วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ถางทางสร้าง "เอ็นจีโอ" พันธุ์ใหม่

ถางทางสร้าง "เอ็นจีโอ" พันธุ์ใหม่ ความเปลี่ยนไป...กลางกระแส CSR


ใน ขณะที่เส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยง "องค์กรพัฒนาเอกชน" หรือ "เอ็นจีโอ" ในไทยกำลังเหือดหาย เพราะเงินทุนจากต่างประเทศที่เคยเป็นรายได้หลักนั้นเปลี่ยนเป้าหมายปลายทาง ไปยังประเทศอื่น เส้นทางการดำรงอยู่ของ "เอ็นจีโอ" ไทยวันนี้กำลังยืนอยู่บนเส้นด้าย

ท่ามกลางกระแสความรับผิดชอบต่อ สังคมขององค์กร (CSR) ที่กำลังถาโถมใส่องค์กรธุรกิจ สารพัดโครงการเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นอาจจะดูเป็นจุดหมายปลายทางในการระดมทุน และแหล่งเงินทุนก้อนใหม่ของเอ็นจีโอ

แต่คำถามที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็คือ "เอ็นจีโอ" ไทยวันนี้มีความพร้อมหรือไม่ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ ว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้องค์กรธุรกิจจะมีงบประมาณที่ใส่ลงในโครงการเพื่อ สังคมมากขึ้นก็จริง แต่นิยาม "การให้" ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ "ธุรกิจ" ไม่น้อย มองข้ามการบริจาคแบบให้เปล่าไปสู่การทำโครงการเพื่อสังคมที่ซับซ้อนขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืน โครงการความร่วมมือระหว่างธุรกิจและเอ็นจีโอ จึงเดินมาถึงจุดที่เรียกร้องการทำงานเพื่อสังคมอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

ทางรอดของ "เอ็นจีโอ"

"ประสิทธิภาพในการ จัดการเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรมีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือไม่ใช่ธุรกิจ" สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานโครงการแบ่งปันเพื่อสังคม องค์กรกลางในการจับคู่ทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชนในการทำ งานเพื่อสังคม กล่าวไว้ตอนหนึ่งในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งโครงการ แบ่งปันร่วมกับไมโครซอฟท์และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีหลักสูตรการอบรมเพื่อนำเครื่องมือด้านการ บริหารจัดการองค์กรมาถ่ายทอดให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

เขา กล่าวด้วยว่า "ที่ผ่านมาการทำงานระหว่างเอ็นจีโอและภาคธุรกิจยังมีความช่วยเหลือระหว่าง กันไม่มากนัก เมื่อก่อนเรา มักจะได้ยินว่าเอ็นจีโอมักรับเงินจากองค์กรในต่างประเทศที่ส่งเข้ามาช่วย เหลือ แต่หลังจากที่เราประกาศว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ให้ไม่ใช่ผู้รับเงินตรง นั้นก็ถูกตัดไปเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นแทน เอ็นจีโอในไทยต้องดิ้นรนที่จะเลี้ยงตัวเอง มีคำถามจากเอ็นจีโอว่าแล้วเขาจะอยู่อย่างไร โดยต้องหาเงินด้วยและมีงานอะไรที่เอ็นจีโอสามารถทำได้บ้าง ผมเห็นว่าสิ่งที่เอ็นจีโอทำแบบไม่แสวงหากำไรดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของเงินที่เข้ามาต้องแสวงหาความร่วมมือ ประกอบกับกระแส CSR ที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์กรธุรกิจไม่ได้มีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวด ล้อม ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกันจะเกิดจุดที่สมดุลพอดี"

สร้างโอกาสจากกระแส CSR

ฉะนั้น "โอกาส" ที่ "เอ็นจีโอ" จะ สามารถคว้าได้ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจจึงต้องเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนตัวเอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติหรือฮาบิแทต (Habitat) องค์กรภาคสังคมระดับนานาชาติ ที่เข้ามาลงหลักปักฐานในไทยมากว่า 10 ปี ทำในการปรับตัว ยกระดับและสร้างที่ยืนและระดมทุนได้มากในระดับหลายเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีหลัง

ดร.ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ อธิบายว่า "เป็นเพราะการปรับตัวขององค์กรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสอดรับกับกระแสความตื่นตัวเรื่อง CSR ขององค์กรในไทย ซึ่งทำให้เราสามารถเพิ่มการช่วยเหลือจาก 100 ครัวเรือนต่อปี ขยับไปเป็น 1,000-1,500 ครัวเรือนต่อปี เราต้องเอาผู้บริจาคเป็นตัวตั้ง และทำในสิ่งที่เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมโดยไม่ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธ กิจในความเป็นเรา" (อ่านรายละเอียดเพิ่มในล้อมกรอบ)

ด้าน "สินี จักธรานนท์" ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ว่า "ที่ผ่านมาคนที่เข้ามาทำงานในองค์กรภาคสังคมส่วนใหญ่ทำด้วยใจรักและต้องการ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาในพื้นที่ มีประสบการณ์แต่ทักษะในการบริหารจัดการยังมีไม่มากหรือไม่มีเวลาไปพัฒนา"

และ มองว่าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสังคมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นจะสามารถนำ พาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยหลักสูตรที่อบรมจะมุ่งเน้นไปที่การใส่องค์ความรู้ด้านการจัดการสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุน วิธีการบริหารและดำเนินโครงการ การตลาด กฎหมาย ประชาสัมพันธ์ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งยังเป็นการยกระดับการทำงานของ "เอ็นจีโอ" ให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และมีเส้นทางอาชีพชัดเจนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

"หากเป็นเช่นนี้เราก็สามารถแสดงให้สังคมเห็นว่าผู้ประกอบการทางสังคมนั้นสามารถทำได้เป็นอาชีพเหมือนกับธุรกิจ"

ยกระดับภาคประชาสังคม

" ผู้ประกอบการทางสังคม" ที่ "สินี" กล่าวถึงนั้นเป็นแนวคิดซึ่งมูลนิธิ "อโชก้า" พยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการทางสังคมนั้นมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ธุรกิจคือเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น จะผิดกันก็ตรงที่ว่าในขณะที่

ผู้ประกอบการธุรกิจมุ่งนำเสนอแนวคิด ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการทางสังคมจะมุ่งนำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเป็นผู้ ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

หากสามารถนำวิธีคิดด้านการบริหารจัดการ สมัยใหม่มาใช้ ถึงวันหนึ่งไม่เพียงจะสามารถทำงานกับองค์กรธุรกิจได้อย่างราบรื่นขึ้น "คนทำงานทางสังคม" ก็อาจจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่เพียงต้องพึ่งพาเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว

ภาพ ของความตื่นตัวของ "ผู้คนในภาคประชาสังคม" ที่หลั่งไหลเข้ามาร่วมในหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมที่จัด ขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างเนืองแน่นกว่า 31 องค์กร 44 คน เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการฯ และทำให้อาจจำเป็นต้องเปิดคอร์สเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับนั้นเป็นเหมือน สัญญาณของ "เอ็นจีโอ" ไทยที่ตื่นตัวและเห็นความจำเป็นของความเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทสังคมใหม่

และ ในอนาคตหากสามารถยกระดับวิชาชีพคนทำงานภาคสังคม แนวโน้มของคนที่ก้าวเข้าสู่การเป็น "เอ็นจีโอ" มืออาชีพย่อมมีมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างที่ "เอื้อ แก้วเกตุ" ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเยาวชน YPDC กล่าวว่า "แนวโน้มปัจจุบันมีความชัดเจนว่าคนหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาสังคมมากขึ้น ในนิวยอร์กคนทำงานในสังคมเพิ่มขึ้นเพียง 5% แต่คนในที่ทำงานเอ็นจีโอที่ไม่แสวงหากำไรเพิ่มขึ้นถึง 25% โอกาสแบบนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นในอนาคต"


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 ตุลาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02csr01061051&day=2008-10-06&sectionid=0221

ไม่มีความคิดเห็น: