วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การทำ CSR ต่างจากการทำกุศลอย่างไร


ทั่วโลกเริ่มต้นทำกิจกรรมซีเอสอาร์ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม มานานหลายสิบปี เพราะในหลายๆ ประเทศถือเป็นความรับผิดชอบของบริษัทหรือองค์กรในการคืนกำไรสู่สังคม หลังๆ นี้เรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมเริ่มเป็นที่พูดคุยกันหนาหูมากขึ้นในประเทศไทย จนเป็นกระแสขององค์กรและธุรกิจที่ทุกบริษัทและองค์กรต่างๆ จะต้องทำ เพื่อมิให้ตกกระแส หรือทำซีเอสอาร์เพื่อเป็นการ "ทำบุญ" ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มสนใจที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพียงเพื่อมิให้ตกกระแสและเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการมองซีเอสอาร์เพียงผิวเผิน

การทำซีเอสอาร์ทำ ได้หลายอย่าง แล้ว แต่รูปแบบธุรกิจที่องค์กรกำลังทำอยู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นต้องมองให้ รอบด้านว่าใครจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมบ้าง ยกตัวอย่างธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างกว้าง ผู้ได้รับผลกระทบ โดยตรงคือลูกค้า ตัวแทนฝ่ายขาย ผู้ถือหุ้น พนักงาน เป็นต้น ส่วนทางอ้อมนั้นเรามองถึงทุกครอบครัวไทย เพราะคนไทยทุกคนคือกลุ่มเป้าหมายของการทำประกันชีวิต เป็นต้น นั่นคือกลุ่มเป้าหมายหลักๆ แต่จุดประสงค์ของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมจริงๆ ควรจะมีเพียงอย่างเดียวคือ การที่องค์กรได้ใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ความรู้ความสามารถ หรือแม้กระทั่งแรงงานจากพนักงาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง

หากวาดภาพ ง่ายๆ เป็นวงกลม 2 วง วงแรกคือสังคมที่รอการช่วยเหลือ และวงที่สองคือองค์กรที่เราทำงานอยู่ หากนำ บางส่วนของวงกลมสองวงมาซ้อนกัน ส่วนที่ทับซ้อนกันนั่นแหละ คือ corporate social responsibility หรือซีเอสอาร์ที่แท้จริง เพราะการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแน่นอนว่าสังคมและองค์กรจะต้องได้รับประโยชน์ไป พร้อมๆ กัน องค์กรได้มีโอกาสให้สิ่งดีๆ กับสังคม ในขณะเดียวกันสังคมก็เข้าใจในธุรกิจของผู้จัดทำโครงการมากขึ้น นั่นคือสองสิ่งง่ายๆ ที่พอจะอธิบายว่าการทำซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจแตกต่างจากการกุศลอย่างไร

มี ผู้บริหารและนักประชาสัมพันธ์จำนวนมากอาจยังเข้าใจผิดและหลงทางในการทำ ซีเอสอาร์ บ้างก็มองว่ากิจกรรมอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องดีๆ เรื่องการกุศลนั่นคือกิจกรรม ซีเอสอาร์แล้ว บ้างก็มองว่ากิจกรรม ซีเอสอาร์เป็นเรื่องของฝ่ายทรัพยากรบุคคล บ้างก็บอกว่าทุกองค์กรต้องรวมตัวกันและทำซีเอสอาร์โครงการใหญ่ๆ โครงการเดียวร่วมกัน อันที่จริงแล้วกิจกรรมซีเอสอาร์ควรสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจและความ เชี่ยวชาญที่องค์กรนั้นทำอยู่ การทำ ซีเอสอาร์และการสื่อสารให้กับกลุ่มเป้าหมายต้องทำไปพร้อมๆ กัน เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือผู้จัดโครงการ และกลุ่มเป้าหมายก็รับรู้ข่าวสารไปพร้อมๆ กัน สิ่งหนึ่งที่ผู้ทำงานควรระลึกไว้เสมอๆ สำหรับคนซีเอสอาร์คือ งบประมาณในการจัดกิจกรรมหรือโครงการนั้นมาจากบริษัทหรือองค์กร ฉะนั้นแล้ว ในฐานะคนจัดกิจกรรมต้องตีโจทย์ให้แตกว่า บริษัท องค์กร และสังคม จะได้รับอะไรจากกิจกรรมซีเอสอาร์นั้นๆ แน่นอนว่าในรูปแบบธุรกิจต้องก็มองถึงผลที่ได้ในแง่การลงทุน หรือ ROI (return on investment) ไม่ว่าจะได้มาในรูปแบบใดก็ตาม ส่วนกลุ่ม เป้าหมายคือสังคม ก็ต้องมองว่าพวกเขาจะได้อะไรจากกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ คือ ความท้าทายของคนที่จะจัดโครงการ ซีเอสอาร์ ที่จะต้องลงมือทำจริงและต้องวัดผลได้จริง ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของบริษัทหรือองค์กรของตัวเอง นั่นคือประเด็นสำคัญที่อยากชี้เห็นว่า การทำซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจหรือองค์กร ไม่ใช่ การทำงานเหมือนองค์กรการกุศล ซึ่งไม่ต้องคิดกลับว่าหน่วยงานจะได้รับอะไรบ้าง

พูดถึงวิสัยทัศน์ของ บริษัทหรือองค์กร คงต้องบอกว่า วิสัยทัศน์ควรจะเป็นอะไรที่ ผู้บริหารสามารถทำได้และชี้แนะให้พนักงานทุกคนเห็นว่าสามารถทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์นั้นๆ จึงเห็นได้ว่าเทคนิคที่ง่ายที่สุดในการทำซีเอสอาร์ คือมองไปที่วิสัยทัศน์ของบริษัท ว่าองค์กรของท่านต้องการไปอยู่ ณ จุดใด ซีเอสอาร์จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมากในการนำองค์กรไปถึงจุดนั้นได้ อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อคิดกิจกรรมใดขึ้นมาก็แล้วแต่ จงกลับไปทบทวนที่เป้าหมายของบริษัทของท่านทุกครั้งว่า ตอบโจทย์หรือไม่ การนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการคิดกิจกรรมซีเอสอาร์จะช่วยให้ท่านทำงานได้ง่ายขึ้น ในแง่ของการตีกรอบของโครงการและการวัดผลการจัดกิจกรรม

อย่างไรก็ ตาม การทำความดีในรูปแบบต่างๆ ย่อมถือเป็นผลดีของตนเองและคนรอบข้าง แต่หากเราต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบองค์กรหรือซีเอสอาร์แล้ว ต้องเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า เราคือคนขององค์กรและเป้าหมายหลักขององค์กรของเราคืออะไร รวมไปถึงความยั่งยืนของกิจกรรมและผลที่สังคมจะได้รับจากกิจกรรมเพื่อสังคม

แล้วองค์กรของท่านล่ะ เริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ที่แท้จริงแล้วหรือยัง

สุภา โภคาชัยพัฒน์ อยู่ในวิชาชีพการประชาสัมพันธ์และ กิจกรรมเพื่อสังคมมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต เมื่อปี 2550 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ "The Stevie Award for Woman in Business" ประเภท "Best Community Program of the Year" และรางวัลรองชนะเลิศ "Best CSR Program in Asia" จากโครงการ "เอเอซีพีคุ้มครองครอบครัวไทยถวายพ่อหลวง" ซึ่งถือเป็นรางวัลออสการ์แห่งวงการธุรกิจโลก


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

ที่ "เอ็มเค สุกี้" ความรับผิดชอบ เริ่มต้นจากในบ้าน !!



" เริ่มต้นจากในบ้าน" น่าจะเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้ดีกับโมเดลความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอย่าง "เอ็มเค" เชนธุรกิจอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักดีทั้ง "เอ็มเค สุกี้" ร้านอาหารไทย ณ สยาม เดอสยาม และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการถึง 3 ล้านคนต่อเดือน

แม้จะเติบโตด้วยสาขาในไทยกว่า 300 สาขา และกำลังสยายปีกการลงทุนไปยังญี่ปุ่นและเวียดนาม และมีพนักงานประจำรวมพาร์ตไทม์กว่า 13,000 คน แม้จะปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการเทียบชั้นสากลด้วยสารพัดเครื่องมือที่ ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร

แต่วัฒนธรรมองค์กรของแบรนด์ไทยรายนี้ กลับยังคงเอกลักษณ์ของความเป็น "ครอบครัวเดียวกัน" และพยายามสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เหมือนทุกวันที่ตื่นเช้ามาพนักงานจะ รู้สึกว่าพวกเขามาทำงานกับเพื่อน กับพ่อกับแม่กับพี่กับน้อง

เพราะต้องการสร้างความรู้สึกที่ดีที่สุดในการทำงานให้กับพนักงาน

"พนักงาน" ที่เป็นเหมือนคนในครอบครัว

พนักงาน ที่เป็นส่วนสำคัญในการประกอบสร้างให้ธุรกิจร้านอาหารอย่าง "เอ็มเค" ให้สามารถก้าวเดินไปสู่ปลายทางของวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ แรกกับลูกค้า ผ่านการบริการซึ่งถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของธุรกิจร้านอาหาร ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเดียวในการทำธุรกิจคือการทำให้ลูกค้าได้รับอาหารที่ มีคุณภาพสมกับราคาที่จ่ายและทำให้เกิดความ พึงพอใจสูงสุด

ทุก วันนี้ในวัยที่ "เอ็มเค" ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่มีอายุงานเท่าๆ กับอายุบริษัท ซึ่งทำงานมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัท อัตราการเข้าออกของ พนักงานประจำทุกวันนี้มีเพียง 1% ทั้งๆ ที่ในธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเข้าออกของพนักงานสูง

อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้สามารถรักษาพนักงานได้

" ฤทธิ์ ธีระโกเมน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ จำกัด กล่าวว่า การรักษาพนักงานได้ก็มาจากการให้ เช่นถ้าเห็นว่าเขาไม่มีความรู้ก็จะสนับสนุนทุน ให้ได้เรียนตั้งแต่ ปวช. ปวส. ไปจนถึงปริญญาตรี กระทั่งเรียนปริญญาโท ก็ยังมีทุนการศึกษาที่ให้ยืมเรียน การฝึกอบรมก็มีให้อย่างเต็มที่

ซึ่ง ถือเป็น "การให้" อย่างแรกนับตั้งแต่ก้าวเข้ามาทำงานที่บริษัท โดยในปี 2550 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมของสถานฝึกอบรมของบริษัทกว่า 30,000 คน ใน 123 หลักสูตรที่มีการอบรมสัปดาห์ละ 7 วัน

ที่นี่ยังเป็นที่ที่ให้ "โอกาส" ด้วยการวางเส้นทางการเติบโตในเส้นทางอาชีพ ที่ทำให้พนักงานที่ก้าวเข้ามาทำงานวันแรกในฐานะพนักงานเสิร์ฟ สามารถค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นไปเป็นพนักงานจดบิล ซูเปอร์ไวเซอร์ ผู้จัดการร้าน ผู้จัดการสาขา ไปจนตำแหน่งสูงสุดคือผู้จัดการภาค โดยทุกการก้าวเดินทุกคนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสอบโดยใช้ความสามารถส่วนตัว

ไม่ เพียงจะมุ่งพัฒนาทักษะและทัศนคติของคนเท่านั้น แต่ "การให้" ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต ที่มีตั้งแต่การเจริญสติปัญญา การนั่งสมาธิ การใช้เงินอย่างพอเพียง วิธีการแก้ปัญหาในครอบครัว มีแม้กระทั่งหลักสูตรวัยทอง ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่บริษัทพยายามลงทุนในการพัฒนาคนทั้ง 2 ด้าน

ซึ่ง เป็นเส้นทางการพัฒนาคนที่ "ฤทธิ์" เชื่อว่า "การที่ในชีวิตหนึ่งมีคนฝากชีวิตไว้กับบริษัท จึงไม่ใช่แต่เพียงให้เขาเรียนรู้แค่ทักษะการทำงาน แต่ควรทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขไปด้วย"

วิธีในการทำงานในองค์กร ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "การให้" เช่นเดียวกัน

" ฤทธิ์" บอกว่า "การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะมาจากธรรมชาติ ถ้าเคยดูการแสดงของโลมา ทุกครั้งที่โลมาทำตามคำสั่งหรือทำดี ครูฝึกก็จะให้รางวัล แต่เป็นรางวัลเล็กน้อยแต่ต่อเนื่อง อันนี้มันสอนเราว่าแม้แต่สัตว์ ธรรมชาติยังต้องการคำชมเชยหรือรางวัล ไม่ใช่ทำแทบตายแต่ไม่มีใครเห็นก็หมดแรงที่จะทำ เราก็เอาคอนเซ็ปต์นี้มาใช้กับการสร้างแรงจูงใจ อะไรที่มนุษย์ต้องการบ้าง เงิน สวัสดิการ รายได้ก็มาจากเงินเดือนจากทิป และโบนัสที่เรากำลังมีการคุยกันว่าจะเปลี่ยนจากสิ้นปีเป็นให้ทุกเดือนเพื่อ สร้างแรงจูงใจถี่ๆ และจะได้ผลงานที่ดี และมีคำชมเชยจากหัวหน้างาน สุดท้ายคือการเห็นเขาอยู่ในสายตา"

"มนุษย์จะมีนิสัยที่รู้สึกชอบ ใคร คนไหนขยันหัวหน้าก็จะใช้คนนั้น คนที่ขี้เกียจไม่ใช้ จนตอนหลังคนที่ขยันเหนื่อยจนไม่อยากทำเลย เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ทุกคนเห็นเขาอยู่ในสายตา และเมื่อทำเสร็จแล้วต้องชมเชย ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเขา ยิ่งเรียนอ่อนเรายิ่งต้องเอาใจใส่ คนที่เก่งก็ต้องคอยสนับสนุน และก็มีงบประมาณให้เขาไปเลี้ยงกันเมื่อประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง หาโอกาสทำให้เป็นระยะพยายามอย่าหยุด หรือหาย"

สิ่งเหล่านี้จะสร้างคุณค่าให้คนและ สร้างแรงจูงใจให้เขาทำงาน

นอก จากนี้ สิ่งที่ทำให้คนในองค์กรสามารถยึดเกี่ยวกัน ยังสามารถทำได้ด้วยการสร้างความรู้สึกแห่งความเป็นไทยและรักษาวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะเป็นกาวที่เชื่อมความรู้สึกร่วมกันไว้ โดยมีผู้บริหารก็ต้องคอยเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

CSR รอบรั้วบ้าน : เริ่มได้ง่ายไปได้ไกล

ดร.พรชัย ศรีประไพ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์การค้าอิมพีเรียล ผมเคยนำข้อคิดจาก ดร.อัศวิน จินตกานนท์ (ประชาชาติธุรกิจ, ปีที่ 32, ฉบับที่ 4040) มาขยายความว่า การทำ CSR นั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ CSR ในบ้าน CSR รอบรั้วบ้านและ CSR นอกรั้ว

ผมได้บรรยายว่า CSR ในบ้านก็คือ การวางแนวทางวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม สะท้อนความรับผิดชอบต่องานและต่อองค์กร ผมได้สรุปคร่าวๆ ว่า องค์กรที่มี CSR ในบ้านเข้มแข็ง จะเป็นองค์กรที่มีพนักงานที่ทำงานอย่างทุ่มเท รับผิดชอบ มีวินัย และมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

หลายๆ องค์กรที่มีชื่อเสียง องค์กรที่เป็นตัวอย่างกับองค์กรอื่นๆ จะมุ่งมั่นทำ CSR ในบ้านให้สอดคล้องกับ value หรือคุณค่าหลักขององค์กร และให้พนักงานใช้ชีวิตทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงานไปตามแนวทางของคุณค่า องค์กร

วันนี้จะมาพูดถึง CSR รอบรั้วบ้านบ้าง

รอบรั้วบ้าน คือ ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับบริษัท ใกล้เคียงกับโรงงานผลิต ใกล้เคียงกับสำนักงานสาขา หรือแม้แต่จะใกล้เคียงกับตลาดหลักๆ ของบริษัท ที่สมาชิกของชุมชนเหล่านั้น จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัททางใดทางหนึ่ง

บริษัทใหญ่ๆ อย่าง เช่น โตโยต้า จะมีโครงการอาสาสมัคร (Volunteers) เพื่อสังคมโดยส่งเสริมให้พนักงาน ครอบครัว มิตรสหาย ร่วมทำงานอาสาสมัคร ขณะที่โตโยต้าสนับสนุนเงินและวัสดุ

ศูนย์อาสาสมัครของโตโยต้าประกาศ รายการอาสาสมัครทางจดหมายและทาง สื่ออื่นๆ และสร้างศูนย์ที่เรียกว่า Corporate Citizenship Division ที่มี พนักงานทำงานเต็มเวลา 7 คน และมี อาสาสมัครกว่า 3,000 คน โดยมีโครงการต่างๆ ที่โตโยต้าทำเองหรือโครงการที่ไปร่วมทำกับหน่วยงาน NGOs อื่นๆ ตัวอย่างของโครงการได้แก่

- โครงการพาผู้สูงอายุเที่ยว

- โครงการทำความสะอาดชุมชน

- โครงการสอนศิลปะ

- โครงการช่วยทำนา

- โครงการดูแลคนป่วยและคนชรา

ใน ทำนองเดียวกัน บริษัทอย่างเช่น Mitsubishi ก็มีโครงการอาสาสมัครคล้ายๆ กัน คือ หาผู้สมัครมาช่วยเหลืองานชุมชนต่างๆ เช่น งานทำความสะอาดชุมชน งานบริจาคเสื้อผ้า หรือการให้สมาชิกของชุมชนมาใช้อุปกรณ์ หรือสถานที่ของบริษัทใน วันหยุด เช่น ใช้ห้องประชุมเพื่อจัดกิจกรรมสำหรับเด็กหรือคนชรา ใช้ห้องออกกำลังกายสำหรับสมาชิกทั่วๆ ไปของชุมชน ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อค้นคว้าหาความรู้ เป็นต้น

บริษัทที่สนใจ CSR รอบรั้วบ้านอย่างจริงจังคงจะได้แก่ บริษัท Kroger ที่เป็น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแถบ Mid-west ของอเมริกา ในปี 2005 Kroger ใช้เงินในกิจกรรมที่เรียกว่า "จากเพื่อนบ้านถึงเพื่อนบ้าน" ถึง 142 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 5 พันล้านบาท เงินที่ใช้ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากบริษัทของ Kroger โดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเงินบริจาคของลูกค้าที่มาช็อปปิ้งในร้านของ Kroger ด้วย เงินเหล่านี้แหละที่ Kroger นำไปช่วยเหลือโรงเรียนท้องถิ่นกว่า 25,000 โรงเรียน

ช่วยเหลือโครงการอาหารสำหรับคนยากจน ช่วยเหลือโครงการเยาวชนในชุมชน โครงการกุศลและโครงการต่างๆ ที่องค์กรเอกชน (NGOs) ต้องรับภาระในการดูแลช่วยเหลือสังคม

ลองมาดูว่าคุณค่า (value) ของบริษัท Kroger สะท้อนสิ่งที่บริษัททำและทุ่มเทให้กับธุรกิจและให้กับสังคมหรือไม่ คุณค่า (value) ของ Kroger มี 6 ข้อ คือ

1. Honesty : ซื่อสัตย์ สุจริต

2. Integrity : Living our Values in all we do รักษาเกียรติ ใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับ

ค่านิยมในทุกอย่างที่เราทำ

3. Respect for others : เคารพผู้อื่น

4. Diversity : เคารพความแตกต่างของบุคคล

5. Safety : ดูแลทุกคนให้ปลอดภัย

6. Inclusion : ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกสิ่ง

บริษัทที่รักษาคุณค่าของบริษัทไว้อย่างดี ก็จะได้พนักงานที่ดีและมีคุณค่ากับบริษัท

การ ที่จะมองหางาน CSR รอบรั้วบ้านนั้นไม่ยาก เพราะสังคมไทย ยังมีอะไรใกล้ๆ ตัวที่จะต้องการการยื่นมือเข้ามาช่วย เข้ามาร่วมรับผิดชอบอยู่เสมอ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เราอยู่ใกล้ชายทะเลที่สมุทรปราการ เราจึงมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการ

อนุรักษ์ชาย ฝังทะเล ดังนั้นพนักงาน พันธมิตรธุรกิจ และลูกค้าของศูนย์ จึงร่วมใจกันออกไปปลูกป่าชายเลนที่บางปู ป่าชายเลนที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ชายฝั่งทะเลและในการช่วยอภิบาลสัตว์น้ำต่างๆ ในทะเลของเรา เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ป่าชายเลน 2.2 ล้านไร่ของประเทศไทย ถูกทำลายลงไปกว่า 50% เหลือเพียงประมาณ 1 ล้านไร่ ในปัจจุบัน เราคงจะต้องใช้ความพยายามอีกมาก กว่าที่จะคืนสภาพป่า ชายเลนให้กลับมาเหมือนเดิม

การออกไปทำงาน CSR แบบนี้ค่อนข้างจะเหนื่อยและต้องการความเสียสละอยู่มาก แต่ผลที่ได้รับนั้นค่อนข้างจะคุ้มค่า พนักงานได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรธุรกิจ กับลูกค้าขององค์กร ทำให้เกิดความเข้าใจกันให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันหลายๆ ประการ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนเกิดจิตสำนึกร่วม ที่จะทำความดี ทำประโยชน์ให้กับสังคมให้กับองค์กร เกิดภาพลักษณ์และความรู้สึกดีๆ กับตนเอง เกิดความเป็นทีม ความเป็นหนึ่งเดียว ความมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ

CSR เริ่มได้ง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ แต่ก็จะต้องหาวิธีที่จะสานให้ยั่งยืนและเกิดคุณค่ามากกว่านี้อีก

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

Survive !!! อยู่รอดให้ได้ในภาวะวิกฤต



แม้ ตอนนี้จะหันหน้าไปทางไหนในแวดวง ขับเคลื่อนแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) ความกังวลของคนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น คือ การตัดลดงบประมาณด้าน CSR

แต่ในมุมของผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงนี้มายาว นาน อย่าง "อเล็กซ์ มาโวร"ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท โซเชียล อิมแพ็ค เวนเจอร์ เอเชีย จำกัด บริษัทที่ปรึกษา CSR รายแรกในไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน กลับมองว่า ยิ่งลดงบประมาณ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี สำหรับองค์กรและผู้ที่มีส่วน ขับเคลื่อน CSR ภายในองค์กร

ความที่เขาเคยเป็นอดีตเจ้าของธุรกิจมากว่า 30 ปี ก่อนที่จะวางมือและหันมาเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติอย่าง "ทีเอ็นที" การมีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ในไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าไปคลุกวงในกับบริษัทที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษากว่า 20 องค์กร ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดเล็ก บริษัทข้ามชาติ และบริษัทสัญชาติไทยแท้ๆ ในฐานะที่ปรึกษา CSR จนปัจจุบัน

ประสบการณ์และสิ่งที่เขาพบเจอจึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่านี้

และนี่คือเหตุผล !!

เขา อธิบายว่า "มีคนบอกว่าแย่แล้ว สถานการณ์วันนี้บริษัทจะต้องตัดงบฯโครงการ CSR ผมบอกเลยว่าดี ถ้าตัดได้ก็ควรตัด เพราะ CSR เป็นสิ่งที่อยู่ในเส้นเลือด อยู่ในดีเอ็นเอองค์กร ตัดออกไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ตัดได้นั่นคือสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่ใช่ อะไรตัดได้ก็ตัดไป แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมานั่งคิดใหม่ว่า วิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ของบริษัทอยู่ตรงไหน และใครคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakholders) และหารือกันว่าจะปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อความอยู่รอดขององค์กร"

วิกฤต ในวันนี้จึงเป็น โอกาสทอง ที่เป็นการบังคับให้บริษัทต้อง "ปรับตัว" และเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น เพราะในภาวะวิกฤตบริษัทจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อการอยู่รอด ต้องปรับปรุงการดำเนินงานภายในองค์กรใหม่ ฉะนั้นอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เขาก็เชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้จะได้เห็นการจัดระบบ CSR ภายในองค์กร

"ในเวลาที่ไม่ เกิดเหตุการณ์วิกฤต บริษัทก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ จะไม่พยายามศึกษาและปรับปรุงภายใน แต่เวลาแบบนี้เขาจึงต้องกลับมาคิดใหม่ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเดินมาถูกทิศทางหรือไม่ สิ่งที่เราจะเห็นจากนี้ก็คือบริษัทอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังได้จัดระบบ CSR ภายในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะออกนโยบาย CSR โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะออกนโยบาย CSR เพียงแต่สิ่งที่เขาทำมันใช่ เพราะว่าเขากำลังจะเอาตัวรอด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างผลงานที่ดี การดูแลและพัฒนาพนักงานไปในทิศทางที่ยั่งยืนขึ้น"

" ถ้าดู CSR ตัว S วันนี้อาจจะไม่ได้หมายถึง social แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ S อาจหมายถึง survive เพราะ CSR ก็คือ การ บริหารจัดการที่ดีที่จะทำให้องค์กรปรับตัว อยู่รอด และแข่งขันได้ในระยะอีก 10-20 ปีข้างหน้า"

CSR = การบริหารที่ถูกต้อง

"และเมื่อ CSR คือ การบริหารที่ถูกต้อง คำถามของผมก็คือแล้วทำไมองค์กรจะไม่ทำ ถ้ามี CSR จะทำให้เราปรึกษาและหาวิธีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ถ้าสมมติทุกคนในบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำมองระยะยาว 10-20 ปีมาใช้ในการตัดสินใจวันนี้ ก็อาจไม่ต้องมีวิชา CSR ขึ้นมาเลย เพราะว่าเขาจะทำในสิ่งที่ควรทำ ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติที่ถูกต้อง"

โดยดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

" เมื่อถึงวันหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมี CSR เป็นวิชาที่แยกออกมา และผมเชื่อว่าวันหนึ่งก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนเรื่องคุณภาพ (quality) เมื่อก่อน 20 กว่าปีที่แล้วเริ่มดัง ก็เป็นแนวคิดใหม่ของบริษัท ถ้าเทียบตะวันตกกับญี่ปุ่น ทำไมญี่ปุ่นถึง ดีกว่า ตะวันตกก็พยายามปรับ ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยรู้อะไร จนทุกวันนี้เรื่องคุณภาพกลายเป็นเรื่องที่มีอยู่ในธุรกิจ โดยไม่ได้เป็นวิชาต่างหาก บริษัทที่ทำเรื่องคุณภาพก็ไม่ต้องมีฝ่ายคุณภาพแยกออกมาต่างหาก อีกไม่นานในบริษัทจะไม่ต้องมีแผนก CSR ต่างหาก ซึ่งจริงๆ ไม่ควรมี อาจจะมีในช่วงแรกที่เอาไว้กระจายความรู้ ความเข้าใจ แต่ข้างหน้าอีกไม่กี่ปี CSR ก็เหมือนเรื่องคุณภาพควรจะอยู่ในกลยุทธ์ทุกขั้นตอน"

เมื่อตั้งคำถามว่าสำหรับไทย เขามองว่าอีกนานแค่ไหน

" วันนี้ผมว่าเราเริ่มเห็นแล้ว ลูกค้าเขากำลังบีบ ผู้ลงทุนเขากำลังสนใจ กรณีไทยเบฟเวอเรจก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า อาจจะมีส่วนที่ทำให้เห็นว่าคนส่วนต่างๆ ในสังคมกำลังบีบบังคับ ฉะนั้นบริษัทไหนที่อยากได้เปรียบต้องปรับตัวก่อน ถ้าบริษัทไหนปรับตัวช้าจะต้องเสียตลาดและไม่รอดในระยะยาว เพราะว่าทรัพยากรรู้อยู่แล้วว่ามีจำกัด ถ้าบริษัทไหนที่ไม่ปรับตัวก็จะแพ้ตลาด"

เขากล่าวว่า "ลูกค้าองค์กรที่มาใช้บริการวันนี้ล้วนเป็นบริษัทที่ถูกกดดันจากการค้าใน ต่างประเทศที่กำหนดให้ซัพพลายเชน แต่สำหรับผมเรื่องถูกบังคับหรือทำเพราะสมัครใจไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่เนื้องาน หรือสิ่งที่ทำต่างหากว่าบริษัทนั้นทำ CSR อย่างไร"

แม้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ความรู้จักขององค์กรในไทยที่มีต่อ CSR จะเปลี่ยนแปลงไป แต่นั่นเป็นเพียงการรู้จักแต่ไม่ได้หมายความถึงความเข้าใจทั้ง 100% เพราะปัญหาจากการให้คำปรึกษาในองค์กรต่างๆ พบว่าปัญหาหลักขององค์กรไทย คือ ความไม่เข้าใจแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

"ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้า ใจว่า CSR คือ การทำบุญ หรือเป็นวิธีในการปรับปรุงโลกทุนนิยม แต่ว่าไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ CSR เพราะ CSR คือ การปรับปรุงการบริหารของบริษัทที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในบริษัทจากเช้ายันเย็น และแยกออกจากการดำเนินธุรกิจไม่ได้ และต้องคิดไปด้วยกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะในระหว่างทำเรื่องการเงิน การตลาด ต้องมีความรับผิดชอบอยู่ในนั้นตลอด CSR ต้องเริ่มที่บ้าน ดูแลภายในบริษัท ซึ่งเป็นสังคมที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด โดยจัดระเบียบข้อบังคับ ชัดเจนโปร่งใส และทำอย่างเท่าเทียมและสม่ำเสมอทุกคน พอเริ่มต้นจากภายในแล้วก็ค่อยขยายออกไปยังครอบครัวพนักงาน ซัพพลายเออร์ และภายนอก"

ปรับทิศองค์กรให้อยู่รอด

"การปรับปรุงการบริหาร จัดการของธุรกิจด้วย CSR จึงหมายถึงการดูถึงกลยุทธ์และทิศทางของบริษัทว่าจะเดินไปในทิศทางไหน และถ้าจะเดินไปในทิศทางนั้นจะไปเบียดใครหรือเปล่า และเขาจะรู้สึกอย่างไร ทั้งชาวบ้าน ซัพพลายเออร์ และเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น บริษัทก็คิดก่อน ก่อนที่จะสร้างความรู้สึกไม่พอใจ"

เขาเปรียบเทียบ ไว้ว่า องค์กรก็เป็นเหมือนเรือ และผลกระทบที่องค์กรสร้างขึ้นก็เปรียบเหมือนน้ำที่กระเด็นจากเรือเวลาเรือ วิ่ง ฉะนั้นการปรับตัวขององค์กรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็เหมือนการที่จะทำอย่างไรเมื่อเรือวิ่งไปแล้วจะไม่ให้น้ำกระเด็นไปถูกบ้าน คนอื่น ซึ่งถ้าไม่ปรับปรุงและออกแบบเรือใหม่ เรือลำนั้นก็ต้องวิ่งให้ช้าลง โดยต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

"มีบริษัทจำนวนไม่ น้อยที่บอกว่าตัวเองทำ CSR แต่ถ้าแค่บริจาคเขียนเช็ค ไปปลูกป่า ผมถือว่าอย่างนี้ไม่ใช่ ถ้าเราจะดูว่าบริษัทไหนมี CSR หรือไม่ ง่ายเพียงลองถามว่าเขาได้หารือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็แสดงว่าเขาไม่ได้มี CSR อย่างที่เขาเข้าใจ เพราะการไม่ได้คุยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โอกาสจะสำเร็จในการทำ CSR เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้"

และแม้จะเป็นที่ปรึกษา CSR แต่ "อเล็กซ์" ก็ยอมรับว่าไม่ได้ชื่นชอบคำว่า corporate social responsibility และคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร มากนัก

เขากล่าวด้วยว่า "ผมเคยเป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เวลาใครมาบอกว่าคุณต้องมีความรับผิดชอบ ผมมักจะคิดว่า ผมเป็นเจ้าของธุรกิจ ผมมีพนักงานและครอบครัวพนักงานที่ต้องรับผิดชอบ ทำไมต้องมาบอกว่าผมต้องรับผิดชอบอะไร"

ในเวลาเดียวกันความหมายของคำ คำนี้ยังไม่ได้บ่งชี้ถึงแนวคิดได้อย่างชัดเจน เทียบเท่ากับคำที่มีความหมายตรงที่สุด อย่าง social impact management ที่แปลเป็นไทยที่หมายความถึง การบริหารจัดการผลกระทบที่มีต่อสังคม เช่นเดียวกับหลายค่ายคิดในต่างประเทศที่วันนี้มีความพยายามในการใช้ CSR เป็น corporate sustainability&responsibility หรือนักคิดในฝั่งสหรัฐ ที่ใช้ CSR ที่มาจาก corporate stakeholders responsibility ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการที่จะพยายามบ่งชี้ว่า CSR เป็นมากกว่าการดูแลสังคมภายนอก และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะวันนี้สถานการณ์ในหลายประเทศก็เป็นเช่นเดียวกับในไทย "ที่แม้คนจะรู้จัก CSR อย่างกว้างขวางขึ้น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ความหมายที่แท้จริงของแนวคิดนี้" อเล็กซ์กล่าวในที่สุด

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01151251&day=2008-12-15&sectionid=0221

เรียนรู้จาก "บริษัทยอดแย่"


ดูเหมือนว่าแค่ฟังดูชื่อรางวัล "บริษัทยอดแย่ ประจำปี 2551" หรือ Bad Company Awards 2008 ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีบริษัทไหนอยากจะได้รับรางวัลนี้นัก ยิ่งดูเหตุผลที่ผู้ประกาศรางวัล สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคกว่า 220 องค์กร ใน 115 ประเทศ ระบุว่าเป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบ เอาเปรียบและหลอกลวงผู้บริโภค แล้วยิ่งทำเอาบรรดาบริษัทต่างร้อนๆ หนาวๆ

รางวัล นี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2550 ที่ผ่านมา และสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญบนเวทีการค้าระดับนานาชาติ แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแบรนด์ที่ได้รับรางวัลไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและมี สินค้าวางจำหน่ายในบ้านเรามากนัก

แต่การประกาศรางวัลในปี 2551 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อวารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International) ร่อนการประกาศผลรางวัล บริษัทยอดแย่ ประจำปี 2551 ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

สปอตไลต์จึงโฟกัสที่บริษัทและเจ้า ของแบรนด์ที่ได้รับรางวัลนี้ทันที เพราะไม่เพียงมีแบรนด์ที่เป็นรู้จัก มีสินค้าและบริการในไทย สำหรับบริษัทยอดแย่ในลำดับที่ 1 ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในไทยอีกด้วย

จากเอกสารของวารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International) ระบุว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ 1.เทสโก้ฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นผู้สามารถสกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ยอดเยี่ยม โดยบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสื่อมวลชนไทย 3 คน เป็นเงินรวมกันถึง 34 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,200 ล้านบาท) จากการที่พวกเขาทั้ง 3 ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเปิด สาขาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย 2.เคลลอกซ์ และเลโก้ สำหรับไอเดียกระฉูดที่ทำขนมหวานสำหรับเด็กออกมาในรูปแบบของตัวต่อพลาสติกที่ เด็กๆ ทั่วโลกรู้จักกันดี ไม่ว่า พ่อแม่ที่ไหนๆ ในโลกก็คงไม่ต้องการให้ลูกของตัวเองรับประทานตัวต่อเลโก้เข้าไป 3.ซัมซุง สำหรับความพยายามสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจตนเอง โดยประเด็นที่องค์กรผู้บริโภครับไม่ได้คือ การที่บริษัทผลิตรถถังควบคู่ไปกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เรารู้จักกันดี อย่างโทรทัศน์และมือถือ แม้จะอ้างว่าเป็นการทำเพื่อนำสันติสุขมาสู่โลกก็ตาม 4.โตโยต้า สำหรับการสร้างภาพ จริงอยู่ที่บริษัทผลิตรถรุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน 5.อิไลลิลลี่ ที่ระดมทำตลาด "เกินขนาด" เพื่อขายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยไม่สนใจว่าโฆษณาของตนจะผิดกฎหมายหรือไม่

"ศศิวรรณ ปริญญาตร" เจ้าหน้าที่สายทดสอบ วารสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า "จะสังเกตได้ว่ารายชื่อบริษัทที่ได้รับรางวัลนี้จะเป็นบริษัทข้ามชาติ เราไม่ได้กล่าวโทษเขา แต่เพียงเพราะเราเชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีความสามารถที่จะปรับปรุง การดำเนินธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้เพิ่มมากขึ้น"

และ กล่าวว่า "บริษัทที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็ประกาศว่าตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อ สังคม หรือมี CSR แต่คงต้องถามว่าในสิ่งที่บริษัททำนั้นเรียกว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง หรือไม่"

คำถามนี้ไม่เพียงแต่บริษัทที่ได้รับรางวัลบริษัทยอดแย่ในปี นี้จะเป็นผู้ตอบ แต่ยังเป็นคำถามที่บริษัทในไทยจำนวนมากที่ประกาศตัวว่าเป็นบริษัทที่มี CSR จำเป็นต้องตอบด้วยเช่นกันว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อ สังคม ได้เข้าไปอยู่ในทุกส่วนครบถ้วนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพียงกิจกรรมที่ปรากฏให้เห็นผ่านสื่อแต่เพียงเท่านั้น


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

"คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่"

"คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่" CSR เที่ยวล่าสุด "เมืองไทยประกันภัย"

จาก สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2544 จำนวนผู้พิการในไทยทั้งหมดอยู่ที่ 1 ล้านคน มีเด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งถือเป็นความพิการอย่างหนึ่งอยู่ถึง 1 แสนคน และในแต่ละปีจะมีเด็กที่พิการเช่นนี้อีกราว ปีละ 2,500 คน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจน ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐของไทยสามารถรองรับการรักษาได้เพียง 250 คน นั่นหมายถึงว่าผู้พิการอีกกว่า 7-8 หมื่นคนในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษา

"ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ เราพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้โดยทำการรักษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะไม่เพียงเป็นอาการพิการทางกาย แต่นี่คือปัญหาสังคมที่สำคัญ เพราะส่วนใหญ่เราพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้มาแต่กำเนิด เมื่อโตมาจะอาย ไม่ยอมไปโรงเรียน และทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา" นายแพทย์สมชาย กุลวัฒนาพร เลขาธิการสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานโครงการ "อาสาสมัครแพทย์พยาบาลไทยและนานาชาติจากสหรัฐ อเมริกา" กล่าวถึงเหตุผลที่เขาและทีมแพทย์และพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เข้ามาทำการผ่าตัดรักษาเด็กพิการ "ปากแหว่งเพดานโหว่" และพิการทางสายตามาเป็นเวลากว่า 6 ปี และให้การรักษาผู้ป่วยไปแล้วเกินกว่า 2,000 ราย โดยแต่ละปีก็จะเวียนไปให้การรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เพียงแต่อาจจะไม่มีคนรู้จักโครงการมากนัก เพราะไม่ค่อยได้เน้นการประชาสัมพันธ์

การตัดสินใจร่วมแถลงข่าว โครงการร่วมกับ บมจ.เมืองไทยประกันภัย หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการนี้มาเป็นปีที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา จึงเป็นครั้งแรกของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มช่อง ทางในการเข้าถึงการรักษาของผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ป่วยและพิการทางสายตาได้มากขึ้น

เพราะการรับรู้โครงการมากขึ้นก็เท่ากับว่าคนจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากขึ้น !!

บทบาท ของ "เมืองไทยประกันภัย" จึงไม่เพียงจัดแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุนที่พักสำหรับคณะอาสาสมัคร ที่พักและค่าเดินทางสำหรับผู้ที่จะมารับการรักษา

แต่ยังใช้ ทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ในการช่วยเหลืองานด้านประชาสัมพันธ์ รวมถึงใช้ call center 1484 สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการรักษาให้ติดต่อเข้ามา

" นวลพรรณ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า "ในปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทเข้าร่วมโครงการในปีแรก อาจจะไม่ได้นำมาพูดถึงมากนัก แต่การที่หันมาเน้นการประชาสัมพันธ์โครงการในปีนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงโอกาสในการรักษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ ชีวิตมากขึ้น"

เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักที่ทีมแพทย์ฝีมือ ดีจากสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดศัลยกรรมจากมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัย เพนสเตต มหาวิทยาลัยคอร์แนล ฯลฯ จะเสียค่าเดินทางเองเพื่ออาสามารักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งยังขนอุปกรณ์การแพทย์ที่ดีที่สุดมาใช้ในการรักษา รวมทั้งเลนส์ตาอีกกว่า 400 คู่ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา และหากตีเป็นมูลค่าทั้งหมด โครงการ "อาสาสมัครแพทย์พยาบาลไทยนานาชาติจากสหรัฐอเมริกา" ในปี 2552 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 77 พรรษา ภายใต้แนวคิด "คนไทย...ยิ้มเพื่อแม่" จะมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท

การ ระดมผู้เชี่ยวชาญมายังไทยครั้งนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาระหว่างแพทย์จากสหรัฐอเมริกาและทีมแพทย์ในไทย แม้ว่าในปีนี้จะมีอุปสรรคบ้างจากเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมือง ที่ทำให้ทีมแพทย์อาสาบางคนปฏิเสธการเดินทางมาร่วมงาน แต่เชื่อว่าในปีนี้จะมีทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางเข้ามาเป็นอาสาสมัครกว่า 48 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับผู้เข้ารับการรักษาจำนวนรวมทั้งหมดกว่า 700 คน เป็นเด็กอายุระหว่าง 4 เดือนถึง 21 ปี ซึ่งพิการปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 350-400 คน และผู้ป่วยด้านสายตาจำนวน 250-300 คน โดยเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับการรักษานั้นจะต้องมีคุณสมบัติ อาทิ เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมจริง มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด หรือกรณีผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ ควรจะเป็นผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ในแต่ละกรณีขึ้นอยู่กับการตรวจและวินิจฉัยความเหมาะสมของทีมแพทย์อีก ครั้งหนึ่ง

"นวลพรรณ" กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทในปี 2552 ซึ่งในขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณรวมของกิจกรรมเพื่อสังคมรวมงบประมาณในการ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาราว 80 ล้านบาท โดยในส่วนของงบประมาณกิจกรรมเพื่อสังคมจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ขึ้นอยู่กับโครงการและความจำเป็นเร่งด่วนที่มีต่อ สังคมในเวลานั้นๆ

โดยยอมรับว่าการจัดสรรงบประมาณในปีหน้านั้นเป็นแบบ ค่อนข้างระมัดระวัง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้บริษัทต้องรัดเข็มขัดพอสมควร ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการคัดเลือกกิจกรรมและโครงการเพื่อสังคมที่จะ ดำเนินการโดยไม่เพียงคำนึงถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและ เด็ก

"สิ่งที่เราให้ความสำคัญในการเลือกทำโครงการยังอยู่ที่สิ่งนั้นต้องสามารถตอบแทนสังคมได้จริง โดยไม่ได้เป็นแต่โครงการที่เอาแต่หน้า"

อย่าง ไรก็ตาม "นวลพรรณ" ยอมรับว่า CSR มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต แม้อาจจะไม่ชัดเจนถึงผลที่ได้ในเชิงพาณิชย์มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดกว่า 4 ปีที่บริษัทดำเนินการ เชื่อว่าทำให้ แบรนด์ของบริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

สร้างความเข้มแข็งอาชีพชุมชน

สร้างความเข้มแข็งอาชีพชุมชน ตอบโต้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย ท่ามกลางภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทำนายกันว่าใน ปี 2552 จะมีคนในวัยทำงานต้องตกงาน 1-2 ล้านคน จากประสบการณ์ปี 2540 เราเรียนรู้ว่าคนจำนวนมาก ที่มีรายได้น้อย จะต้องกลับไปพึ่งครอบครัวในถิ่นฐานเดิม โดยเฉพาะในภาคเกษตร ในแง่หนึ่งระบบวัฒนธรรมไทยและอาชีพด้านเกษตรพื้นฐาน เป็นกลไกรองรับผู้ที่ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมอาจไม่สามารถจ้างงานต่อไป ในขณะเดียวกัน เราทราบว่าผู้ที่มีรายได้น้อยที่อพยพย้ายจากถิ่นฐานภูมิลำเนาส่วนใหญ่มาจาก ครอบครัวชนบทที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็น ที่นา เงินลงทุน หรือแรงงานก็มีน้อยเช่นกัน ซึ่งต้องชื่นชมความยืดหยุ่นภาคชนบท ในการเป็นเบาะรองรับลูกหลาน พี่น้องที่กลับไปพึงในยามลำบาก

แล้วการช่วยเหลือภาคชุมชนชนบททำได้อย่างไร ?

วันนี้ ผมจึงได้เสนอรูปแบบการส่งเสริมอาชีพ โดยผ่านกองทุนเงินหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมอาชีพ เนื่องจากไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติ หรือในยามวิกฤตก็ตาม ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพลำบากมาก ครอบครัวอาจจะมีหนี้สินด้านการเกษตรอยู่แล้ว ที่ดินที่เหลืออยู่น้อยติดจำนอง เมื่อไม่สามารถเข้าถึงทุนประกอบการ โอกาสเพิ่มรายได้จะน้อย เหมือนวัฏจักรของความยากจน


แต่ จากประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนพบว่า การส่งเสริมอาชีพโดยกองทุนหมุนเวียน นอกจากจะเกิดผลเชิงรายได้แล้ว คนจนมีอัตราการคืนเงินสู่กองทุนที่สูงมาก นอกจากนั้นเกิดอาชีพท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าหลายด้าน ดังเช่นที่ผม

ลองจำลองรูปแบบการทำงานระหว่าง CSR องค์กรพัฒนาเอกชน และกิจกรรมกองทุนอาชีพชุมชน ในภาพข้างล่างนี้

อาจ จะมีข้อสงสัยว่าหากกองทุนอาชีพทำง่ายๆ เกิดผลจริง ด้วยโครงการกองทุนที่หลายหน่วยงานภาครัฐทำกันนั้นความยากจนน่าจะหมดไปจาก ประเทศไทยนานแล้ว แต่ในความเป็นจริงการส่งเสริมอาชีพไม่สามารถแยกส่วนทำได้ หน่วยงานที่ส่งเสริมอาชีพ มักจะแยกบทบาทชัดเจน ใครสอนทักษะการผลิตก็สอนอย่างเดียว บางโครงการเปิดกองทุน แต่ไม่ได้แนะนำวิธีการบริหารกองทุน หรือไม่มีแนวทางการพัฒนาอาชีพโดยใช้เงินจากกองทุน และน้อยครั้งที่โครงการแนะนำอาชีพ จะมีกระบวนการฝึกฝนเรื่องทักษะด้านการตลาด

การทำงานหลายด้าน ให้เกิดลักษณะครบวงจร เป็นข้อได้เปรียบขององค์กรพัฒนาเอกชนที่สามารถมุ่งเป้าหมายการทำงาน ความสนใจ หรือความพยายามและพลังในการทำงานให้เกิดการเสริมสร้างทั้งกระบวนการ ไม่ได้แยกแยะตามบทบาทเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน และยังทำงานในรูปแบบ การเพิ่มพลัง empowerment คือ ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดทักษะและอำนาจในตัวเอง ดังนั้นทักษะหลายอย่างจะปรับใช้ได้ในงานอื่นๆ

ข้อสำคัญอีกประการ หนึ่งที่เป็นคุณลักษณะของงานส่งเสริมอาชีพคือ วัดผลสำเร็จได้ชัดเจน เพราะงานอาชีพ หรือกองทุนเงินหมุน จะใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างสากล ดังนั้นบริษัทที่ส่งเสริมงานอาชีพ จะได้ทราบผลค่อนข้างชัดเจน ผลนั้นวัดได้ในรูปแบบรายได้ และผลต่อครอบครัว นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานบริษัทมีส่วนร่วม โดยการช่วยกันคิดวิเคราะห์ เสริมสร้างการทำงานกองทุน การทำงานกลุ่มอาชีพ หรือด้านการตลาด

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆ อาจจะมีงบประมาณที่จะทำงานด้านสังคมน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าหากหลายบริษัท ทำงานในรูปแบบส่งเสริมอาชีพ จะเกิดผลที่เห็นชัด ทั้งในส่วนที่แต่ละบริษัทได้ให้การสนับสนุน และในภาพรวมที่สามารถช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่วิกฤตเช่นนี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธัันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

แนะใช้ CSR รับมือ


" ดร.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โลกขณะนี้กำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี แต่ประเทศไทยมักจะมีอะไรที่พิเศษกว่า คือ มีวิกฤตทั้งด้านการเมือง สังคม และวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ภาวะวิกฤตมักเกิดจากความไม่ปกติ แปลว่าไม่ดี มีทั้งเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติสึนามิ และเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ครั้งนี้ก็เกิดจากความโลภมากของคน โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน เพราะความไม่รู้จักพอ อยากใหญ่กว่าบริษัทอื่น จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาหากำไรไม่รู้จักพอ เป็นความไม่ดี ถ้าเกิดขึ้นน้อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่พอมากเข้าก็กลายเป็นวิกฤต

"ไทยก็ เหมือนกัน วิกฤตต่างๆ เกิดจากความไม่ดี สะสมกันเข้าจนมหาศาล จนคนไทยอึดอัด ขัดข้อง กลุ้ม เดือดร้อน บางคณะถึงขั้นเกลียดแค้น ชิงชัง ถึงขั้นมุ่งทำร้ายชีวิตกัน ทางแก้ที่ดีทางหนึ่ง คือ ถอนความไม่ดีออก และ/หรือสร้างความดีขึ้นมา เพราะความดีทำให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง CSR (corporate social responsibility) ก็เป็นความดีที่สำคัญชนิดหนึ่ง ถ้าทำมากๆ ทำนานๆ จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้ผู้เกี่ยวข้อง บริษัท ผู้คน สังคม ชุมชนได้ประโยชน์กันทั้งหมด"

"การให้ เป็นความดีชนิดหนึ่ง ถ้าให้อย่างมีคุณค่า เหมาะสมดีพอ นานพอ มากพอ ก็จะสร้างพลัง ความเข้มแข็ง มั่นคงทั้งทางจิตใจ วัตถุ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ซึ่งการให้มีหลายอย่าง ให้วัตถุ ให้ความดี ให้ความรู้ ล้วนเป็นการให้ที่มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของ CSR เพราะเป็นการทำดี ทำจิตให้มั่นคง บริสุทธิ์ มีคุณภาพตรงตามหลักของการทำความดี ป้องกันการทำสิ่งไม่ดี ฉะนั้นการให้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ CSR เป็นการป้องกัน แก้วิกฤตให้องค์กรและสังคม จึงสรุปได้ว่า พลังแห่งการให้ พลัง CSR ถ้านำไปประยุกต์ใช้ จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ได้ในที่สุด" ดร.ไพบูลย์กล่าว

ข้อมูลจากเสวนา "พลังแห่งการให้ พลัง CSR ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ" ซึ่งจัดขึ้นโดย โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ CSR และภาคี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมพุทธคยา อาคารอมรินทร์พลาซ่า กรุงเทพฯ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

"ปลดคน" ฤๅใช่ทางออก องค์กรฝ่าวิกฤต !!!



ข่าว การทยอยปลดพนักงานขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นและมากขึ้นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งบริษัทในต่างประเทศรวมถึงไทย โดยมีเหตุผลสำคัญในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรซึ่งได้รับผลกระทบจากการ ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลพวงมาจากวิกฤตการเงินโลก

คาดการณ์กันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะยิ่งปรากฏให้เห็นอีกหลายระลอก ในปี 2552 ที่จะถึง

และเป็นภาพเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ครั้ง หนึ่ง ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยาและการบริหาร ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการ บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เคยตั้ง ข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้าเราใช้วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นบทเรียน จะเห็นได้ว่าการปลดพนักงานในเวลานั้น กลายมาเป็นอุปสรรคกับการพัฒนาองค์กรในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความจงรักภักดีกับองค์กร ในวิกฤตที่เกิดขึ้น องค์กรที่จะปลดพนักงานจึงต้องตัดสินใจให้ดีกับผลที่จะเกิดในระยะยาว มากกว่าการมองเพียงสิ่งที่จะได้ในระยะสั้น"

เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นภูมิคุ้มกันของ "บริษัท"

ปลดคน = เพิ่มภาระให้สังคม

บท เรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ของ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด นั้นเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจไม่ปลดพนักงานในเวลานั้น กลายมาเป็นแรงบวกในการพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรในเวลาต่อมา

" ในเวลานั้นงานของเราลดลงไปประมาณ 20% ฉะนั้นเราจำเป็นต้องปลดคนออก แต่ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บอกกับเราในเวลานั้นว่า บริษัทจะไม่ปลดคนออก เพราะการปลดคนออกก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับสังคม" กฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ย้อนเล่าการตัดสินใจครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้นที่แม้ว่าจะต้องเพิ่มภาระให้ กับบริษัท แต่ผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่ปรากฏในวันนี้ก็คุ้มค่า

เพราะ ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงทัศนคติและเพิ่มความจงรักภักดีของพนักงานที่มีต่อ องค์กรอย่างเห็นได้ชัด การจัดโครงการให้พนักงานที่มีมากกว่างานที่ทำในเวลานั้นทยอยไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนในองค์กรได้มีการพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีผลที่ดีตามมาต่อประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงการลดปัญหาความขัดแย้งในองค์กร

"ในเวลานั้นการที่พนักงานมี โอกาสไปปฏิบัติธรรมทำให้พนักงานมีโอกาสการเปลี่ยนแปลงและสามารถควบคุมตัวเอง ได้ดีมากขึ้น และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของคนให้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลัง มือ" รองกรรมการผู้จัดการบริษัทวิริยะประกันภัยกล่าว

ดังนั้นการรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ การปลดพนักงานจึงไม่มีอยู่ในแผนรับมือวิกฤตของบริษัท

ดูแลพนักงาน "ภูมิคุ้มกัน" องค์กร

ใน ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR "อนันตชัย ยูรประถม" กล่าวว่า "การดูแลพนักงานโดยพยายามรักษาเขาไว้ในช่วงวิกฤต นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงให้กับองค์กร ในเวลาเดียวกันการที่ดูแลพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้เห็นในช่วงวิกฤตจะเห็นว่าหลายองค์กรแทบจะไม่เดือดร้อนเลย เมื่อวิกฤตมาเยือนอีกครั้ง"

เช่นที่เกิดขึ้นกับ "วันเดอร์เวิร์ล" และ "นิชิเวิร์ล" ผู้ผลิตและส่งออกของเล่น รายใหญ่ในไทย และ "บาธรูมดีไซน์" ผู้จำหน่ายสุขภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งเป็นองค์กรที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อพนักงาน

" สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์เวิร์ล โปรดักส์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด เล่าว่า "CSR ทำให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ แต่ต้องสะสมและใช้เวลา วันนี้เกิดวิกฤตเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่การทำตั้งแต่วันนี้เป็นการสะสมทุนไว้ใช้ในภายภาคหน้า ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร

การดูแลพนักงานจะทำให้ทุกคนช่วยกันเมื่อเกิดวิกฤต"

การ ดูแลพนักงานที่มากกว่าการดูแลในเรื่องผลตอบแทนและสวัสดิการเช่นเดียวกับ องค์กรทั่วไป บริษัทยังดูแลช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ อาทิ การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ฯลฯ อาจจะอย่างที่เขาเคยบอกว่า "การจะทำให้พนักงานรักองค์กรต้องรู้จักที่จะรักเขาก่อน" ทำให้เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทในปี 2540 พนักงาน กลายเป็นกลจักรสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับบริษัท

"สุทธิชัย" เล่าถึงภาพความจำในเวลานั้นว่า "ตอนปี 2540 เราได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการลดค่าเงินบาท ด้วยความเป็นบริษัทส่งออก ตอนนั้นมีพนักงานอยู่ 100 คน พนักงานเขาไปนั่งประชุมกันเองว่าจะช่วยบริษัทได้อย่างไร"

ในที่สุด นอกจากจะไม่ต้องปลดพนักงาน การจัดสรรกำลังคนให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมก็กลายเป็นที่มาของการขยายงาน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้องค์กรเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ "สุทธิชัย" เชื่อว่า "เป็นสิ่งที่ต้องสะสมไป ถ้าเริ่มสร้างภายในให้เข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็ง และเป็นยาที่ดีที่สุดในการฝ่าวิกฤต"

"ความสุข" คือ ทางออก

" วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์" ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด เห็นด้วยกับสิ่งที่ "สุทธิชัย" พูดและเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด "เมื่อยิ่งให้นั้นจะยิ่งได้" สิ่งที่น่าสนใจคือหลักในการบริหารองค์กรที่ใช้มาตลอด และเชื่อว่าในวันที่เกิดวิกฤต การเดินตามเส้นทางนี้ทำให้อยู่รอดได้ และการ ปลดคนออกจะเป็นทางออกสุดท้ายที่จะตัดสินใจทำ

การบริหารองค์กรของเขา ยึดหลักของ "การให้" และหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ 1.ผลิตให้มาก โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งสอดคล้องกับหลักในการบริหารธุรกิจในเรื่องของการสร้างประสิทธิผลใน องค์กร 2.ใช้แต่พอดี รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ซึ่งตรงกับหลักการบริหารในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง 3.เหลือจึงแบ่งปันให้ผู้อื่น ตามหลักสังคหวัตถุ 4 เมื่อทุกคนให้แล้ว สังคมก็จะมีแต่ความสุข ทุกคนอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดวิกฤตจะเกิดขึ้นได้ยาก

"ผมมองว่าพนักงานคือคนใน ครอบครัว เราไม่สามารถช่วยเขาเพิ่มรายได้ได้ เราก็พยายามหาทางช่วยเขาลดค่าใช้จ่าย ด้วยการจัดหาอาหารมาให้เขา รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพ ผลิตกันเอง ขายกันเองในบริษัท ทำให้เขาสามารถลดรายจ่ายได้ นอกจากนี้เรายังพยายามสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสให้ โดยลงแรงไปช่วยเหลือคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขจากภายในที่จะเกิดขึ้น"

ฉะนั้น ในวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับเขาแล้วมองเพียงว่า "วิกฤตเศรษฐกิจก็เหมือนสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา เหมือนกับฤดูต่างๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป องค์กรก็เหมือนกับชีวิตคนที่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ในทุกฤดู" วัชรมงคลกล่าว

ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ในฤดูที่พายุเศรษฐกิจกำลังกระหน่ำ ผู้บริหารองค์กรจะเลือกตอบโจทย์สั้นๆ หรือตอบโจทย์เผื่ออนาคต !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01081251&day=2008-12-08&sectionid=0221

ถึงเวลาให้...!! ในงาน "ทำดีเพื่อพ่อ"


ใน สังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ดูเสมือนไร้ทางออก "การให้" อาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง เพราะว่ากันว่า การให้ ไม่ได้อยู่เพียงการบริจาคทรัพย์สิน การอุทิศแรงกาย เพื่อการทำอะไรให้กับสังคมเท่านั้น

หากแต่ "การให้" ในความหมายของโครงการ "ทำดีเพื่อพ่อ ขอให้คนไทยรักกัน" ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2551 โดย มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหัวใจอาสา และองค์กรภาคี

หมายรวมตั้งแต่ การให้อภัย ให้โอกาส ให้รอยยิ้ม ให้เวลา ให้ความรู้สึกดีๆ ให้ความช่วยเหลือ ให้ความใกล้ชิด ให้ความจริงใจ ให้ความซื่อสัตย์ และให้ความรัก ระหว่างกันของคนในสังคม

และเชื่อว่า หากคนไทยรู้จักให้ ย่อมเป็นที่มาถึงการยุติความรุนแรงและสารพัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม

การให้ดังกล่าวยังเป็นเสมือน "ของขวัญให้พ่อ" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลัง จากเปิดตัวโครงการจนถึงวันนี้ ไปรษณียบัตรแห่ง "การให้" ที่เปิดโอกาสให้บุคคลส่งต่อความรักและการให้อภัยจำนวนมากที่หลั่งไหลมายัง โครงการ กำลังถูกนำมาร้อยเรียงเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ขนาด 5.6x4.8 เมตร ในสไตล์ภาพ ปะติด ซึ่งจะจัดแสดงในระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในไฮไลต์ของงาน "มหกรรมการให้และการแบ่งปันความสุข" ครั้งใหญ่ที่สุดในไทย

งานนี้ยัง มีโอกาสชมนิทรรศการเฉลิม พระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังสามารถร่วมให้และแบ่งปันความสุขสู่ ผู้ขาดโอกาสในสังคมผ่านมูลนิธิต่างๆ อาทิ สภากาชาดไทย มูลนิธิจิตอาสา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ศูนย์ดวงตาและอวัยวะสภากาชาดไทย มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 19 องค์กร มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิบ้าน สงเคราะห์สัตว์พิการ ฯลฯ และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจคับคั่ง ตลอดทั้ง 3 วัน โดยสามารถร่วมฟังธรรมจากพระอาจารย์มานพ อุปสโม จากศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เขาดินหนองแสง จ.จันทบุรี และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 เวลา 19.30 น.

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

แรงลม สร้างแรงใจ



" เคียวเซ" (Kyosei) เป็นปรัชญาที่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกอย่าง "แคนนอน" ยึดถือในการดำเนินธุรกิจ ที่หมายถึงการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์โลกและความสุขของมวลมนุษย์ ซึ่ง แคนนอนกรุ๊ปที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ปรัชญาดังกล่าวที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ในปีนี้ภารกิจ "แก้ไขภาวะโลกร้อนของแคนนอน" ถูกนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเริ่มต้นปฏิบัติการไปก่อนหน้านี้ ที่สำนักงานใหญ่ของแคนนอนที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่การประหยัดพลังงาน การลดสารพิษในการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการลดของเสียและพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า การประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ

ในประเทศไทย โอกาสที่ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด จะครบรอบ 15 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญา "เคียวเซ" จึงจัดโครงการ "พลังงานสีขาว เพื่อโลกสีเขียว" ช่วยติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่พัฒนาโดยนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้แก่โรงเรียนชนบท 15 แห่งทั่วประเทศ พร้อมนำ พนักงานมาช่วยกันปรับปรุงโรงเรียนและนำอุปกรณ์จำเป็นมาให้ เพื่อให้เยาวชนจะได้เข้าใจเรื่องพลังงานสะอาด พร้อมรณรงค์ให้คนไทยได้ตระหนักและหันมาใช้พลังงานทางเลือกซึ่งเป็นภูมิปัญญา ท้องถิ่นไทย มากขึ้น และยังช่วยสนับสนุนผลงานของ นักวิจัยไทย

วาตา รุ นิชิโอกะ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า พลังงานเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานและเป็นตัวก่อปัญหา การผลิตกระแสไฟทำให้มีการใช้ฟอสซิลอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แคนนอนเลือกทำพลังงานลมเพราะเป็นพลังงานสะอาด นับเป็นโชคดีของคนไทยที่สร้างกังหันลมได้ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง และสามารถนำมาใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในแง่ของสิ่งแวดล้อมก็สามารถลดภาวะโลกร้อนได้

"พลังงานลมเป็น พลังงานสะอาดที่คนไทยมีการนำมาใช้กว่า 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือวิดน้ำเข้า นาเกลือ โครงการนี้จึงเป็นการสนับสนุนเพื่อคืนกลับสู่ภูมิปัญญาของไทยอีกครั้ง แคนนอนจึงได้นำกังหันลมผลิตไฟฟ้า 15 โรงเรียนทั่วประเทศ ให้นักเรียนได้ศึกษาพลังงานทดแทน และเป็นกรณีศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนของท้องถิ่น โดยเริ่มที่โรงเรียนบ้านหนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแห่งแรกที่คัดเลือกจากความเหมาะสมของลักษณะทางภูมิศาสตร์" วาตารุกล่าว

ด้าน เทคนิค สมเกียรติ พาพล ผู้อำนวยการ Corporate Affairs Division เล่าถึงกระบวนการทำงานของกังหันลมว่า การที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้นั้น กังหันจะต้องหมุนด้วยความเร็ว 2.5 เมตร/วินาที ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ จากนั้นจะสะสมกระแสไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่และส่งต่อไปที่เครื่องแปรกระแสไฟฟ้า จากกระแสตรงเป็นกระแสสลับเพื่อจ่ายไฟฟ้าแก่หลอดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต่อไป

"ถ้าเทียบระหว่างพลังงานลมกับโซลาร์ (แสงอาทิตย์) บางคนอาจคิดว่าประเทศไทยแดดแรง แต่ที่จริงแล้วแดดที่มีอยู่ใช้ได้แค่ 5-6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แต่ลมสามารถรับได้ 15-20 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ตัวแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ยังดูแลลำบาก ค่าบำรุงรักษาก็แพงกว่าลม ถึงทุนเริ่มต้นของกังหันลมจะแพงกว่า แต่ค่าใช้จ่ายการดูแลก็น้อยมาก และสามารถใช้ได้นานถึง 10-15 ปี จากนี้จะให้โรงเรียนเป็นผู้ดูแลต่อโดยเราจะเข้ามาแนะนำสนับสนุนเพิ่มเติม"

แม้ ว่ากังหันลมตัวหนึ่งต้องใช้งบประมาณถึงตัวละ 6 แสนกว่าบาท แต่ก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าตามความต้องการของแคนนอนที่อยากเห็นโครงการ ระยะยาวที่มีความยั่งยืน หลังจากใช้พลังงานลมจากกังหันขนาด 1 กิโลวัตต์ โรงเรียนบ้านหนองพลับสามารถลดค่ากระแสไฟฟ้าได้เดือนละ 480 บาท (จากการประเมินค่ากระแสไฟฟ้าที่ยูนิตละ 4 บาท) หรือปีละถึง 5,760 บาท โดยภายในปีนี้แคนนอนจะติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้แก่โรงเรียน 3 แห่งในภาคกลาง คือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 จังหวัดสมุทรสงคราม โรงเรียนเทศบาล 8 สวนสนชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนบ้านหนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในปี 2552 อีก 12 โรงเรียน ซึ่งอยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูล

นอกจากการใช้พลังงานลมเพื่อเป็น พลังงานทดแทน แคนนอนได้ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม โดยทุกผลิตภัณฑ์ยึดหลัก EQCD ที่หมายถึงการไม่ผลิตสินค้าที่เป็นอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผลิตและจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เหมาะสมหรือมีการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง มาใช้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไร้สารพิษ ปลอดภัยต่อทุกชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้สมกับหลักของ "เคียวเซ"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

ผ่ามุมคิด "บรรยง พงษ์พานิช"

ผ่ามุมคิด "บรรยง พงษ์พานิช" CSR ฉบับทุนนิยม "เราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเ_ ี้ย"

แม้ ใครหลายคนในสังคมโลกจะ วิพากษ์การเกิดขึ้นของนานาวิกฤตในปัจจุบัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่าเกิดขึ้นจากการเดินทางตามเส้นทาง "ทุนนิยม" แบบสุดขั้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของแนวคิดที่เป็นกระแสหลักใน วันนี้

แต่สำหรับ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารในธุรกิจที่เขาเองก็ยอมรับว่าเป็นกลไกทุนนิยมแบบเต็มตัวนั้น กลับมองว่านี่ไม่ใช่อวสานของทุนนิยม

"อุดมการณ์ของทุนนิยมที่ดีก็มี เราต้องแยกให้ออก แต่สิ่งที่เราเจอคือคนเอาอุดมการณ์อันนี้มาบิดเบือน ทำให้เห็นแต่ภาพที่ชั่วร้ายของมัน แต่เราไปเหมารวมเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกก็เป็นกระบวนการที่จะแก้ไขปรับปรุงความหลงผิดและทุน นิยมจะเดินต่อ"

หนึ่งในกระบวนการของการแก้ไขความผิดพลาดที่ว่านั้น คือ แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

แม้ จะออกตัวว่าไม่เคยอ่านทฤษฎีและตำรา CSR ของทั้ง ฟิลิป คอตเลอร์ และไมเคิล อี. พอตเตอร์ มาก่อน แต่มุมมองที่มีต่อ CSR ของเขาน่าสนใจยิ่ง

"ผมมาจากธุรกิจที่ทำเพื่อกำไร อยากจะแปลซีเอสอาร์ตรงตัวมากกว่า คือการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม"

" ผมทำทุกอย่างเพื่อกำไร สาบานได้ ไม่โกหกตอแหล แต่ผมมั่นใจว่าผมจะทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม และคติที่ผมใช้ที่บริษัทและใช้งานได้ดีคือ พวกเราจะอ้วนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องเ_ ี้ย"

"ความรับผิดชอบจึงต้องเริ่มจากการทำธุรกิจ แต่ให้แน่ใจว่าวิถีที่เราทำไม่เป็นภัยต่อสังคม และจะดีกว่านั้นถ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม"

" ไม่จำเป็นว่าคนหากำไรต้องชั่วร้ายเสมอไป จริงๆ แล้วกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ถ้ามองให้ดีองค์ประกอบโดยรวมของมันเป็นการหากำไรเข้าตนเอง แต่ถ้าทำตามกฎกติกามารยาทที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อันนี้คือแก่นของการทำ CSR"

"ผมประกอบธุรกิจหลักๆ เกี่ยวกับเงินทอง บางคนบอกว่าเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว เอาแต่ประโยชน์ เกิดวิกฤตก็ไม่รับผลกระทบอะไร อย่างการเล่นหุ้นในตลาด หลักทรัพย์ฯ คนก็บอกว่าเป็นเรื่องของคนรวย ไม่เห็นทำประโยชน์ให้กับใคร ไม่รู้จักแบ่งปัน แต่ถ้าดูจริงๆ จะเห็นว่าตลาดทุนมันมีหน้าที่ ทุนคือการรวบรวม จัดสรร ทรัพยากรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้งานทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ฉะนั้นตลาดทุนที่ดีก็จะทำให้ประเทศเกิดประโยชน์ มีทรัพยากรมาลงทุนได้ จัดสรรทรัพยากรให้กับคนที่มีคุณภาพมาใช้ เมื่อมีการลงทุนก็เกิดการว่าจ้างแรงงาน มีการแข่งขันของผู้บริโภคมีประโยชน์ต่อคนทั่วไป ไม่มีการโกงยักยอกโกหก นั่นคือตลาดทุน ถามว่าตลาดทุนไทยดีอย่างนั้นหรือยัง ยัง แต่ก็ส่วนที่ดีอยู่ไม่น้อย ฉะนั้นเวลาผมทำธุรกิจ ผมเลือกทำธุรกิจในส่วนที่คิดว่าดี"

"ผมทำธุรกิจให้บริการสถาบัน ให้กับองค์กรใหญ่ๆ ลูกค้าธรรมดาของผมต้องมีเงินเกิน 50 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นกับลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี หรือรายย่อย แต่อันนี้อยู่ในวิสัยที่เราทำได้และถนัด ส่วนอื่นๆ ก็ให้คนอื่นทำ ผมไม่มีกำลังที่จะทำได้ทุกอย่างหรือเปลี่ยนโลกได้ แต่นำเงินของคนที่มี 50 ล้านบาทที่นั่งทับอยู่ไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือหน้าที่"

ส่วนพระรองของ CSR คือ การคืนกำไรให้สังคม

" มีการถกเถียงว่าองค์กรควรบริจาคหรือไม่ ทฤษฎีที่ขวาสุดบอกว่าไม่ควร เพราะคุณมีหน้าที่ทำตามความถนัดและความสามารถของคุณ ได้เท่าไหร่ก็จ่าย ผู้ถือหุ้นไปทำเอง ทำไมต้องทำเพราะความถนัดคุณไม่ใช่การบริจาค ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อชื่อเสียงแต่เป็นเงินบริษัท ทฤษฎีนี้ก็มีเหตุผล อย่างมูลนิธิบิลล์ แอนด์เมลินดา เกตส์ ไม่มีเงินจากไมโครซอฟท์เลย คอนเซ็ปต์นี้ก็คือใครถนัดอะไร ทำอย่างนั้น"

"ทฤษฎีที่สอง บอกว่าการบริจาคองค์กรให้สังคมมีเหตุผล 2 ข้อ เหตุผลที่ 1 การที่เรารวบรวมเงินไปทำมันเห็นผลมากกว่าผู้ถือหุ้นต่างคนต่างทำ อย่างที่ 2 ทำแล้วหักภาษีได้ เพราะส่วนที่ให้รัฐบาลถ้าไม่ไปบริจาค เราก็ต้องให้กับรัฐบาล ให้ไปแล้วก็โกง เราก็รู้อยู่ เราบริจาคให้กับเอ็นจีโอไปเลย เพราะเขาไม่โกง โดย 2 เหตุผลนี้ก็ควรบริจาคเท่าที่รัฐบาลยอมให้เราหักภาษี"

"ทฤษฎีที่ 3 บอกว่าการบริจาคไม่ใช่เพื่อสังคมอย่างเดียว แต่เพื่อตัวเราเองด้วย แต่ต้องระวังแยกให้ออกระหว่างชื่อเสียงของคนกับชื่อเสียงของแบรนด์ ผมเคยต้องนั่งเถียงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทกลั่นน้ำมัน แห่งหนึ่งที่เอาเงินทั้งหมดไปให้กับสังคม ซึ่งมากเกินไป แทนที่จะเอาเงินไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น คุณทำเพื่อตัวคุณ เพื่อวิถีทางการเมืองหรือเปล่า" บรรยงตั้งคำถามและยกตัวอย่างสิ่งที่เขาทำว่า

"ที่บริษัทผมแต่ละปี เราบริจาคใช้ในโครงการเพื่อสังคมปีละ 10 ล้านบาท และ ปีใดที่มีกำไรมากก็จะเพิ่มเป็น 20-30 ล้านบาท ผมทำงานกับผู้ถือหุ้นจะเอาเงินมาใช้มากไม่ได้ ต้องมีเหตุผล เอาฐานมาจากไหนไม่รู้ แค่เห็นว่าเหมาะสม แต่เราจะทำโดยไม่มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ ให้การศึกษา ช่วยเด็กชายของ พาเด็กโรงเรียน ต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ พามาดูวัด พระแก้ว พระบรมมหาราชวัง มิวเซียมสยาม เราช่วยคนพิการออกไปตั้งห้องสมุดทั้งหมด 20 กว่าแห่ง และมีการตั้ง แชริตี้คอมมิตตี (charity committee) ขึ้นมา มีพนักงานเป็นประธาน มีหน้าที่บริหารงบฯ 10 ล้านบาทต่อปี มีการวัดผล ข้อดีก็คือพนักงานได้มีส่วนร่วม"

"ในโลกความจริงไม่มีอะไรที่ชั่ว หรือดีสุดโต่ง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ก็ไม่ได้ทำร้ายสังคม" เขากล่าวในที่สุด และนี่เป็นบางบทตอนของคำตอบที่ในฐานะของคนที่ยังเชื่อมั่นในทุนนิยมกระแส หลัก ต่อคำถามที่ว่า CSR จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร !!

ส่วนหนึ่งจาก งานเสวนาใน หัวข้อ Beyond CSR towards Sustainability "บริจาค...กิจกรรมเพื่อสังคม CSR : เครื่องมือพัฒนาที่ยั่งยืน ฤๅไฉน" ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายเดอะเน็ตเวิร์กเมื่อไม่นานมานี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

เทศกาลแห่งการให้

ไฮน์ซ ลันดาว ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ เมอร์ค ประเทศไทย วันนี้ ผมมีตัวอย่างเรื่องราวการทำเพื่อสังคมที่ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานหรือผู้ จัดการก็สามารถทำได้ง่ายๆ เป็นเวลา 3 ปีมาแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เรามีการตั้งต้นคริสต์มาสขึ้น ณ บริเวณหน้าออฟฟิศของเมอร์ค ประเทศไทย พนักงานกลุ่มหนึ่งจะรวมตัวกันเป็นทีมและเสาะหากลุ่มเด็กๆ ด้อยโอกาสที่เราต้องการส่งมอบความสุขให้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และในปีนี้เด็กๆ ที่จะได้รับโอกาสนี้คือเด็กๆ จากโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล ใน จ.เพชรบุรี โดยในปีแรกของกิจกรรมนี้เป็นเด็กๆ จากบ้านเด็กอ่อนรังสิต จ.ปทุมธานี ปีที่สองเป็นเด็กๆ จากโรงเรียนอนุบาลดวงประทีป ในชุมชนคลองเตย

หลัง จากที่เราพบกลุ่มเด็กๆ เป้าหมายแล้ว ทีมพนักงานของเราจะติดต่อกับผู้ดูแลเด็กๆ เหล่านั้นเพื่อขอรับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเด็ก และความต้องการของเด็กๆ แต่ละคน (โดยเราได้ระบุมูลค่าของของขวัญแต่ละชิ้นไว้ที่ 500-1,000 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ จะอยากได้ตุ๊กตา รถ ของเล่น หุ่นยนต์ กระเป๋าเป้ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับเพศและอายุของเด็กๆ แต่ละคน

จากนั้นทีมพนักงานของเราจะนำ การ์ดที่มีชื่อและรายการของขวัญที่เด็กๆ ฝันอยากจะได้ไปแขวนไว้ที่ต้นคริสต์มาสในบริเวณออฟฟิศของเมอร์ค ประเทศไทย เนื่องจากเรามีพนักงานเกือบ 200 คน เราจึงมีการ์ดของเด็กๆ กว่า 200 ใบแขวนไว้ที่ต้นคริสต์มาส โดยพนักงานของเราสามารถเลือกการ์ดของเด็กๆ และไปหาของขวัญที่ตรงกับความต้องการของเด็กๆ และส่งมอบให้ทีมงานก่อนวันคริสต์มาสด้วยความสมัครใจ และเมื่อถึงวันคริสต์มาส บริษัทจะเปิดโอกาสให้พนักงานอาสาสมัครเป็นตัวแทนเดินทางไปมอบของขวัญให้กับ เด็กๆ และร่วมเล่นกิจกรรมด้วยตนเอง (ปีนี้คือโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล จ.เพชรบุรี) โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีพนักงาน 10 ถึง 20 คนไปเข้าร่วมกิจกรรม และจะมีพนักงานบางส่วนแต่งกายในชุดซานตาคลอส และนางฟ้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ

เมื่อเด็กๆ ได้รับของขวัญจากพนักงานของเรา คุณคงจินตนาการได้ถึงประกายความสดใสในดวงตาของเด็กๆ เหล่านี้ และแน่นอนที่สุดคือความสุขใจที่เกิดขึ้นกับ พนักงานของเรา เมื่อพวกเขาได้มีโอกาสมอบความสุขให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสเหล่านี้

เรียก ได้ว่ากิจกรรมนี้ใช้งบประมาณ เพียงเล็กน้อยจากบริษัทเท่านั้น เช่น ต้นคริสต์มาส การขนส่งของขวัญ การเดินทางของพนักงาน อาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กๆ และพนักงานของเราก็ดีใจและพร้อมที่จะซื้อของขวัญให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้จากการที่การ์ดบนต้นคริสต์มาสหมดไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอัน สั้น

ท้ายที่สุดแล้ว ต้นคริสต์มาสที่ตั้งอยู่ในออฟฟิศเป็นเวลากว่า 1 เดือนก็เป็นสิ่งเตือนใจให้กับชีวิตของเราว่า การช่วยเหลือกันและกันคือสิ่งสำคัญที่สุดนั่นเอง

หากท่านต้องการ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว กรุณาติดต่อคุณสุวรรณา สมใจวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม เมอร์ค ประเทศไทย ได้ที่โทร. 0-2667-8214

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

การกลับมาของ CSR Awards 2008

การกลับมาของ CSR Awards 2008 กระจกสะท้อน CSR ไทย


แม้ การมอบรางวัลบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้าน CSR หรือ Corporate Social Responsibility Awards 2008 หนึ่งในรางวัล SET Awards 2008 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อยกย่องบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ จะประกาศผลไปแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ถือเป็นการ กลับมาอีกครั้งของการมอบรางวัลซึ่งว่างเว้นไป 1 ปี และถือเป็นครั้งที่ 2 ของการมอบรางวัล CSR Awards หลังจากที่รางวัลนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกใน ปี 2549 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยกย่องบริษัทที่มีความโดดเด่นในการดำเนินการด้าน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรอื่น

แม้เมื่อเห็นชื่อ 3 องค์กรที่สามารถคว้ารางวัลในปีนี้ ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) แล้วจะไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะไม่เพียงเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มาอย่างต่อเนื่อง และทั้ง 3 องค์กรล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่คว้ารางวัลนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2549

หากแต่เมื่อลงลึกถึงเกณฑ์การตัดสินและมองภาพรวมขององค์กรที่ส่ง เข้าชิงรางวัลในปีนี้ กลับมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ ที่น่าสนใจเพราะครั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญเฉพาะกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ กิจกรรม CSR ภายนอกที่บริษัทช่วยเหลือสังคม ในเวลาเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบภายใน กระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR in process) ควบคู่ไปด้วย เช่น การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ คุณภาพสังคมภายในองค์กร ฯลฯ

และหากวัดในเชิงปริมาณ จากแบบสอบถามเกณฑ์ในการคัดกรองเบื้องต้น ในปีนี้มีถึง 37 ข้อเมื่อเทียบกับเกณท์เดิมใน ครั้งแรกที่มีเพียง 19 ข้อ เช่น เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องธรรมาภิบาล การมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฯลฯ

"เกณฑ์ในการ ตัดสินให้รางวัล CSR Awards ในปีนี้นั้นได้ปรับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการพิจารณาในเชิงคุณภาพโดยใช้กรอบแนวทางของแนวปฏิบัติด้าน CSR หรือเข็มทิศธุรกิจเป็นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีคณะกรรมการที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่อง CSR เวลาตัดสินเราไม่ได้ดูเฉพาะสิ่งที่บริษัทเขียนส่งมา แต่มีเกณฑ์ในการคัดกรองอย่างละเอียดและเราเชื่อว่าเป็นเกณฑ์ที่ไม่สามารถมี ใครโต้แย้งได้" นงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินในปีนี้



โดย ขั้นตอนในการตัดสิน มีตั้งแต่การจัดส่งแบบสำรวจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจให้แก่บริษัท จดทะเบียนทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า online survey ก่อนที่บริษัทจะตอบแบบสอบถาม และได้รับการคัดเลือกและมีทีมงานเข้าไปเก็บข้อมูลยังองค์กร และเข้าสู่กระบวนการตัดสินของคณะกรรมการ

สำคัญที่ความต่อเนื่อง

ทำ ให้เมื่อมองถึงทั้ง 3 องค์กรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จะเห็นกระบวนการการดำเนินความรับผิดชอบทั้ง ภายในกระบวน การดำเนินธุรกิจและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น CSR ของปูนซิเมนต์ไทย ที่มีการแปลงส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นความ ร่วมมือ โดยใส่ใจในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ทั้งกายภาพ ชีวภาพและคุณภาพชีวิต และสังคมโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่กิจกรรมเพื่อสังคมกับชุมชนที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำให้ครบ 10,000 ฝายภายในปี 2552 ทั้งยังสร้างกระบวนการเรียนรู้และการแก้ปัญหาชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอ เพียง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชุมชน

ขณะที่ "บางจาก" มีกระบวนการดำเนินความรับผิดชอบภายในที่ปลูกฝัง ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงพนักงาน โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบในกระบวนการดำเนินธุรกิจภายในองค์กร ในทุกภาคของการดำเนินงานและการตลาด และมีการสำรวจข้อมูลความต้องการจากชุมชนรอบบริษัทสม่ำเสมอ เพื่อนำไปประกอบแผนในการทำกิจกรรมสังคมในชุมชน เช่น การส่งเสริมให้องค์กรชุมชนมีสถานีบริการน้ำมันเป็นของตัวเอง ทั้งยังสนับสนุน พนักงาน เช่น การให้พนักงานอาสาสมัครใช้เวลาก่อนเลิกงาน 1 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 4 วันสอนการบ้านเด็กในชุมชน ที่สำคัญทุกโครงการมีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน

สำหรับ "ปตท." ที่นอกจากคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม ยังโดดเด่นในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีการวิเคราะห์ ตรวจสอบเพื่อเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง และมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็น ทั้งยังมีโครงการพัฒนาชุมชนจำนวนมากที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ก้าวสู่ยุคนวัตกรรม CSR

" สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ดูเพียงแต่ว่าเขาทำอะไร แต่ดูว่าส่งผลถึงอะไรด้วย ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับการมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัท และให้น้ำหนักกับการทำงานที่ต่อเนื่องรวมไปถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการ ดำเนินการ CSR และจะเห็นว่าบริษัทที่ได้รางวัลนั้นโดดเด่นในเรื่องนี้" นงรามกล่าว

และยกตัวอย่างถึง "นวัตกรรม" ที่เกิดจากการดำเนินการ CSR ว่า อย่าง ปตท.มีการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่อง นี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยของ ปตท.ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ทางด้านพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม โครงการน้ำมันพืชใช้แล้วของบางจาก ซึ่งนำมาผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล หรือการสร้างมาตรฐานในการทำโรงเรียนสอนขับรถบรรทุกของปูนซิเมนต์ไทย ที่พัฒนาจากจุดกิจกรรมภายในองค์กรและขยายผลสู่สังคมภายนอก

"วัฒนา โอภานนท์อมตะ" รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทาง CSR ของบางจาก จากนี้คือการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมเพื่อสังคม (social innovation) โดยพยายามจะสร้างเครือข่ายรวมกับองค์กรขนาดใหญ่ด้วยกัน และมองว่าจะเข้าไปมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างไร

" เราเชื่อว่าจะทำได้ต้องใช้ความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ก่อน เพราะองค์กรขนาดเล็กจะมีภูมิต้านทานน้อยกว่า เมื่อเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบอะไร ซึ่งวันนี้คงไม่ต้องถามแล้วว่าองค์กรจะได้อะไร แต่คงต้องถามว่าโลกและประเทศจะได้อะไรมากกว่า นี่คือทิศทางที่เราจะเดินหน้านับจากนี้" วัฒนากล่าว

ตลท.หนุนองค์กรทำ CSR report

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ดังนั้นแล้วองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นหรือถึงได้ขึ้นชื่อว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม

ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน CSR Awards 2008 กล่าวว่า "คนอาจจะมองว่าการที่บริษัทใหญ่ทำกิจกรรม CSR มากเป็นเพราะสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก จะเรียกว่าบริษัทมีความรับผิดชอบหรือไม่ แต่ผมมองว่าทุกองค์กรไม่ว่าจะองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็สร้างผลกระทบต่อ สังคมเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่บริษัทยิ่งใหญ่ก็ยิ่งต้องยิ่งมีความรับ ผิดชอบมาก ซึ่งผลกระทบถือเป็นหลักสำคัญในการทำ CSR ที่องค์กรธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยง"

นอกจากนี้ หากมองถึงข้อมูลจากองค์กรทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการจะเห็นชัดเจนว่า ทิศทางขององค์กรที่มีต่อ CSR เปลี่ยนไป ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า "เราจะไม่เห็นโครงการที่เป็นอีเวนต์ แต่เป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องรวมไปถึงเราจะเห็นทิศทางว่า องค์กรเริ่มตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการไปสู่ความยั่งยืนของทั้งองค์กรและสังคม"

อย่าง ไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า "เราคงไม่สามารถวัดได้ว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลมีความรับผิดชอบมากกว่า องค์กรที่ไม่ได้รับรางวัล แต่ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องของความพร้อมในการเตรียมข้อมูล ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีทรัพยากรในการเตรียมข้อมูลมากกว่า ในอนาคตหากมีการส่งเสริมในเรื่องการจัดทำรายงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน CSR report หรือ SD report เชื่อว่าจะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับองค์กรในการจัดทำข้อมูลที่ดีขึ้น"

เรื่อง นี้ "นงราม" กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการปรับปรุงเกณฑ์ต่อไป โดยพยายามที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมี CSR report เพราะบางทีการกรอกแบบฟอร์มเป็นเหมือนการแต่งตัว แต่หากในอนาคตบริษัทมีการจัดทำรายงานมากขึ้น คณะกรรมการสามารถหยิบข้อมูลตรงนั้นมาใช้ ขณะเดียวกันยังเป็นผลดีในการสื่อสารกับนักลงทุนด้วย เพราะปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ยิ่งวิกฤต นักลงทุนต้องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงในระยะยาว

การมอบ รางวัลครั้งนี้จึงไม่เพียงภาพสวยหรูที่อยู่เบื้องหน้า หากแต่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนอีก CSR ในไทย ที่ยังคงต้องพัฒนาต่อไปนับจากนี้ !!


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธันวาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01011251&day=2008-12-01&sectionid=0221

ความเข้าใจ (ใหม่) ใน CSR

อนันตชัย ยูรประถม มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ผมได้อ่านหนังสือทุนนิยม ที่มีหัวใจ ของ คุณสฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก อยากให้บุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจจะปฏิบัติตัวด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและ ยังคงทำกำไรสูงสุด หรือง่ายๆ ว่า อยากอยู่ในโลกนี้ด้วยการแสวงหากำไรบนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและผู้คนใน สังคม

ประเด็นที่สำคัญซึ่งผมเองก็ไปพบประสบเจอก็คือ เรามั่นใจกันแล้วหรือว่า เราเข้าใจกันในความหมายของคำว่า CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท สิ่งที่เรากำลังแสวงหาและทำกันอยู่นั่นใช่จริงหรือไม่ แม้ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ภายในบ้านเมืองของเราได้มีการพัฒนากันไปมาก ทั้งการสัมมนา อบรมกันมากมายก่ายกอง แต่ดูเหมือนความรับผิดชอบต่อสังคมยังคงมุ่งแสวงหาพื้นที่ของการบริจาค ประเด็นทางสังคมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ ยังไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ หรือซ้ำกันกับที่องค์กรได้ทำไปเมื่อปีที่แล้ว ไม่แปลกที่โจทย์ของบริษัทหลายแห่งที่ได้พบเจอมาก็คือ ช่วยคิดโครงการที่ใหม่ๆ ให้หน่อย ช่วยคิดโครงการที่จ๊าบๆ ทำแล้วน่าจะได้รางวัลลูกกลิ้ง (roll-on) ทองคำ เพราะจะได้ปิดรักแร้ หรือกลิ่นเหม็นของตัวเอง ถ้ามองว่านี่เป็นความผิดพลาดหรือความน่ารังเกียจของบริษัทหรือเปล่า ผมกลับมองว่า "ไม่ใช่" มันเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่องค์กรเหล่านี้เริ่มมองหาสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เราเอาอะไรใส่ลงไปให้กับพวกเค้า

"เรา" ในที่นี้คือใครบ้าง คนที่ให้ความรู้กับองค์กรเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน กำหนดกฎเกณฑ์ กฎระเบียบหรือรางวัลต่างๆ องค์กรที่มีความรู้ ทักษะ หรือแนวปฏิบัติที่หลุดพ้นจากวังวนเหล่านี้ ถ้าบริษัทบอกว่า ตนเองเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างดียิ่งด้วยโครงการที่น่า ตื่นตาตื่นใจ ลงทุนไปหลายสิบหลายร้อยล้าน โฆษณาว่าตนเองได้สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้ เกี่ยวข้อง หรือไปลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติทางธุรกิจของตนเองเลยซักกระผีก แล้วก็ได้รับรางวัลลูกกลิ้งทองคำดีเด่นจากสถาบันอะไรซักแห่งหนึ่ง ว่าเป็นบริษัทดีเด่นด้าน CSR ปัญหาคือใครเป็นคนบิดเบือนความเชื่อ เหล่านี้ให้เกิดขึ้น ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้รับการยกย่องชมเชยก็ย่อมจะยินดี และยึดถือว่านี่คือแนวปฏิบัติที่ถูกที่ควร เพราะได้รับการยอมรับจากสังคมที่เราอยู่

เช่นเดียวกัน ถ้าโจทย์ของบริษัทยังคงวนเวียนอยู่กับ ทำซ้ำไม่ได้ จะมีอะไรเด่น ใครเป็นเจ้าของ โดยที่มองข้ามจุดกำเนิดเริ่มต้นที่แท้จริงก็คือ เราเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เรากำลังทำมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และเราควรจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ให้เรากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันต่อไปได้อย่างยาวนาน ไม่ใช่ทำแล้วรอดอยู่คนเดียว คนอื่นตายกันหมด ไอ้ที่ใส่ลงไปน่ะมันไม่เกี่ยว ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนกับเราเอาไม้ไล่ตี เหมือนรูปเปรียบเปรยตัวแทนของทุนนิยมที่เราเคยเห็น แล้วก็เดินกลับมาเอาขนมมาแจก ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นนอนหัวร้างข้างแตกเกลื่อนไปหมด แล้วก็บอกว่า "นี่ไง ฉันรับผิดชอบต่อพวกคุณแล้ว"

ฟังดูน่าดุเดือดดีนะครับ ไม่คิดว่าหลังจากที่ห่างหายบทความไปนาน กลับก็เปิดฉากด้วยความร้อนแรง แต่มันเป็นอย่างนี้กันหรือเปล่า พัฒนาการของ CSR ไปไกลมากกว่าแค่คำว่า "แพร่หลาย" แล้ว มากกว่า "กระแส" แต่แรงจนกลายเป็น "ระบบ" ดังที่คุณสฤณีกล่าวไว้ เคยมีคนถามผมเหมือนกันถึงความเชื่อเกี่ยวกับ CSR ซึ่งผมเองก็เชื่อว่า เราควรมองให้ลึกซึ้งมากกว่าการเป็นแค่กระแสแฟชั่นทางวิชาการที่เอามาสร้าง สีสันทางการตลาด แต่เป็นของจริงสำหรับการตลาด เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจให้มุ่งไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจ ในขณะที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดไปเรื่อยๆ

แม้ จะผ่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมยังคงยืนยันว่า เราคงต้องหมั่นพิจารณาตนเองว่า สิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับ CSR นั้นเป็นอย่างไร ยังดีอยู่หรือไม่ เรากำลังทำอะไรอยู่ เรามองเห็นแต่กิจกรรมที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ ประกอบสโลแกนคำพูดที่สวยเก๋ กับงานสื่อโฆษณาที่กินใจ ผมชอบคำพูดของ Kotler กับ Lee* ที่กล่าวไว้ว่า กิจกรรม CSR หรือ corporate social initiatives นั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตและความลึกซึ้งในความรับผิดชอบต่อ สังคมที่เป็นพันธสัญญาของบริษัทที่มีต่อสังคม ดังนั้นถ้ากิจกรรมที่เราทำหรือได้รับการตัดสินว่าดีเลิศนั้น ตอบไม่ได้หรือไร้ซึ่งการเชื่อมโยงกับผลกระทบและประโยชน์ที่แท้จริงของสังคม ไม่ต้อง วุ่นวายไปนะครับ ก็แค่ย้อนกลับมาพิจารณาความเข้าใจใหม่ ของ "เรา" ก็เท่านั้นเอง

หนังสือแนะนำ

ทุนนิยมที่มีหัวใจ : ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา, สฤณี อาชวานันทกุล, Openbooks, 2551

อ้างอิง

*Philip Kotler & Nancy Lee, "Corporate Social Responsibility : Doing the Most Good for Your Company and Your Cuase", 2005

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04241151&day=2008-11-24&sectionid=0221

เบื้องหลัง..ลานเล่นบรีส

เบื้องหลัง..ลานเล่นบรีส "คนเล็ก หัวใจใหญ่"

หาก ภาพเบื้องหน้าที่ปรากฏในการส่งมอบ "ลานเล่นบรีส" โครงการเพื่อสังคมของยูนิลีเวอร์ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 คือ รอยยิ้มของเด็กๆ ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่วันนี้บริษัทได้จัดสร้างและทำการส่งมอบให้โรงเรียนไปแล้วกว่า 120 แห่ง เพื่อมุ่งส่งเสริมการเล่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการพัฒนาทั้ง ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของเด็ก และจะจัดสร้างและส่งมอบครบ 200 โรงเรียน ภายในปี 2552

ภาพเบื้องหลังรอยยิ้มเหล่านั้นที่น้อยคนอาจจะเคยได้ เห็น คือ พลังการทำงานของทีมงานอาสาสมัครของ "ยูนิลีเวอร์" จำนวนมากที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวน การ ตั้งแต่ค้นหา สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม ตรวจงาน กระทั่งส่งมอบลานเล่น

ในโครงการ นอกจากให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของของโรงเรียนและชุมชน โดยพิจารณามอบลานเล่นให้กับโรงเรียนที่เสนอขอโครงการเข้ามาที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะดูแลและพัฒนาลานเล่น และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว

ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน !!

" อาสาสมัครพนักงาน" ของ "ยูนิลีเวอร์" จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นทีมสำรวจพื้นที่ที่จะเข้าไปดูพื้นที่จริง และพิจารณาความเหมาะสมของโรงเรียน โดยอีกกลุ่มจะเป็นทีมตรวจสอบที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ในการตรวจเช็กหลังจากผู้รับเหมาเข้าไปติดตั้งเครื่องเล่น สอนการใช้เครื่องเล่นอย่างปลอดภัยให้กับเด็กๆ ก่อนจะส่งมอบ

แม้ว่าใน ช่วงปีแรกของโครงการจำนวนอาสาสมัครจะยังมีไม่มากนัก เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของงานอาสาสมัครพนักงานในแทบทุกองค์กร หากแต่จำนวนอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ย่อมเป็นเครื่องชี้วัดประการหนึ่งถึงการขยายวงของคลื่นความรับผิดชอบต่อ สังคมที่ถูกปลุกขึ้นในองค์กรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

"ในช่วงแรกๆ ยังมีอาสาสมัครไม่มากนัก แต่ก็เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ ตอนนี้ในแผนกที่เราอยู่ก็มีทีมอาสาสมัคร 6-7 ทีม ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็สนใจจากการบอกเล่าประสบการณ์ที่เราไปทำมา เราพยายามบอกให้คนอื่นเห็นว่าโครงการที่ไปทำนั้นดี และขยายขึ้นเรื่อยๆ" "ศุภมาศ พูนสยามพงษ์" ซูเปอร์ไวเซอร์แผนกส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อาหารและไอศกรีม หนึ่งในทีมอาสาสมัครรุ่นแรกของโครงการเล่าให้ฟัง

"ดี" ในมุมของเธอ นอกจากเป็นโอกาสในการให้กับคนอื่นแล้ว ยังได้เห็น ได้สัมผัสในสิ่งที่ไม่เคยสัมผัส "อย่างภาคอีสานที่เราไม่เคยอยากไปเพราะคิดว่าลำบาก และคิดถึงคนที่นั่นไว้อีกแบบหนึ่ง แต่พอมีโอกาสไปลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เห็นเลยว่าสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เห็นแตกต่างกัน ชาวบ้านมีน้ำใจมาก"

ดัง นั้นหากจะวัดความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของพนักงานในโครงการนี้ จำนวน "อาสาสมัคร" ที่เพิ่มขึ้นจาก 300 คนในปี 2549 มาเป็น 400 คน ในปี 2550 และ 700 คนในปัจจุบัน จึงอาจเป็นเพียงมุมหนึ่งที่ปรากฏให้เห็น หากนัยสำคัญที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เสน่ห์ของงานอาสาสมัคร

อย่าง ที่ "กิติพงษ์ โสมทัตต์คิดการดี" ผู้นำหน่วยการผลิตย่อย แผนกบรรจุผงซักฟอกบรีส กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ทำงานอาสามาอย่างต่อเนื่องว่า "เคยมีโอกาสไปเป็นทีมสำรวจโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ไปคุยกับเด็กๆ ชาวเขา เขาเดินมาเรียนวันละ 8 กิโลเมตร รองเท้าไม่มีใส่ รู้สึกดีที่เราจะให้โอกาสดีๆ กับเขา แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้อยากทำต่อไปเรื่อยๆ คือ รอยยิ้มของเด็กๆ"

งานอาสาสมัครยังหล่อหลอมวิธีคิดและทัศนคติในการใช้ชีวิต ที่ส่งผลไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

อย่างที่ "สุธีรา ชลนภากุล" ซูเปอร์ ไวเซอร์แผนกส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อาหารและไอศกรีม บอกว่า

" การมีส่วนร่วมในโครงการนี้เหมือนเป็นสิ่งที่เติมชีวิตเราเอง จากงานที่เราทำ เมื่อก่อนเราตื่นเช้ามาทำงานเย็นกลับบ้าน เหมือนว่าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใครเลยแม้กระทั่งตัวเอง แต่พอมาทำตรงนี้รู้สึกว่านอกจากจะสร้างประโยชนฺ์ให้คนอื่น เรายังได้รู้ว่าเราอยู่สบายกว่าคนอื่น ทำให้เปลี่ยนความคิด ปกติคิดถึงแต่ตัวเอง แต่พอไปเห็นชีวิตเด็กๆ และชาวบ้านในต่างจังหวัดที่เข้าไปช่วย ทำให้เริ่มถอยกลับมา และคิดว่าคนเราก็มีสิ่งที่เอื้อกันได้ แล้วก็จะมีความสุข นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง"

และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงาน

" พอทำงานเดิมที่คิดถึงแต่มุมของเราคนเดียว โดยไม่คิดถึงมุมของคนอื่นว่าทำไมเขาถึงทำให้เราไม่ได้ พอเรากลับมานั่งคิดถึงคนอื่นบ้าง ก็ได้ผล งานก็ไปได้ดีขึ้น และไปถึงปลายทางได้เหมือนกัน"

กับทีมงานบางครั้งแม้จะต้องทำงาน ประสานกับคนอื่นมาก รู้จักคนในองค์กรมาก แต่บางทีก็รู้จักเพียงภายนอกที่เห็น แต่การลงพื้นที่ไปต่างจังหวัดด้วยกันเพียง 2-3 วัน ทำให้ได้เรียนรู้ในอีกแง่มุมหนึ่งของเขา

นี่เป็นเพียงบางแง่มุมของการมีส่วนร่วมของพนักงาน และเป็นบทเรียนของโครงการเพื่อสังคมที่เป็นมากกว่า "การให้"

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03241151&day=2008-11-24&sectionid=0221

CSR ช่วยคุณได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ


ดร.พรชัย ศรีประไพ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาที่เริ่มจาก subprime mortgage crisis ในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปยังสถาบันการเงินและองค์กรใหญ่ๆ หลายองค์กร เช่น A.I.G, Merrill Lynch และ Lehman Brothers ในสหรัฐอเมริกา แล้วขยายมาสู่ยุโรปและเอเชียตามลำดับ

กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คาดกันว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกจะถล่มทลาย (economic meltdown) กันทีเดียว

เมื่อ มีปัญหาทางเศรษฐกิจบริษัทแทบทุกบริษัทก็จะใช้มาตรฐานหลัก มาตรฐานหนึ่ง เพื่อรองรับปัญหานี้ นั่นก็คือการตัดค่าใช้จ่าย และ/หรือการลดปริมาณการลงทุน หลายๆ บริษัทเริ่มตัดค่าใช้จ่ายไปรอบแรกแล้ว และอาจจะกำลังตัดรอบสอง-สามอีกต่อไป บริษัทที่มีโครงการ CSR (corporate social-responsibility) อยู่จะมองเห็นว่าค่าใช้จ่ายทางด้าน CSR น่าจะเป็นเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งที่จะต้องถูกตัดอย่างแน่นอน

ผู้ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้าน CSR หลายๆ ท่านออกมาให้ความเห็นว่า การตัดงบประมาณจาก CSR ดูเหมือนจะเหมาะสมและจำเป็น แต่ถ้าคิดให้ดีๆ แล้วโครงการ CSR ถ้าถูกบริหารอย่างเป็นระบบจะช่วยเป็นกาวยึดองค์กรให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้ม แข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเมื่อมีพายุทางเศรษฐกิจมากระหน่ำ กิจกรรม CSR ยิ่งจำเป็นสำหรับบริษัท

Dan Grey เขียนในบทความเรื่อง "Corporate Responsibility Matters" สรุปว่า

" ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้บริโภคต่อปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจ ผู้คนส่วนใหญ่คงจะใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ และการจับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่สินค้าหรือบริการที่จำเป็นและให้คุณ ค่ากับชีวิต และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ บริษัทที่มีความซื่อตรงต่อธุรกิจ และต่อลูกค้าก็จะได้รับรางวัลอย่างงามจากลูกค้า ที่เห็นคุณค่าของบริษัทเหล่านี้"

Eric Olsen รองประธานบริษัท "Business for Social Responsibility" ให้คำแนะนำว่าในยุคเศรษฐกิจตกต่ำบริษัทที่ทำ CSR อยู่แล้ว หรือบริษัทที่ยังไม่ได้ทำ CSR ควรจะวางกลยุทธ์ CSR ตามแนวทางดังต่อไปนี้

1. หาเป้าหมายหลักธุรกิจของตนให้พบ แล้วนำหลักการ CSR เข้าไปใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักทางธุรกิจ หลักการ CSR หลายๆ ประการจะช่วยระดมพลังพนักงานในองค์กร ให้เข้ามาช่วยลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เร่งร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ เมื่อพนักงานในองค์กรทุ่มเทและร่วมมือร่วมใจกัน การลดค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่เรื่องยากและเมื่อการลดบรรลุเป้าหมาย องค์กรก็ไม่จำเป็นต้องไปลดจำนวนพนักงาน ไม่จำเป็นต้อง lay-off พนักงาน

บริษัทใหญ่ๆ เช่น 3M และ Wal-Mart ใช้หลักการ CSR ที่นำมาซึ่งการลดค่าใช้จ่ายเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญ

2. กิจกรรม CSR บางอย่างสามารถมา สนับสนุนทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้แม้ในยามที่ธุรกิจตกต่ำ บริษัทที่มี CSR ใกล้ชิดกับสังคม ใกล้ชิดกับฐานลูกค้า จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านกิจกรรม CSR ได้ โดยการลงไปเอาใจใส่กับสังคมมากขึ้น ตอบสนองกับสังคมมากขึ้น สังคมก็จะตอบสนองกับบริษัทในสัดส่วนที่น่าพอใจ บริษัทใหญ่ๆ อย่างเช่น GE หรือ AT&T คัดเลือกกิจกรรม CSR บางกิจกรรมที่ลงไปทำกับชุมชนและสังคม ได้รับการตอบสนองทางธุรกิจเป็นอย่างดี

3.มองผลประโยชน์ระยะยาว การทำประโยชน์ให้กับสังคมและการสร้างธรรมา ภิบาลในองค์กรเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแบรนด์ และภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งผลตอบแทนทางด้านแบรนด์ และภาพลักษณ์นั้นอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่การลงทุนในกิจกรรม CSR ในช่วงที่องค์กรอื่นๆ หันเหความสนใจไปกับการอยู่รอดขององค์กรของคน ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรม CSR ทำกิจกรรมทางสังคมโดดเด่นขึ้นมา ในลักษณะนี้การทำ CSR คือ การลงทุนระยะยาวกับสังคม ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ถูกเวลาและผลที่รับน่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนนี้ บริษัท เช่น GE, Toyota, Novartis ได้รับคำชมเชยว่าพยายามใช้โอกาสนี้ เพื่องานพัฒนาของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับ CSR

4. ต้องมีมาตการการวัดผลกิจกรรม CSR ที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรม CSR ที่ทำลงไปนั้น

มี ประโยชน์ที่แท้จริงกับองค์กรและกับชุมชน การวัดผลที่ดีจะช่วยให้บริษัทสามารถตัดกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป และหันมาสนับสนุนกิจกรรมที่ได้ผลจริงๆ

5.CSR สร้างโอกาสให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานต่างๆ ขององค์กร ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การประสานงานอย่างแน่นแฟ้นภายในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญยิ่งหน่วยงานแต่ละ หน่วยต้องเป็นพันธมิตร (partnership) ซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง การประสานงานเหล่านี้แหละ คือปัจจัยที่ขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานขององค์กร โดยธรรมชาติของการทำงานเกี่ยวกับ CSR จะต้องการความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานอยู่แล้ว พลังจาก CSR จึงเป็นพลังที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างความกลมเกลียวในการทำงานของหน่วยงาน ได้

6.CSR ผลักดันให้เกิดผู้นำและเกิดพันธมิตรในจุดที่เราคาดไม่ถึง ตัวอย่าง เช่น ในบริษัทที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า คนที่ออกมาผลักดันเกี่ยวกับ CSR มากที่สุดกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย (sales) เพราะเขาต้องเผชิญกับเป้าการขายที่สูง และยากที่จะบรรลุถึงพนักงานขายเหล่านี้เริ่มมองเห็นว่ากิจกรรม CSR ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับชุมชน ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น เขาเริ่มเห็นแล้วว่าการทำกิจกรรม CSR ทำให้ธุรกิจของบริษัทแข็งแรงขึ้น ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น กิจกรรม CSR ที่กลุ่ม sales พวกนี้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำจะมุ่งไปในการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองกลับมาอย่างดี

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่ CSR สามารถเข้ามาช่วยองค์กรในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่

แทน ที่จะมอง CSR ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ควรจะตัดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ลองมองในมุมกลับแล้วนำ CSR เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจที่ตกต่ำอาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของคุณก็ได้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02241151&day=2008-11-24&sectionid=0221

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เคล็ดลับผูกใจพนักงานด้วย CSR

เคล็ดลับผูกใจพนักงานด้วย CSR ผ่าน 2 โมเดลความสำเร็จ PCS-AACP


จำนวน อัตราการลาออกของพนักงานที่ "พีซีเอส" บริษัทผู้ให้บริการดูแลอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไทย ที่มีพนักงานในความดูแลกว่า 25,000 คน ลดลง 1.02% หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อน ที่บริษัทเริ่มให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมใน กิจกรรมเพื่อสังคม

ผล สำรวจความผูกพันที่พนักงานที่ "เอเอซีพี" บริษัทประกันชีวิต มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 11% ในปีที่ผ่านมา หลังจาก 2 ปีก่อนหน้านี้ได้มีปรับปรุงแนวทางการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ องค์กร โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการให้พนักงานในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการดำเนิน กิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัท

แม้ "ไมเคิล วอล์ฟ" กรรมการ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด จะกล่าวว่า "เราอาจจะบอกไม่ได้ว่า CSR เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น แต่สำหรับเราก็เชื่อว่า CSR ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ทำ จากเดิมที่รู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่น่าภาคภูมิใจ"

ในธุรกิจที่พนักงาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ผู้ใช้แรงงานกว่า 90% ไม่ว่าจะในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม่บ้าน ฯลฯ ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอก แต่ CSR ในมิติของ "พีซีเอส" ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน กว่า 10 ปีที่บริษัทก่อตั้งกองทุนสวัสดิการพนักงาน การสร้างโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน การกำหนดค่าแรงที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ การให้ครอบครัวได้มามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่มีปลายทางอยู่ที่การสร้างความสุข

" วันนี้เราพบว่าเมื่อพนักงานมีความสุขมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของเขาก็ดีขึ้นด้วย การทำอย่างนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางเพราะกว่า 80% ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทมาจากการให้บริการ ฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องคนได้ ก็เท่ากับว่าเราแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้พร้อมกัน" วอล์ฟกล่าว

มัดใจพนักงาน ความยั่งยืนองค์กร

ใน งานวิจัยของ Gallop ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ความพึงพอใจของลูกค้าและการที่ลูกค้าจะอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้นมี ความสำคัญกับความพึงพอใจกับการทำงานของพนักงานบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากบริษัทต้องการที่จะเพิ่มระดับความพึงพอใจให้กับลูกค้า ก็ต้องหันมามองการสร้างความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานยังส่งผลต่อความสามารถและการทำ กำไรของบริษัทในระยะยาว

"วันนี้ในไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเริ่มต้น ในการพัฒนาจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกเพียงอย่างเดียวมาสู่การให้ พนักงานมีส่วนร่วม ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็น ส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่าง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (steakholders collaboration) และวิธีการนี้จะทำให้การ ขับเคลื่อน CSR ในองค์กรยั่งยืนกว่า" อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SBDI) ผู้เชี่ยวชาญ CSR อธิบาย

การเชื่อมโยง CSR กับ HR จึงไม่เพียงเป็นการพัฒนาคน ในด้านทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร เพิ่มทักษะการเป็นผู้นำ เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ ฯลฯ เท่านั้น ในเวลาเดียวกันยังเป็นการเคลื่อนความรับผิดชอบให้ผสานอยู่ในทุกจุดของการ ดำเนินธุรกิจ

กระตุกต่อม "ทำดี" ด้วยประสบการณ์

ใน ฐานะที่รับผิดชอบงานด้าน CSR ควบคู่กับงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ "สุภา โภคาชัยพัฒน์" กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต กล่าวว่า "อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะให้พนักงานในองค์กร 100% เข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ขอเพียง 10% ที่เรียนรู้จากสิ่งที่บริษัทพยายามส่งเสริมและนำไปต่อยอดด้วยตัวเอง เพียงเท่านั้นก็เกิดประโยชน์มากแล้ว"

และจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นในการที่ "พนักงาน" จะมีโอกาสได้สัมผัส "ประสบการณ์" ในการช่วยเหลือสังคม ฉะนั้นนอกเหนือจากประเด็นหลักของกลยุทธ์ CSR ผ่านการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมเพื่อสังคมหลักๆ อย่าง โครงการ กรมธรรม์คุ้มครอง

ครอบครัวไทย พาน้องเที่ยวบางกอก การประกวดแอนิเมชั่น ฯลฯ โครงการทำดีเดือนเกิด ที่มุ่งที่จะกระตุกและกระตุ้นให้พนักงานได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคมจึงเกิด ขึ้น

"โครงการนี้พนักงานที่เกิดในเดือนนั้นจะเป็นคนเสนอมาว่าเขาอยาก จะไปทำอะไร ซึ่งแม้เราจะพยายามให้โครงการ CSR ที่ทำให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโครงการ แต่ในโครงการนี้เราเปิดกว้าง ให้พนักงานได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ เช่น พาคนชราไปเที่ยว ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ เพราะเชื่อว่าถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ จะเป็นการปลูกฝังความรู้สึกดีๆ จากการได้ทำอะไรให้คนอื่น"

เป็นการหา แนวร่วมในการขับเคลื่อน CSR ที่ "เอเอซีพี" เชื่อว่าจะยั่งยืนกว่าการจำกัดวงการขับเคลื่อนอยู่ที่พนักงานไม่กี่คน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในเวลาเดียวกันผลของการดำเนินโครงการยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอัตราการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของพนักงานที่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 80% จากจำนวนพนักงาน 820 คน ซึ่งร่วมถึงความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กรที่เพิ่มขึ้น

CSR จุดที่พอดีมัดใจพนักงาน

" ความผูกพันที่เกิดขึ้นจาก CSR อาจจะไม่เวิร์กในบางสังคม บางสังคมอาจจะขอแค่ให้เงินเดือนมากๆ สวัสดิการดีๆ เขาก็รู้สึกดีแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ลงล็อกกับสังคมไทย ถ้าดูนิสัยใจคอคนไทยที่โอบอ้อมอารีเป็นทุน บางทีเขาอยากทำดีแต่ไม่มีคนจัดให้ พอได้ทำจึงนำมาสู่ความรู้สึกนี้" สุภากล่าว

แม้จะมีความต่าง แต่ทั้ง 2 องค์กรมีความเหมือนที่ทับซ้อนอย่างมีนัยสำคัญ ที่เริ่มต้นกระบวนการสร้างให้เกิด "ส่วนร่วม" ตลอดกระบวนการ

อย่าง ที่ "อนันตชัย" แนะนำว่า "การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่อยู่ๆ จะให้เขาไปเป็นอาสาสมัคร แต่ต้องรวมไปถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในด้านการรับรู้ ตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในการลงมือทำควบคู่ไปด้วยกัน"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01241151&day=2008-11-24&sectionid=0221


เก่าที่ไหน แต่ใหม่ที่เรา


หาก ยังจำกันได้เมื่อปีที่ผ่านมา มีแคมเปญหนึ่งของผลิตภัณฑ์กีฬาอย่าง "อาดิดาส" ในไทย ที่ใช้ชื่อว่า "รองเท้าเก่าของคุณ...ชีวิตใหม่ของเขา" โดยให้ผู้ซื้อสามารถบริจาครองเท้าเก่าที่ยังใช้งานได้ดี เพื่อแลกกับส่วนลดในการซื้อสินค้า ที่เป็นวิน-วิน-วิน ของทั้งอาดิดาสที่ช่วยในการกระตุ้น ยอดขาย ผู้ซื้อที่ได้รองเท้าใหม่ในราคาที่ ลดลง ในขณะที่ได้รู้สึกดีกับการช่วยสังคม และผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่จะได้รับรองเท้าเก่าเหล่านั้น

จะว่าไป ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบ "การให้" ที่ "ฟิลลิป คอตเลอร์" กูรูด้านการตลาด เคยจัดไว้เป็นรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมที่เรียกว่า cause related marketing แปลเป็นไทยว่า การตลาดเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางสังคม หรือเป็นการมีส่วนช่วยสนองต่อประเด็นสังคมโดยอาศัยยอดขาย ข้อเสนอนี้จะใช้ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งสำหรับสินค้าบางตัวและต่อการกุศลเฉพาะ อย่าง เช่น การแบ่งส่วนแบ่งจากการขายไปช่วยเหลือสังคม การเปิดโอกาสให้นำแต้มที่สะสมไปเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือสังคม หรือโครงการในเช่นเดียวกับ "อาดิดาส" แม้ว่าในสายตาของใครหลายคนอาจจะมองเป็นลบ เนื่องจากเป็นกิจกรรมการตลาดที่มีนัยสำคัญซึ่งผูกพันกับยอดขาย แต่หากมองว่านี่เป็นการสร้างคุณค่า (value) ของทั้งธุรกิจและสังคม นี่อาจจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับองค์กร

และไม่ว่าใครจะ มองแบบใด แคมเปญนี้เป็นหนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของโครงการ จึงกลายมาเป็นแคมเปญ "One Shoes, Old Shirt" ที่นอกจากจะรับแลกรองเท้าเก่าแล้ว ยังขยายมารับบริจาคเสื้อผ้าเก่าเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของอาดิดาสได้ในราคาพิเศษ น่าสนใจว่าเพียงเวลาเดือนกว่าๆ ของแคมเปญ (28 สิงหาคม-8 ตุลาคม 2551) มีผู้นำเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬากว่า 15,000 ชิ้นมาบริจาคเพื่อแลกซื้อสินค้า โดยเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารอาดิดาสได้ไปส่งมอบของบริจาคทั้งหมดให้กับมูลนิธิพระดาบส เพื่อแจกจ่ายไปยัง ผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ที่ไม่ว่าจะ อย่างไร นี่เป็นการสร้างโอกาสทางการกีฬาให้กับเด็ก เพราะรองเท้าคู่เก่าในสายตาคุณ แต่สำหรับเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสแล้ว ของเหล่านั้น "ใหม่สำหรับพวกเขาเสมอ"

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr05171151&day=2008-11-17&sectionid=0221

ถอดรหัส "การให้"

ถอดรหัส "การให้" แอมเวย์ ปั้น "เครือข่ายทำดี" เมื่อ 1+1 = 11


แม้ จะยังมีข้อถกเถียงมากมายในเรื่อง "การให้" ผ่านแนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ว่า "การให้" รูปแบบใดถึงจะถูกต้องและเพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นความรับผิดชอบต่อ สังคมอย่างแท้จริง

แต่น่าสนใจว่า หากละประเด็นความรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ มาพูดถึงในมิติของโครงการช่วยเหลือสังคมและกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกเพียง อย่างเดียว น่าสนใจว่าในปัจจุบันหลายองค์กรเลือกที่จะใช้วิธี การให้ โดยผ่านมูลนิธิที่บริษัทก่อตั้งขึ้น

"แอมเวย์" บิ๊กเนมในธุรกิจขายตรงก็เช่นเดียวกัน แม้จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งมูลนิธิจะเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทยขาดสภาพคล่อง กระทรวงการคลังได้ทำพันธบัตรกู้ชาติโดยขอให้ผู้ที่มีกำลังซื้อในเวลานั้น ซื้อเป็นเงินตราต่างประเทศ และ แอมเวย์ก็เป็น 1 ใน 3 บริษัทต่างชาติที่ร่วมซื้อ เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อครบ 5 ปี บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาขอเงินต้นคืน แต่ผลประโยชน์ที่มีจากดอกเบี้ยและส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหลือ กว่า 10 ล้านบาท

"เราคิดว่าเงินส่วนนี้ไม่ควรจะเป็นของบริษัท จึงกลายมาเป็นเงินก้นถุงในการ ก่อตั้งมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เพื่อช่วยผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล" "ปรีชา ประกอบกิจ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง "มูลนิธิ" ซึ่งเป็นส่วนเสริมเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของบริษัท "ที่ต้องการจะช่วยให้ผู้คนมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"

แม้ใน มุมมองของเขาจะมองว่า "CSR ไม่ใช่แค่เรื่องการให้ การบริจาค ทำบุญให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น" โดยขยายความว่า ความรับผิดชอบคือส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ เช่น ความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ (product responsibility) ของบริษัทที่ชื่อ LOC ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ที่มีสูตรซึ่งได้รับการคิดค้นให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ใช้แล้วสามารถย่อยสลายได้ทันทีโดยไม่ปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ฯลฯ

แต่ ในเวลาเดียวกัน หากมองรูปแบบของ "การให้" ที่ยั่งยืน เขาเชื่อว่ารูปแบบของการทำเพื่อสังคมผ่านมูลนิธินั้น เป็นเหมือนการตอบโจทย์การให้ที่เดินมาถูกทาง โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมโดยใช้ จุดแข็งในธุรกิจ เครือข่าย

" ธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก นักธุรกิจแอมเวย์ก็มีมากมาย เราจึงพยายามให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม มีการระดมทุนจากนักธุรกิจแอมเวย์ เชิญชวนให้เขาบริจาคโบนัส หรือเป็นอาสาสมัครเมื่อ มูลนิธิจัดกิจกรรม ซึ่งกำลังค่อยๆ ขยายวงออกไป"

โดยโครงการเพื่อสังคมที่ผ่านมา "บริษัท" จะส่งเงินสมทบร่วมกับ "มูลนิธิ" ในสัดส่วนครั้งต่อครึ่ง โดยไม่ได้มีการกำหนดงบประมาณที่แน่นอน หรือแบ่งจากสัดส่วนของกำไร หากแต่จะดูที่เนื้องานของกิจกรรมในแต่ละปีเป็นหลัก

หัวใจสำคัญยังไม่ ได้อยู่ที่การบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่ "แอมเวย์" เลือกที่จะใช้จุดแข็งและความถนัดของธุรกิจเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในการ บริหารจัดการ และการตลาดมาเป็นส่วนสำคัญในการ ขับเคลื่อน

ภาพชัดยิ่ง ขึ้นหากหยิบโครงการ "One by One : เปิดโลกกว้างทางปัญญา" ที่มีแนวคิดจะพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทางปัญญา ด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเพิ่งจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ขึ้นที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในมหกรรมหนังสือเพื่อน้องในการระดมหนังสือจากผู้ที่มีจิตศรัทธา เพื่อนำหนังสือไปร่วมสร้างและพัฒนาห้องสมุดแอมเวย์ ในเบื้องต้น 10 โรงเรียน ที่เชื่อว่าจะสามารถเปิดโลกทัศน์เด็กได้ 3,000 คน เป็นอย่างน้อย

ว่า "แอมเวย์" ใช้ความสามารถหลักมาตอบการทำงานเพื่อสังคมอย่างไร !!

" ปรีชา" อธิบายว่า "การสร้าง One by One ก็ถือเป็นการสร้างแบรนด์อย่างหนึ่ง เพราะหมายถึง เรามีการช่วยกันทำเพื่อสังคมให้เห็นผล โดยทำทีละคน ทีละคน แต่เมื่อรวมกันแล้วมันคือการสร้างเครือข่ายของการทำความดี เปรียบไปก็เหมือนกับวิธีที่เราใช้สร้างเครือข่ายนักขาย เราไม่ได้หวังจะช่วยคนจำนวนมากๆ เพราะบริษัทไม่มีกำลังและความสามารถพอ แต่ถ้าเราใช้วิธีสะสมกำลังทรัพย์จากผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ คนละเล็กคนละน้อย ในที่สุดก็จะสามารถสร้างผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นได้มหาศาล"

"เรา กำลังพยายามจะแสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันมีพลังมาก นอกจากการสร้างให้เกิดส่วนร่วมกับคนในสังคมในการสร้างเครือข่ายความดี ในเวลาเดียวกันยังพยายามที่ทำงานกับมูลนิธิต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น"

ความร่วมมือที่ว่ายังรวมไปถึง กระบวน การในการ "สร้างและพัฒนาห้องสมุด แอมเวย์" ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย โดยดึงพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องเด็กด้อยโอกาส อย่างมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. ในประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และมูลนิธิกระจกเงา ในการค้นหาโรงเรียนที่ขาดแคลนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยจะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องไปจนจบโครงการในปี 2553

"เราเชื่อ ว่าการมีความร่วมมือกับส่วนต่างๆ เป็นความพยายามที่จะใช้เงินในการให้เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับสังคมมาก ที่สุด การทำงานครั้งนี้เปรียบไปก็เหมือนกับ 1+1 ที่ไม่ได้เท่ากับ 2 อีกต่อไป แต่ 1+1 เท่ากับ 11" ประธานมูลนิธิ แอมเวย์เพื่อสังคมไทยกล่าวในที่สุด

จะเห็นว่าในการทำงาน ที่แม้จะมี "อีเวนต์" ที่มีสีสันเป็นฉากเบื้องหน้า แต่ทุกครั้งเมื่อย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า โครงการที่จะยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีรากวิธีคิดอยู่เบื้องหลังเสมอ !!

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr04171151&day=2008-11-17&sectionid=0221

CSR กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ


พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า
ณ วันนี้ ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผล ทั่วโลก การลดลงของมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ด้านเกษตร สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิชาการ นักการเงิน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ต่างพูดว่าพายุทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจถดถอย กำลังจะเข้า จะแรงเท่า หรือแรงกว่า คลื่นสึนามิ หรือสตอร์มเซิร์จหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน

สถานการณ์นี้ทำให้ผมคิดถึงตอนวิกฤตการณ์เมื่อปี 2540 ที่ได้รับสมญาว่า วิกฤตการณ์ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งเริ่มจากประเทศไทยนี้เอง ผลกระทบของวิกฤตการณ์ครั้งนั้นรุนแรงมาก เราได้เห็นเจ้าของกิจการหลายคนที่เผชิญวิกฤตชีวิตต้องเปลี่ยนอาชีพ เริ่มต้นใหม่ในธุรกิจพื้นฐาน บางคนทนต่อความกดดันไม่ได้ ตัดสินใจทำลายชีวิตตัวเอง แต่ผลกระทบที่เรามองเห็นไม่ชัดนักแต่มีความรุนแรงไม่แพ้นักธุรกิจ คือผลต่อภาคประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

คำถามที่สำคัญคือ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจจะส่งผลอย่างไร ต่อความพยายามของบริษัทต่างๆ ในการทำให้เกิด CSR ?

ตรง นี้หากพิจารณาคำว่า CSR ที่ตรงกับชื่อเต็มภาษาอักฤษ ว่า corporate social responsibility หรือ "ความรับผิดชอบ" ต่อสังคม ต้องพิจารณาว่า ความรับผิดชอบนั้น มิได้หายไปในช่วงที่มีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และความรับผิดชอบนั้นอาจจะ ยิ่งสูงกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำไป

ความรับผิดชอบนั้นยังต้องคงมีอยู่ต่อ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคมโดยกว้าง

ซึ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจดี การตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholder กลุ่มต่างๆ อาศัยยุทธศาสตร์ และความสามาถของทั้งฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีความยากลำบากอะไร เพราะบริษัทมีรายได้สม่ำเสมอ มีผลกำไรที่พอเพียงต่อการให้ความสนใจในการพัฒนาคุณภาพภายใน และทำงานเพื่อสังคมภายนอก

แต่ในยามที่เกิดวิกฤตเศษฐกิจ ความสามารถด้านการเงินของบริษัทอาจจะลดลง ผลกระทบต้องทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่าย และตัดกิจกรรมพิเศษออกไป ดังนั้น CSR จะถูกตัดไปด้วยไหม

หากเราพิจารณาคำว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ตามคำพูดที่ใช้ "ความรับผิดชอบ" ไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ความรับผิดชอบย่อมจะต้องติดตัว มีอยู่ต่อทุกสถานการณ์ ความรับผิดชอบหลายอย่างจะเหมือนเดิมไม่ว่าจะมีวิกฤตการณ์อย่างไรก็ต้องรักษา ไว้ซึ่งความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคม

หากเรา ลดมาตรฐานคุณภาพสินค้า บริการ หรือ พยายามหาทางลัดต่างๆ ในการลดต้นทุน ในที่สุดผลการกระทำนั้น จะทำให้ธุรกิจเสื่อมโทรมและไปไม่รอด ดังนั้นมาตรฐานควรต้องรักษา หรือลดสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้าจริง

ประเด็นที่ควรพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่บริษัทยังสามารถช่วยเหลือสังคมภายนอก งานช่วยเหลือสังคมนั้นน่าจะทำในเรื่องอะไรบ้าง

ใน ด้านของการช่วยเหลือสังคมช่วงวิกฤต ระดับการช่วยเหลือสังคมของแต่ละบริษัทอาจจะลดลง แต่ไม่ควรหายไป ในทางกลับกันจำนวนบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือสังคมจำต้องมากขึ้น แสดงพลังความร่วมมือของภาคธรุกิจ ต่อความจำเป็นเพื่อช่วยกันฟื้นฟูสังคม หากสังคมเปราะบางจากผลวิกฤตการณ์ คนว่างงานจำนวนมาก ก็จะส่งผลต่อภาคธุรกิจให้ยิ่งทรุดหนักไปอีก

ในช่วงวิกฤตการณ์น่าจะ เป็นการเลือกประเด็นที่นำส่งผลรายได้ และพยุงสังคมรากหญ้า การช่วยเหลือสังคมในช่วงนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การ ส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มการจ้างงานในภาคชนบท การส่งเสริมเยาวชนที่กำลังจบการศึกษาท่ามกลางวิกฤตให้มีทางเลือกด้านอาชีพใน ท้องถิ่นตนเอง การทำงานส่งเสริมอาชีพอาจจะทำในรูปแบบการช่วยเหลือ หรือกองทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุนนี้บริษัทแต่ละบริษัทอาจจะไม่ต้องช่วยเหลือด้วยเงินใหญ่โตอะไรมาก นัก แต่หากหลายๆ บริษัทช่วยกันในทิศทางยุทธศาสตร์เดียวกัน ผลที่เกิดก็สามารถที่จะช่วยครอบครัวได้จำนวนมากมาย และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจพื้นฐานให้รักษาตัวเองได้

มูลนิธิรักษ์ไทย ยินดีให้คำปรึกษาหารือ แก่บริษัทที่มีความสนใจในเรื่องนี้
ที่ โทร.0-2265-6888 หรือ promboon@raksthai.org

ทีมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03171151&day=2008-11-17&sectionid=0221