให้ CSR เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้การสร้างแบรนด์ "พญาไท" เดินไปถึงจุดในการเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01020252&day=2009-02-02&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: