วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ก้าวต่อ MQDC ฝันใกล้ (เป็น) จริง "บ้านพักคนชรา-เด็กกำพร้า"



อาจ จะดูเป็นเพียง "ความฝัน" บนกระดาษ สำหรับโครงการ "บ้านพักผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า" หรือ "บ้านสำหรับคนสองวัย" ที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผ่านการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม Innovation World,s CARE Award หรือ iCARE Award ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด โดยแผนธุรกิจ ดังกล่าวนอกจากจะต้องวางแนวคิดในการนำคนทั้งสองวัยมาอยู่ร่วมกันบนพื้นฐาน ชีวิตที่มีคุณภาพแล้ว ในเวลาเดียวกันต้องมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ที่จะทำให้องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นแม้จะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจะต้อง สามารถยืนอยู่ได้บนขาของตัวเอง เพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศ ก่อนที่แผนธุรกิจ ดังกล่าวจะถูกปลุกปั้นจากกระดาษสู่การดำเนินการจริง ในราวต้นปี 2552 ที่จะถึง

ที่ว่าเป็น "ความฝัน" เพราะหากโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง นี่จะเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งเป็นบ้านพักที่นำคนสองวัยคือผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง มาอยู่ร่วมกันและน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในไทยที่แนวคิด "ผู้ประกอบการทางสังคม" (social entrepreneur) องค์กรทางสังคมที่สามารถหารายได้จากการทำธุรกิจเพื่อดูแลตัวเองได้จะก่อตัว เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งยังเป็นโครงการเพื่อสังคมในเชิงรุก เพื่อ เตรียมรองรับปัญหาผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

ตะลุยญี่ปุ่น ค้นหา "ต้นแบบ"

" ตั้งแต่เราทำโครงการแม้เราจะมั่นใจว่าแนวคิดนี้เดินมาถูกต้องจากการศึกษาและ วิจัย ในการที่จะเติมเต็มช่องว่างความรักของคนสองวัยนี้เข้าด้วยกัน แต่เท่าที่เราไปคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุในไทยตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา หลายคนบอกกับเราว่าเขาพยายามทำแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะเป็นการนำคนที่ขาด ซึ่งต้องการผู้ดูแลมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน" วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกเล่าให้ฟังถึงโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทที่ได้ริเริ่มขึ้นมานับตั้งแต่ต้นปี

"แต่พอมาที่ญี่ปุ่นและ เห็นต้นแบบซึ่งใกล้เคียงกับโมเดลของเราที่สุด ในการนำเด็กและผู้สูงอายุมาอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ทำให้เราเริ่มเห็นว่าในความเป็นจริงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้นมีความเป็น ไปได้" เขากล่าวระหว่างนำคณะทีมผู้เข้าประกวดรอบสุดท้ายจำนวน 8 ทีมกว่า 50 ชีวิตไปดูงานบ้านพักคนชราที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เมื่อเร็วๆ นี้

ซึ่งมีความใกล้เคียง "ฝัน" ของ MQDC มากที่สุดในโลก เท่าที่สามารถสืบค้นได้

" โคโตเอ็น" (KOTOEN) บ้านพักคนชราที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือต้นแบบของบ้านพักคนชราและเด็กที่ว่านั่นแหละ ที่นี่ยังเป็นบ้านพักคนชราแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้คนสองวัยมาอยู่ ร่วมกัน

ลดกำแพง เติมเต็ม "คนสองวัย"

ในอาคารเดียวกัน มีตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุที่อายุมากที่สุด 107 ปีมาอยู่ร่วมกัน มีทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล และผู้สูงอายุที่มาเป็นครั้งคราว โดยมาเข้าร่วมกิจกรรม ขณะที่เด็กทั้งหมดไปเช้าเย็นกลับ ระหว่างการอยู่ร่วมกันจะมีกิจกรรมที่ทั้งเด็กและผู้สูงอายุได้ใช้เวลาร่วม กัน ตั้งแต่การออกกำลังกายในตอนเช้า การที่ผู้สูง อายุมาดูแลเด็ก เด็กๆ มาเยี่ยมผู้สูงอายุ จนกระทั่งกิจกรรมที่ทำร่วมกันในวันเสาร์ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กๆ จะมาเป็นอาสาสมัครและใช้เวลาร่วมกัน โดยนอกจาก พนักงานประจำที่มาดูแลเด็กและคนชราแล้ว ยังมีอาสาสมัครทั้งชาวต่างชาติ ประชาชนทั่วไปและเด็กโตที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาทำงานดูแลทั้งเด็กและคนชรา

ผู้ ดูแลบ้านพักเล่าถึงที่มาที่แนวคิดนี้ว่า "แรกทีเดียว บ้านพักคนชราแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ก่อนจะปรับรูปแบบเมื่อหลายปีก่อนในการนำคนสองวัยมาอยู่ร่วมกัน แต่เราเห็นปัญหาว่าตอนนี้ครอบครัวส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้อยู่กับคุณตาคุณยาย ฉะนั้นจะเกิดกำแพงระหว่างวัยซึ่งเราพยายามที่จะลดกำแพงเหล่านี้ เราอยากให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในโลกเป็นอย่างนี้ เราอยากให้เขาสามารถวิ่งเข้าไปกอดคนพิการ คนสูงอายุได้โดยสนิทใจ และเราก็พยายามอธิบายวิธีคิดนี้ให้ผู้ปกครองเด็กฟัง พ่อแม่ของเด็กๆ ที่หยุดทำงานในวันเสาร์ก็จะมาช่วยเป็นอาสาสมัคร"

"เรายังเชื่อด้วย ว่าการที่เด็กและคนชราได้มีโอกาสสัมผัสกัน จะทำให้เด็กโตขึ้นไปแล้วมีจิตใจที่ดี ในทางกลับกันการที่เด็ก อยู่ในอาคารนี้จะทำให้อาคารมีชีวิตชีวา สีสันมากขึ้น คนสูงอายุยังรู้สึกว่าตัวเอง มีคุณค่ามากขึ้นด้วย เมื่อเขาได้มีโอกาส ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้า อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง"

โอกาสบนปัจจัยที่ต่างกัน

แม้ จะมีความใกล้เคียงที่สุด แต่สำหรับบ้านพักคนชราและเด็กที่ "โคโตเอ็น" และ "บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า" ของ MQDC นั้นก็ยังมีความแตกต่าง

ความ แตกต่างประการแรก เด็กที่มาอยู่ที่ "โคโตเอ็น" เป็นเด็กที่มีครอบครัวดูแล และมาแบบเช้าไปเย็นกลับ ขณะที่ตามแผนของ MQDC เด็กที่จะมาอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุจะต้องเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งถือเป็นพันธกิจข้อหนึ่งของกลุ่มบริษัทดีที ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC ที่นอกเหนือจากเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้อง "สามารถช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำงานช่วยเหลือเด็กกำพร้าผ่านมูลนิธิพุทธรักษาที่ก่อ ตั้งขึ้น

ความแตกต่างอีกประการ ในขณะที่ "โคโตเอ็น" มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐและ ผู้สูงอายุที่จะเข้าไปพักอาศัย แต่ "บ้านพักสำหรับคนสองวัย" ที่ MQDC หวังจะให้เกิดจะต้องไม่มีการเก็บ

ค่า ใช้จ่าย ทั้งยังต้องดูแลผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นนี้จะต้องสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดย MQDC จะสนับสนุนงบประมาณเรื่องจัดหาที่ดิน ลงทุนก่อสร้างอาคารกว่า 15 ล้านบาท รวมไปถึง งบประมาณในการบริหารจัดการในช่วง 3 ปีแรกอีกราว 5 ล้านบาท

ฉะนั้นนี่คือ "ความยาก" ของปั้นฝันให้เป็นจริง ของโครงการ "บ้านพักคนชราและเด็กกำพร้า" แห่งแรกที่จะเกิดขึ้นในไทย !!

" พงศ์" ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ "ทีบีดับบลิวเอ" จากทีม "บ้านบุญธรรม" หนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายประเภทประชาชนทั่วไป บอกว่า "ผมว่าภาพที่เราเห็นเด็กๆ วิ่งมากอดผู้สูงอายุ ถึงแม้เราจะฟังภาษาเขาไม่ออก แต่ผมว่าเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ มันเป็นภาษาสากล ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบจัดการที่ดี แต่ความยากของเราอยู่ที่ว่าเราไม่ได้มีรัฐมาสนับสนุนเหมือนเขา และเราต้องทำบ้านสำหรับคนที่ขาด ดูอย่างการประกวดนี่ก็เป็นการริเริ่มของเอกชน ผมว่าเราคงคาดหวังอะไรจากภาครัฐไม่ได้ นอกจากคาดหวังกับพวกเราด้วยกันเองที่มีความชำนาญบางด้านที่สามารถมาช่วย สังคมได้"

สำหรับตัวเขา ในฐานะนักโฆษณา แผนธุรกิจเพื่อสังคมของทีม "บ้านบุญธรรม" จึงมองความเป็นไปได้ที่บ้านพักคนสองวัย จะสามารถสร้างรายได้จากการ "สร้างแบรนด์" ในขณะที่ทีมอื่นๆ ทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและนักศึกษาต่างก็มีไอเดีย ที่แตกต่างกันไป อาทิ แผนธุรกิจสร้างรายได้จากการเป็น ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุและเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แผนธุรกิจสร้างรายได้จากเกษตรกรรม และการบริหารเงิน แผนธุรกิจที่สร้างโรงแรมสำหรับผู้สูงอายุและดูแลสุขภาพแบบครบวงจร การสร้างร้านอาหารสำหรับคนชรา เป็นต้น

ส่วน "ฝัน" จะเป็นจริงได้แค่ไหน ถึงเวลานี้เพียงแค่นับถอยหลัง และต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01290951&day=2008-09-29&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: