วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กระแส CSR พ่นพิษ "เอเยนซี่" ป่วน ดัน ตลท.ออกหลักเกณฑ์-สร้างความเข้าใจบริษัท

กระแส CSR พ่นพิษ "เอเยนซี่" ป่วน ดัน ตลท.ออกหลักเกณฑ์-สร้างความเข้าใจบริษัท


ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัทจำนวนมากมีความตื่นตัวในการ ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่กระแสที่ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกเท่านั้นแต่บางส่วนกลับสร้างผลกระทบในเชิงลบ

โดยผลสรุปจากการประชุมคณะ กรรมการทำงาน Strategic Environmental Working Group Against Global Warming ซึ่งจัดตั้งขึ้น จากเวทีเสวนาของเครือข่ายความร่วมมือภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Network ประเทศไทย) โดยเป็นการทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชน

ได้สรุปสถานการณ์ CSR ในไทย และพบว่าจากความตื่นตัวของบริษัทจำนวนมากที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรนั้น แม้ว่าบริษัทมีความสนใจในด้านสังคมแต่ยังไม่มีความชำนาญมากจึงได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยธรรมชาติ บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวงองค์กรพัฒนาเอกชนให้ทำโครงการให้โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างเต็มที่

"ปารีณา ประยุกต์วงศ์" เลขาฯคณะทำงาน Strategic Environmental Working Group Against Global Warming กล่าวว่า ขณะนี้พบกรณีที่บริษัทเอเยนซี่จำนวนมากที่ได้รับการว่าจ้างจากองค์กรธุรกิจให้จัดทำโครงการและออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เนื่องจากเอเยนซี่เหล่านั้นขาดมิติและองค์ความรู้ด้านสังคม ทำให้ได้มีการขอความร่วมมือไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนให้พัฒนาโครงการให้เนื่องจากขาดความรู้ในประเด็นทางสังคมนั้นๆ ซึ่งหลังจากองค์กรพัฒนาสังคมได้พัฒนาโครงการอย่างละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ เอเยนซี่ เอเยนซี่ก็นำเสนอกลับไปยังบริษัทผู้ว่าจ้าง แต่เมื่อได้รับงานมิได้มีการอ้างชื่อองค์กรพัฒนาเอกชนนั้นๆ รวมทั้งไม่ได้ให้เข้ามาร่วมทำงานด้วย ทางคณะทำงานจึงเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ จึงเตรียมที่จะยื่นหนังสือไปยังตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือให้แก้ไขปัญหาการทำงานเพื่อสังคมที่ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนำเสนอเกณฑ์การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจที่พึงประสงค์ของสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงการยกระดับการทำงานทุกภาคส่วนร่วมกัน

"ประเด็นสำคัญที่เราเห็นว่าน่าเป็นห่วงก็คือ ตอนนี้มีเอ็นจีโอจำนวนมากถูกหลอกให้เขียนโครงการซึ่งเขาก็ต้องการงบประมาณที่มาสนับสนุนในการทำโครงการ ขณะที่เราก็เชื่อว่าธุรกิจเองก็มีความตั้งใจดี เพียงแต่เอเยนซี่ที่เข้ามาเป็นตัวกลางกลับขาดจรรยาบรรณ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นพื้นฐานในการทำ CSR และในความเป็นจริงเขาน่าจะสามารถเป็นตัวกลางที่ดีในการผสมผสานเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการมาหลอกลวงในลักษณะนี้" ปารีณากล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์การทำงานด้านสังคมของภาคธุรกิจที่พึงประสงค์นั้น คณะทำงานมีข้อเสนอใน 4 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 ขอให้องค์กรภาคธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ประการที่ 2 บริษัทควรทำความเข้าใจและเชื่อมโยง ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เริ่มทำงานกับ พนักงานเป็นลำดับต้น โดยการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพนักงานกับสังคม และทำงานร่วมกับชุมชนหรือองค์กรพัฒนาที่จะทำให้กิจกรรมนั้นๆ การสร้างความร่วมมือกัน ทั้งพนักงาน บริษัท ชุมชน และสังคม ซึ่งภาคธุรกิจสามารถทำได้ด้วยตนเองภายใต้จริยธรรมของภาคธุรกิจ คือการทำกำไร การบริจาค และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างรับผิดชอบต่อสังคม อย่างที่เรียนว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม ในขณะที่กระบวนการทำกำไร การบริจาค และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ บริษัทได้มีการเรียนรู้และเข้าใจสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การทำงานของภาคธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน สังคม และภาคีที่อยู่รายล้อมบริษัท จนเกิดเป็นการทำเพื่อแสดงออกถึงคุณธรรมของภาคธุรกิจ

ประการที่ 3 การพัฒนาโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรภาคธุรกิจที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยตรงนั้น หากสามารถพัฒนาโครงการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน หรือองค์กรพัฒนาที่อยู่ในเป้าหมายที่ต้องการดำเนินโครงการ จะสามารถทำให้บริษัทเข้าถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันบริษัทจะได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและองค์กรพัฒนาที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ประการที่ 4 หากบริษัทต้องการทำงานกับเอเยนซี่ประเภทใด ขอให้บริษัทกำหนดว่า บริษัทเอเยนซี่นั้นทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาในชุมชน หรือในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทต้องการ และมีการจัดสรรงบประมาณที่โปรงใส่ เนื่องจากองค์กรพัฒนานั้นๆ มิได้ทำงานเพื่อแสวงหากำไร

โดยเร็วๆ นี้ นายมนตรี โยธารักษ์ รองผู้จัดการหอการค้าแห่งประเทศไทย และ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย จะเข้าพบเพื่อชี้แจงกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องแนวทางการทำงาน CSR ให้กับบริษัทซึ่งเป็นต้นทางของการทำงานเรื่องนี้ต่อไป

ที่มา
ประชาชาติธุรกิจ 2008-07-07
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03070751&day=2008-07-07&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: