วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

CSR จำเป็นถ้าเราจะยกระดับผลผลิตท้องถิ่น

ดร.พรชัย ศรีประไพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส อิมพีเรียลเวิลด์ และ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่าบ่อยๆ ครั้งที่ผมได้ร่วมออกเดินทางไปต่างจังหวัดกับมูลนิธิรักษ์ไทย หรือกับโครงการอื่นๆ เพื่อไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และผลงานระดับหมู่บ้าน ผมมักจะคิดถึงรูปแบบของการพัฒนางาน OTOP ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (THAILAND STAND-UP, สำนักพิมพ์ BRAND AGE BOOKS กรุงเทพฯ 10400) เคยทำเป็น chart เอาไว้ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ OTOP นั้นแบ่งเป็น 5 generation ดังนี้

generation ที่ 1 ชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างโดดเดี่ยว

generation ที่ 2 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐเข้ามาช่วย

ทั้ง 2 generation นี้ เป็นรูปแบบของการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่เราเห็นได้ทั่วไป จากการพัฒนาขั้นพื้นฐานดังกล่าวจะถูกก้าวไปสู่การพัฒนาขั้นก้าวหน้า (advance) ใน generation ที่ 3 และ 4 ดังนี้

generation ที่ 3 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วย

generation ที่ 4 ชาวบ้านมีองค์กรของรัฐ ภาคเอกชนและปัญญาชน เข้ามามีส่วนร่วมและท้ายสุดก็จะเป็นรูปแบบที่ถาวรใน generation ที่ 5

generation ที่ 5 ชาวบ้าน ภาคเอกชน และปัญญาชนร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีภาครัฐถอยออกไป

จาก ประสบการณ์ที่ผ่านมาผมมักจะได้เห็นความพยายามของชาวบ้านและผลผลิตที่ได้ยัง วนเวียนอยู่ในระดับ generation ที่ 1 และ 2 เท่านั้น ที่ประสบผลสำเร็จคือกลุ่มผลิตที่สามารถสร้างตัวเองออกมาให้กลายเป็นระดับ อุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มใหญ่ทั้งหมด

ศูนย์ กลางของความร่วมมือระหว่างรัฐกับชาวบ้าน หรือ NGO กับชาวบ้านจะอยู่ที่การสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมสร้าง ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วรัฐหรือ NGO ก็จะเข้าไปส่งเสริมทางด้านต่างๆ ดังนี้

1) จัดการให้เกิดมีการรวมกลุ่มกันขึ้นอย่างมีระบบและมีวิธีการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมเดิม

2) จัดหาทุนมาเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะด้านการลงทุนเริ่มแรก ตั้งแต่เรื่องเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่ใช้วัตถุดิบ โรงงาน ทุนหมุนเวียนต่างๆ

3) ส่งเสริมระบบการตลาดเบื้องต้น โดยการหาผู้ซื้อ หาตลาดให้ แนะนำช่องทาง

การตลาดใหม่ๆ การตั้งราคา การวางระบบบัญชี และระบบบริหารจัดการ เบื้องต้น

4) สนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะมาช่วยให้โครงการดำเนินไปได้โดยปราศจากอุปสรรค เช่น ส่งเสริมศูนย์ดูแลเด็ก สำหรับผู้ทำงาน ศูนย์สุขภาพอนามัย ส่งเสริมด้านการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการหารายได้เพิ่มจากกิจกรรมอื่นๆ ฯลฯ

อันที่จริงแล้วงานทั้ง หมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีและจำเป็นที่ ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนในระดับที่ทำให้พวกเขาเริ่มวิถีชีวิตใหม่ได้ ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีการดูแลคุณภาพของชีวิตที่ดีพอสมควร เศรษฐกิจของชุมชนก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่ง

สิ่งที่มักจะตาม มาก็คือ ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นมักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ หรือคล้ายของเดิม ขาดดีไซน์หรือรูปแบบใหม่ๆ ขาดการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ทำให้หาตลาดใหม่ยากขึ้น ขณะที่ตลาดเดิมก็จะเต็มไปด้วยคู่แข่งขันที่สร้างผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กันออกมา

โครงการ เหล่านี้มักจะหยุดการเติบโต และถ้าโชคไม่ดีก็อาจจะหมดแรง หมดการสนับสนุนไปเองในที่สุด แนวทางอย่างที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เสนอมาจึงเป็นทางออกที่ดีที่จะผลักดันให้การพัฒนาการผลิตก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

นั่น ก็คือการเข้ามาของเอกชนที่จะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการเหล่า นี้ แต่ก็ต้องไม่ใช่เข้ามาแบบฉาบฉวย แบบให้เงินบริจาคหรือแบบให้คำปรึกษาอยู่รอบนอกแต่จะต้องเข้ามาแบบ CSR (corporate social responsibity) ที่องค์กรอุทิศตนเองกับกลุ่มชุมชน มีเป้าหมายชัดเจนที่จะช่วยผลักดันโครงการของชุมชนไปสู่ generation ที่ 3, 4, 5 ตามลำดับ

โดยชูธงด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่องค์กรมี มาร่วมสร้างโครงการกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการสร้างหรือหา segment ของลูกค้าที่เหมาะสม การสร้าง brand ให้กับสินค้า สร้างภาพลักษณ์ให้กับชุมชน วางระบบการจัดการให้กับการผลิตและการจัดจำหน่าย

องค์กร เอกชนเองจะต้องมาช่วยวางกลยุทธ์แบบ win-win เพื่อสรรหาพันธมิตรที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรจากปัญญาชน (มหาวิทยาลัย) พันธมิตรทางด้านวัตถุดิบ ด้านการกระจายสินค้า ด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชุมชน

แนว คิดแบบ win-win และการสร้างพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกวันนี้ชุมชนขาดทักษะในการเจรจาต่อรอง เมื่อทำธุรกิจกับใครก็มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดราคา ชุมชนกลายเป็นแหล่งผลิตที่ดี ราคาถูก กลายเป็นแหล่ง outsources ที่อุตสาหกรรมใหญ่เริ่มเข้ามามองหาฐานการผลิตที่ชุมชน รัฐ หรือองค์กร NGO สร้างเอาไว้กลายเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมไป

ผลสุดท้ายชุมชนจะได้รับ ผลประโยชน์น้อยที่สุดจากแรงและความพยายามที่ได้ทำไป มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ย แต่ก็ต้องทำต่อไปเพราะได้ลงทุนไปแล้วระดับหนึ่ง

การที่จะพัฒนาหรือเติบโตไปอย่างยั่งยืนมักจะไม่เกิดขึ้น

เว้นเสียแต่องค์กรเอกชนจะเข้ามาทำ CSR อย่างจริงจัง

เรื่องเหล่านี้ผมมีตัวอย่างอยู่พอประมาณและคงจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อๆ ไปอีก

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr03220951&day=2008-09-22&sectionid=0221


ไม่มีความคิดเห็น: