วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การปรับตัวของ "ฮาบิแทต"



แม้ "มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย" หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "ฮาบิแทต" (Habitat) องค์กรภาคสังคมที่ทำงานโดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนไร้ที่อยู่อาศัยนั้น เป็นองค์กรภาคสังคมชั้นนำในระดับโลก ที่เข้ามาทำงานอยู่ในไทยมากว่า 10 ปี แต่ชื่อชั้นของ "ฮาบิแทต" กลับเพิ่งเป็นที่รู้จักในไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเริ่มปรากฏให้เห็นผ่านสื่อมากขึ้น

รวมไปถึงการแต่ง ตั้ง "ฟิล์ม" รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ศิลปินค่าย "อาร์เอส" เป็นทูตของมูลนิธิ และล่าสุด "ฮาบิแทต" ในไทยเตรียมจะประกาศจัด "เวิร์ล อีเวนต์" ซึ่งเป็นงานอาสาสมัครเพื่อสังคมครั้งสำคัญที่จะระดมอาสาสมัครจากทั่วโลกกว่า 2,000 คนมาสร้างบ้านให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและมีปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินกว่า 82 หลังที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการที่ชื่อ "จิมมี่ และโรสลีน คาร์เตอร์ สร้างบ้าน ครั้งที่ 26" ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2552 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "จิมมี่ คาร์เตอร์" และภริยาจะเดินทางมาเป็นอาสาสมัครในการสร้างบ้านด้วยตัวเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์

"โครงการที่เราจะทำในปี 2552 นั้นไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่แค่การสร้าง 82 หลัง แต่เราเชื่อว่าการมาสร้างบ้านของจิมมี่ คาร์เตอร์และเหล่าอาสาสมัครจากทั่วโลกนั้นจะเป็นแรงกระเพื่อมในการสร้างความ ตระหนักของปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยไปอีกหลาย 10 ปี โครงการนี้แม้จะต้องใช้งบประมาณมาก แต่เราก็ถือว่าคุ้มค่าและอยากเชิญชวนองค์กรธุรกิจที่ทำ CSR ให้เข้ามาร่วมโครงการ" ดร.ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย กล่าวถึงโครงการใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

ในฐานะองค์กรภาคสังคม ทุกขยับก้าวของ "ฮาบิแทต" วันนี้จึงน่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะมีสารพัดกลยุทธ์ ที่ส่งให้องค์กรกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในระยะเวลารวดเร็วเพียง 2-3 ปีให้หลัง แต่ยังสามารถเพิ่มการช่วยเหลือคนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยได้เพิ่มมากขึ้นจาก 100 ครัวเรือนต่อปีเป็น 1,000 ครัวเรือนต่อปี

และหลังจากนี้ไปอีก 3 ปีคาดว่าการสร้างบ้านให้คนไร้ที่อยู่อาศัยในไทยจะขยับขึ้นไปเป็น 5,000 หลัง ซึ่งเท่ากับจำนวนบ้านที่สร้างได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งมูลนิธิขึ้นในไทย

"ความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับฮาบิแทต เป็นเพราะเราเปลี่ยนเป้าหมายจากการทำเท่าที่เราทำได้ มาเป็นการทำในเชิงรุกมากขึ้น เพราะเรามองว่าความจำเป็นมีมากขึ้นและเขาไม่สามารถรอความช่วยเหลือได้ ถ้าเรายังให้การช่วยเหลือแบบเดิมคือทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งเราทำได้ปีละ 100 หลัง แต่มีคนที่รอความช่วยเหลือ 3 แสนครัวเรือน คนที่ได้การช่วยเหลือจากเราครอบครัวสุดท้ายที่จะได้บ้านคืออีก 3,000 ปีข้างหน้า ทำให้เราต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาพยายามทำให้เป็น 1,000-1,500 หลังต่อปี และเพราะความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจด้วยที่ทำให้มีงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มขึ้นด้วย"

ไม่ เท่านั้น ดร.ชัยณรงค์ยังเล่าว่า การ ปรับเปลี่ยนที่ผ่านมามีการปรับตั้งแต่ซีอีโอ โดยสรรหาคนที่จะสามารถทำโครงการใหญ่ๆ ได้ และมีการจัดระบบเรื่องการระดมทุนและเข้าหาองค์กรธุรกิจที่มี CSR อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีแผนกที่ดูแลอาสาสมัครให้เขารู้สึกประทับใจและกลับมาใหม่ เป็นต้น

แต่ หัวใจที่สำคัญ เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ "ฮาบิแทต" เป็นที่ดึงดูดสำหรับองค์กรธุรกิจที่ทำ CSR เป็นเพราะผู้บริจาครู้ว่าเงินที่บริจาคมาไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนจริง ในไทย ฮาบิแทตใช้บริษัทตรวจสอบบัญชีอันดับท็อป 4 ของประเทศมาตรวจสอบ และในอนาคตกำลังเตรียมที่จะให้องค์กรสามารถติดตามการใช้งบประมาณผ่านเว็บไซ ต์ มากกว่านั้นถือเป็นระเบียบของฮาบิแทตทั่วโลกที่จะกำหนดให้ใช้เงินในการ บริหารจัดการโครงการไม่เกิน 15% ขณะเดียวกันเงินบริจาคที่ได้มาไม่ได้ใช้แล้วหมดไป เนื่องจากการช่วยเหลือของฮาบิแทตต่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ได้เป็นการให้เปล่า

ดร.ชัยณรงค์ขยายความว่า "บ้านของเราไม่ได้เป็นการสร้างให้ฟรียกเว้นผู้ประสบภัยซึ่งไม่มีอะไรเหลือ กลุ่มที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือคือเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถกู้เงินได้ตามระบบ ปกติ แต่ก็ยังเป็นคนที่พอมีรายได้บ้าง แต่ก็ไม่มีเงินพอเป็นหลักประกันที่ธนาคารจะให้กู้ และมีที่พักที่อยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นบ้านได้ โดยเราจะกำหนดว่าเขาจะต้องจ่ายเงินคืนไม่เกิน 20% ของรายได้ และก่อนที่จะเข้าไปสร้างบ้านนั้นเราจะให้เขาทดลองออมเงินก่อนว่าจะสามารถทำ ได้มั้ย ระบบแบบนี้ทำให้เราแทบจะไม่มีหนี้เสียและสามารถนำเงินไปช่วยเหลือคนไร้ที่ อยู่อาศัยในพื้นที่อื่นอีก"

"เราไม่ใช่บริษัทสร้างบ้าน แต่ทำฝันของคนอยากมีบ้านให้เป็นจริง และถ้าทำให้คนมีสิ่งที่เรียกว่าบ้านได้ ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็จะไม่เกิด เราจึงไม่ได้แต่สร้างบ้าน แต่เรากำลังสร้างอนาคตและสร้างชีวิต" ดร.ชัยณรงค์กล่าวในที่สุด


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 คุลาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr02061051&day=2008-10-06&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: